กรมควบคุมโรค เตือน ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากในระยะเวลาสั้น อาจเกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน
กรมควบคุมโรค เตือน ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากในระยะเวลาสั้น อาจเกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิต ชี้ ไม่ควรดื่มเกินลิมิตของตนเอง
วันนี้ (28 ธ.ค. 67) นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากในระยะเวลาอันสั้น อาจทำให้เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ (alcohol intoxication) โดยตับไม่สามารถขับสารออกจากเลือดได้ทัน ระบบการทำงานของร่างกายรวนจนเกิดภาวะช็อกอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต
แอลกอฮอล์เป็นสารที่ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางคล้ายยากดประสาท ซึ่งฤทธิ์นี้จะขึ้นโดยตรงกับปริมาณแอลกอฮอล์ที่ได้รับ เช่น การดื่มเหล้าหมดทีเดียว 1 ขวด จะทำให้แอลกอฮอล์ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นถึง 250 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ในเวลาอันรวดเร็ว เสี่ยงต่อการสำลัก อาเจียน หายใจไม่ออก หยุดหายใจ หมดสติ และเสียชีวิต โดยทั่วไปการค่อย ๆ ดื่ม จะทำให้ร่างกายค่อย ๆ ขับแอลกอฮอล์ออกจากกระแสเลือด ทำให้แอลกอฮอล์ไม่คั่งอยู่ในร่างกายของผู้ดื่มมากนัก
นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า การดื่มช่วงแรกระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะอยู่ที่ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จะเพิ่มความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และพฤติกรรมรุนแรง ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะเกิดอาการสับสน พูดไม่รู้เรื่อง ถ้ามากกว่า 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผู้ดื่มจะมีอาการง่วง มึนงง และซึม ถ้าระดับมากกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จะเกิดอาการสำลัก อาเจียน หยุดหายใจ หมดสติ อาจถึงขั้นเสียชีวิต
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคแนะนำให้ระมัดระวังในการดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ การดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปรวดเดียวทำให้ร่างกายดูดซึมแอลกอฮอล์เข้าสู่กระแสเลือดได้เร็ว ก่อให้เกิดการกดระบบประสาทส่วนกลางได้ รวมถึงอาจสำลัก อาเจียน หายใจไม่ออก หยุดหายใจ หมดสติ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งการดูดซึมของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน เหล้าแต่ละชนิดก็ไม่เหมือนกัน แต่สามารถป้องกันได้โดยการไม่ดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตามไม่ควรดื่มเกินลิมิตของตนเอง