TECH

กสทช. เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นกรณีควบรวม ทรู-ดีแทค อีก 2 รอบกลุ่มนักวิชาการ และผู้บริโภค

กสทช. เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นกรณีควบรวม ทรู-ดีแทค อีก 2 รอบกลุ่มนักวิชาการ และผู้บริโภค หลังมีผลการศึกษาหลุด คาดค่าโทรศัพท์แพงขึ้นหลังการควบรวม

ภายหลังจากที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (โฟกัสกรุ๊ป) ต่อกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง ทรู แล ดีแทค ครั้งที่ 1 สำหรับกลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ไปแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา กสทช. มีแผนจะจัดโฟกัสกรุ๊ปอีก 2 ครั้งในกลุ่มนักวิชาการ ในอีก 2 สัปดาห์ และกลุ่มผู้บริโภครวมถึงประชาชนทั่วไป ในอีก 4 สัปดาห์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บอร์ด กสทช. ได้มีการประชุมเพื่อรับทราบผลของการจัดโฟกัสกรุ๊ปในวันที่ 10 พฤษภาคม โดยแหล่งข่าวเปิดเผยว่า ในการประชุมมีการนำผลการศึกษาที่จัดทำโดยที่ปรึกษาอิสระ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และฝ่ายวิชาการของ กสทช. เกี่ยวกับการควบรวมมากนำเสนอ โดยผลการศึกษา พบว่าหากมีการควบรวม ทำให้เหลือผู้เล่นรายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า 45% เพียง 2 รายในตลาด มีความเป็นไปได้ว่าจะทำให้ค่าใช้บริการในระยะยาวสูงขึ้น 20 – 30% เพราะผู้บริโภคไม่มีทางเลือกในการใช้งาน ทำให้การแข่งขันอย่างเสรีสิ้นสุดลงโดยปริยาย ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับผลการศึกษาจากที่ปรึกษาทางการเงินจากฝั่งของทรูและดีแทคเอง ก็ออกมาในทางเดียวกันว่าในช่วงแรกหลังการควบรวมจะมีการทำโปรโมชั่นจูงใจด้วยการลดราคา แต่ในระยะยาวค่าบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 10%

นอกจากนี้ แหล่งข่าวยังระบุอีกด้วยว่า หาก กสทช. อนุญาตให้เกิดการควบรวมขึ้น คาดว่า บอร์ด กสทช. เองก็ต้องออกมาตรการเยียวยาเพื่อกำหนดเป็นเงื่อนไขในการควบรวมธุรกิจ และอาจต้องกำหนดการควบคุมราคาค่าใช้บริการต่อไป

การจัดทำโฟกัสกรุ๊ปอีก 2 ครั้งทั้งในกลุ่มนักวิชาการ และผู้บริโภค (ประชาชนทั่วไป) จึงเป็นที่จับตามองถึงทิศทางอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้ปรากฎ ผลสำรวจภาคสนาม โพล ควบรวม ทรู ดีแทค กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศโดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,331 ตัวอย่าง (ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 5 – 13 มกราคม 2565) ที่พบว่ากว่า 83.9% คัดค้านการควบรวมกิจการทรู กับ ดีแทค มีเพียง 16.1% ที่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการ อ่านข่าว

และมีความเคลื่อนไหวจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายณภัทร วินิจฉัยกุล กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน คณะกรรม กสทช. หรือ ซูเปอร์บอร์ด กสทช. กรณียื่นคัดค้าน ซูเปอร์ดีลควบรวมค่ายมือถือ 2 ค่าย ย้ำ กสทช.ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และคำนึงถึงประโยชน์ประชาชนเป็นสำคัญ คลื่นความถี่เป็นสมบัติชาติ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย ชมคลิป

ส่วนการจัดทำโฟกัสกรุ๊ปในกลุ่มอุตสาหกรรม และคู่ค้าเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ก็มีเอกสารสรุปที่ระบุว่าส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการควบรวมมีเพียง เอไอเอส และ NT ที่คัดค้าน

Related Posts

Send this to a friend