TECH

เทคโนโลยีทางการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ขับเคลื่อนสังคมด้วยข้อมูล

ในโลกยุคดิจิตอลที่เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการบูรณาการ จัดระเบียบ และนำ “ข้อมูล” มาใช้เพื่อการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ รวมไปถึงด้านการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดแถลงข่าวเปิดตัวระบบ “iSEE 2.0 นวัตกรรมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา” เครื่องมือสำคัญที่ทำให้การช่วยเหลือไปถึงเด็กๆ ที่ต้องการได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ตรงตามสภาพปัญหาอย่างแท้จริง

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กสศ.ได้วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information System for Equitable Education : iSEE) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (BIG Data) รายบุคคล ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสมากกว่า 4 ล้านคนโดยเชื่อมโยงข้อมูลเด็กและครอบครัวกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของ 6 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงงาน และกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงข้อมูลจากระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อช่วยให้ผู้ทำนโยบาย “มองเห็น” สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำได้ชัดเจน ตลอดจนเป็นเครื่องมือให้กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งที่มีภารกิจในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และหน่วยงาน หรือองค์กรที่ต้องการจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือเด็กๆ แบบเฉพาะเจาะจง วางแผนการมอบคืนให้กับสังคม หรือการสร้างแคมเปญต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“เป้าหมายหลักในการพัฒนาระบบ iSEE คือการเป็นระบบสารสนเทศที่เชื่อมโยงข้อมูลจากหลายภาคส่วนเข้าไว้ด้วยกัน (Connect) มีดีไซน์ที่ ‘เห็นภาพ’ เข้าถึงง่าย ใช้งานง่าย แชร์ต่อได้ (Visualize) ก่อให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการทำงานเพื่อการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพจากข้อมูลที่ลึก และกว้างครอบคลุม (Revolutionize) ขับเคลื่อนทรัพยากรและเครือข่ายในสังคม รวมถึงสร้างวาระแห่งชาติเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษา (Mobilize) รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนสังคมด้วยข้อมูล และความเข้าใจ (Intelligent)” ไกรยส กล่าว

พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ “ไอติม” ผู้ก่อตั้ง startdee เน็ตฟลิกซ์แห่งวงการการศึกษาไทย  กล่าวว่า สตาร์ทดีต้องขอบคุณ กสศ. เพราะ หลายเรื่องต้องตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลของ  กสศ. ซึ่งทั้งสตาร์ทดีและกสศ.และ มีเป้าหมายต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปัจจุบันเด็กไทยเจอความเหลื่อมล้ำสองตลบ ตลบที่หนึ่งเป็นคุณภาพการเรียนการสอนในแต่ละโรงเรียน ไม่เท่ากันระหว่างหัวเมืองกับชนบท และตลบที่สองคือ ช่องทางการเรียนนอกห้องเรียน ก็ถูกปิดกั้นด้วยวัฒนธรรมการเรียนพิเศษที่ราคาค่อนข้างสูง  สิ่งที่เล็งเห็นคือสัดส่วนเด็กไทยที่เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพจึงไม่สูงมาก

 

“การเข้าถึงข้อมูลขนาดใหญ่ใน iSEE ทำให้เราซึ่งเป็นเพียง start up เล็กๆ อย่างเราได้ประโยชน์อย่างมาก เพราะทำให้เราสามารถออกแบบเทคโนโลยีทางการศึกษาได้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของเรา ซึ่งก็คือตัวนักเรียนทั่วประเทศ และยังนำไปสู่การต่อยอด อย่างการช่วยคัดกรองเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว อย่างที่ผ่านมามีเอกชนที่ต้องการสนับสนุนเด็ก เราก็สามารถนำข้อมูลจาก iSEE มาใช้ค้นหาเด็กๆ เหล่านั้น และมอบความช่วยเหลือกลุ่มจำเป็นเร่งด่วนได้อย่างตรงจุด” พริษฐ์ กล่าว

ด้าน ฐปนีย์ เอียดศรีไชย กล่าวว่า จากประสบการณ์ทำงานข่าวที่ผ่านมาได้เจอปัญหาของเด็ก และโรงเรียนที่ยากจน จึงนำเสนอเรื่องราวต่างๆให้คนทั่วไปได้รับรู้  แต่พอมีคนมาถามว่า จะไปบริจาคให้เด็กยากจนที่ไหนได้บ้าง เราก็บอกได้ไม่หมด บอกได้แค่ที่ไปเจอ แต่พอมีฐานข้อมูล iSEE 2.0 ทำให้เราทราบว่า จริงๆแล้ว มีเด็กยากจน และต้องการความช่วยเหลืออีกเป็นจำนวนมาก และคนเหล่านั้น ต้องการให้ภาครัฐ หรือหน่วยงานต่างๆ เข้าไปให้การช่วยเหลือ

ดร.วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ระบบ iSEE 2.0 นอกจากจะบอกข้อมูลภาพรวมสถานการณ์การศึกษา ข้อมูลเด็กยากจน ยากจนพิเศษ และเด็กนอกระบบการศึกษาในรูปแบบที่เข้าถึงได้ง่าย ใช้ได้ง่ายเพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มบุคลากรทางการศึกษา ผู้วางนโยบาย สถาบันการศึกษา ไปจนถึงประชาชนทั่วไปและสื่อมวลชนแล้ว ยังพัฒนาให้สามารถสืบค้นข้อมูลลงในรายละเอียดได้ถึงระดับท้องถิ่นได้อย่างง่ายดาย ทำให้เห็นข้อมูลที่น่าสนใจมากมาย

“ระบบ iSEE แสดงให้เราเห็นว่ามีถึง 78 ตำบลทั่วประเทศไม่มีโรงเรียน มี 255 โรงเรียนทั่วประเทศไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ มีโรงเรียน 15 โรงเรียนไม่มีไฟใช้ ประเทศไทยเรามีเด็กนอกระบบถึง 673,014 คน โดยจังหวัดที่มีเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษามากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ ตาก กรุงเทพ และแม่ฮ่องสอน” ดร.วรลักษณ์ กล่าว

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้าถึงข้อมูลโดยลงทะเบียน และเข้าระบบ iSEE ได้ที่นี่

Related Posts

Send this to a friend