กระทรวงดีอี-ดีป้า เปิดทิศทาง SEED THAILAND ประกาศนโยบาย 4D ยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลไทย
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ร่วมเปิดทิศทางขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนดิจิทัลของประเทศในงาน SEED THAILAND: from seed to GROWTH พร้อมประกาศนโยบาย 4D กระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัลไทย เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี พร้อมด้วย ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ดีป้า และ ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ร่วมแถลงทิศทางขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนดิจิทัลของประเทศ ภายใต้แนวคิด SEED THAILAND: from seed to GROWTH เร่งเตรียมพร้อมเมล็ดพันธุ์คนรุ่นใหม่ให้พร้อมเติบโตเป็นกำลังคนดิจิทัลที่สำคัญของประเทศ ณ Gaysorn Urban Resort
นายประเสริฐ กล่าวว่า SEED THAILAND ทำหน้าที่เป็นเมล็ดพันธุ์ เพาะ และเตรียมคนรุ่นใหม่ใน 3 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ กลุ่มเยาวชน กลุ่มอาชีพอนาคต และผู้ประกอบการดิจิทัลรุ่นใหม่ ซึ่งล้วนเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ซึ่งกระทรวงดีอี โดย ดีป้า ดำเนินกิจกรรม DIGINEXT by SEED THAILAND รับฟังความคิดเห็นใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ นำประเด็นมาตกผลึกกับแผนงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลจนเกิดเป็นนโยบาย 4D ได้แก่
1.Digital Sandbox Hubs: การจัดตั้งศูนย์กลางดิจิทัลของแต่ละภูมิภาค
2.Digital Citizen: การดึงดูด Digital Talents จากทั่วโลก
3.Digital Opportunity Fund: การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมผู้ประกอบการและเทคโนโลยีดิจิทัล
4.Digital Career for the Future: การพัฒนาทักษะอาชีพแห่งอนาคต
“กระทรวงดีอี และ ดีป้า ได้ทราบข้อมูลเชิงลึก ความคิดเห็น รวมถึงความต้องการจากคนในพื้นที่จริง ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาและปรับปรุงนโยบายภาครัฐให้สามารถตอบโจทย์ของประชาชนและผู้ประกอบการอย่างตรงจุด อีกทั้งเป็นการยกระดับเศรษฐกิจไทย และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยหลังจากนี้ กระทรวงดีอี และ ดีป้า จะจัด Workshop และ Focus Group เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย 4D อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว
ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า SEED THAILAND ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2566 ตั้งแต่การเพิ่มทักษะดิจิทัลผ่านระบบออนไลน์และออฟไลน์ ต่อยอดมาถึงกิจกรรม DIGINEXT by SEED THAILAND เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่วงการจริง และได้รับประสบการณ์ตรงจากการร่วมหารือกับบุคลากรสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ
ดร.ชินาวุธ กล่าวว่า ดีป้าจัดทำแนวทางการพัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อให้ประชาชนไทยทุกคนมีโอกาสในการยกระดับทักษะสำคัญที่สอดคล้องกับโลกในยุคปัจจุบัน และตรงกับความต้องการแรงงานดิจิทัลในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมกลุ่มแรงงานให้มีทักษะที่จำเป็น มีทิศทางต่อยอดสู่การพัฒนาเป็นสินค้าหรือบริการดิจิทัลที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ยกระดับทักษะ 3 ประเภท ได้แก่
1.Digital Skill for All ทักษะดิจิทัลสำหรับทุกคน
2.Digital-Driven Career ทักษะดิจิทัลสำหรับอาชีพยุคใหม่
3.Digital Professional ทักษะดิจิทัลสำหรับอาชีพด้านดิจิทัล