รมว.สธ.เปิดการซ้อมแผนลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ เดินหน้า Sky Doctor ทุกเขตสุขภาพ
นพ.ชลน่าน’ เปิดการซ้อมแผนลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ พังงา ย้ำเดินหน้า Sky Doctor ทุกเขตสุขภาพ สร้างความเชื่อมั่นพื้นที่ท่องเที่ยว
วันนี้ (22 ม.ค. 67) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการซ้อมแผนการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศยาน ที่สนาม ฮ. ชั่วคราว โรงเรียนเกาะยาววิทยา อ.เกาะยาว จ.พังงา
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า จังหวัดพังงาเป็นหนึ่งใน 5 จังหวัดพื้นที่พิเศษนำร่องด้านการท่องเที่ยวทางทะเลและพื้นที่เกาะ ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปี 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ มาเยือนประมาณ 2.61 ล้านคน สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยว 1.2 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น กระทรวงสาธารณสุข จึงพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางทะเลฝั่งอันดามัน พร้อมระบบรับแจ้งเหตุและสั่งการที่มีมาตรฐานตามระบบการแพทย์ฉุกเฉินระดับสากล เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว หนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัด
“ระบบ Sky Doctor ซึ่งใช้เฮลิคอปเตอร์นำทีมแพทย์ไปรับตัวผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร หรือในพื้นที่เกาะ อย่างเช่น อ.เกาะยาว จะช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินเข้าถึงการรักษาเฉพาะทางได้อย่างรวดเร็ว ช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายให้มีการจัดตั้งทีมการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ หรือ Sky Doctor ให้ครบทุกเขตสุขภาพ เพื่อพร้อมช่วยเหลือทุกชีวิตให้ปลอดภัย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวว่า จังหวัดพังงาจัดเรือพยาบาล 5 ลำ ประจำจุดตามเกาะต่าง ๆ และมีจุดจอดเฮลิคอปเตอร์ (Sky Doctor) กระจายอยู่ทั่วจังหวัด ทั้งบนเกาะ และในเมืองรวม 9 แห่ง มีระบบเชื่อมโยงกับเครือข่ายโรงพยาบาลระดับสูง นอกจากนี้ ยังมีศูนย์การแพทย์เขาหลัก เป็นสถานบริการรองรับนักท่องเที่ยวอีกจุดหนึ่ง
ในส่วนของการพัฒนาศักยภาพทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางอากาศ ได้จัดอบรมหลักสูตรการลำเลียงผู้ป่วยทางเฮลิคอปเตอร์ขั้นพื้นฐาน (Basic HEMS) ให้กับทีมปฏิบัติการจำนวน 6 ทีม ประกอบด้วย โรงพยาบาลพังงา 2 ทีม โรงพยาบาลตะกั่วป่า 2 ทีม ศูนย์การแพทย์เขาหลัก 1 ทีม และโรงพยาบาลเกาะยาวชัยพัฒน์ 1 ทีม จึงมีความพร้อมให้การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต้องส่งต่อรักษาด้วย Sky Doctor รวมทั้งการรับมืออุบัติภัยทางทะเลที่อาจเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2566 มีการส่งต่อผู้ป่วยทางอากาศ จำนวน 2 ราย ไปยังโรงพยาบาลหาดใหญ่ และโรงพยาบาลตรัง เป็นผู้ป่วยภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด (Aortic dissection) ซึ่งการรักษาประสบผลสำเร็จ