TECH

กสทช. ร่วมทดลอง-ทดสอบ การรับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านโครงข่าย Starlink สนับสนุนการศึกษาและการแพทย์ทางไกล

กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกอบด้วย พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต นายต่อพงศ์ เสลานนท์ รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร และ รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ร่วมประชุม ทดลอง และทดสอบ การรับส่งสัญญาณผ่านโครงข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ Starlink เพื่อสนับสนุนภารกิจการศึกษาทางไกลและการแพทย์ทางไกล เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 67 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

การทดลอง และทดสอบดังกล่าว เป็นการถ่ายทอดสด (Live stream) การเรียนการสอน ณ พื้นที่ห่างไกล ต.ขุมยวม อ.ขุมยวม จ.แม่ฮ่องสอน ขณะที่นักเรียนกำลังรับฟังการบรรยายความรู้จากอาคาร SKP สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) ต.ศรีราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี การส่งสัญญาณโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมประเภทวงโคจรต่ำ (Low-Earth Orbit: LEO) เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการให้บริการในพื้นที่ห่างไกลหรือเป็นเกาะแก่ง ซึ่งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตภาคพื้นดินและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สาย 4G หรือ 5G ไปไม่ถึง

การทดลองทดสอบในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทดลอง ทดสอบ การรับส่งสัญญาณผ่านกลุ่มดาวเทียม Starlink เพื่อสนับสนุนภารกิจการค้นหาและช่วยเหลือ การศึกษา และการแพทย์สำหรับผู้ด้อยโอกาส เป็นความร่วมมือระหว่างสภากาชาดไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) และสำนักงาน กสทช. โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 1 เม.ย. – 27 ก.ย. 2567 ภายหลังจากได้รับอนุญาตผ่านมติที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 66

ปัจจุบันกลุ่มดาวเทียม Starlink ของ SpaceX มีดาวเทียมกว่า 6,000 ดวงอยู่ในวงโคจร มีระยะห่างจากโลก 550 กม. ใช้คลื่นสัญญาณ Ka และ Ku band ทั้งนี้ มีการให้บริการแล้วในทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป และออสเตรเลีย อีกทั้งให้บริการในประเทศญี่ปุ่น เคนย่า แซมเบีย และไนจีเรีย โดย Starlink มีแผนให้บริการในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ติมอร์-เลสเต และปาปัว นิวกินี ภายในปี 2567 และมีโครงการจะให้บริการในบรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา และลาว ในปี 2568

Related Posts

Send this to a friend