PUBLIC HEALTH

ไทยพบการติดเชื้อร่วม 2 สายพันธุ์ในผู้ป่วยคนเดียว 7 ราย แล้ว ทุกรายไม่ได้รับวัคซีน เสี่ยงนำไปสู่การเกิดไวรัสลูกผสม

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ เฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย จากข้อมูลการเฝ้าระวัง ระหว่างวันที่ 3 ถึง 9 กรกฎาคม 2564 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบผู้ติดเชื้อทั้งหมด จำนวน 2,697 ราย เป็นสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) จำนวน 1,541 ราย (57.1%) ส่วนสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) จำนวน 1,156 ราย (42.9%) ส่วนสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ไม่พบผู้ติดเชื้อ โดยสายพันธุ์เดลตามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ส่วนภูมิภาคพบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 1,280 ราย เป็นสายพันธุ์อัลฟา 902 ราย (70.5%) สายพันธุ์เดลตา 293 ราย (22.9%) และสายพันธุ์เบตา 85 ราย (6.6%) โดยสายพันธุ์เดลตาและเบตามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนสายพันธุ์อัลฟา มีแนวโน้มลดลง ซึ่งสายพันธุ์เบตาส่วนใหญ่ยังพบในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะในจังหวัดนราธิวาสมากที่สุด

ดังนั้นข้อมูลการเฝ้าระวังทั้งประเทศตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ถึง 9 กรกฎาคม 2564 สายพันธุ์อัลฟา จำนวน 11,267 ราย (74.08%) สายพันธุ์เดลตา จำนวน 3,672 ราย (24.14%) และสายพันธุ์เบตา จำนวน 271 ราย (1.78%) สัดส่วนสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังสะสมทั้งประเทศ พบสายพันธุ์อัลฟามากที่สุด แต่มีแนวโน้มลดลง ส่วนสายพันธุ์เดลตา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 กลายพันธุ์ ด้วยเทคนิค RT-PCR และยืนยันด้วย Whole genome sequencing (WGS) ที่มีความครอบคลุม และมีประสิทธิภาพในการระบุสายพันธุ์และการกลายพันธุ์ของไวรัส SARS-CoV-2 จากการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างแรงงานจากแคมป์ก่อสร้างขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 228 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์อัลฟา 53 ตัวอย่าง (ร้อยละ 23.25) สายพันธุ์เดลตา 168 ตัวอย่าง (ร้อยละ 73.68) และยังพบตัวอย่างที่มีการติดเชื้อร่วมของทั้ง 2 สายพันธุ์ (Mix infection) อีก 7 ตัวอย่าง (ร้อยละ 3.07) โดยการทดสอบด้วยเทคนิค Whole genome sequencing (WGS) ยืนยันพบการกลายพันธุ์ของทั้งสายพันธุ์อัลฟาและสายพันธุ์เดลตาร่วมกันเป็นแบบลักษณะร่วม (Heterozygous)

โดยพบการกลายพันธุ์ชนิดขาดหายไป (deletion) ที่ตำแหน่ง HV69-70 และ Y144 ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์จำเพาะของสายพันธุ์อัลฟาและการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง L452R และ T478K ที่เป็นการกลายพันธุ์จำเพาะของสายพันธุ์เดลตา และจากการทำงานร่วมกับ London School of Hygiene and Tropical Medicine ที่ได้วิเคราะห์ข้อมูล WGS และยืนยันว่าเป็น Mix infection จริง

“จากการติดตามข้อมูลผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ร่วม 2 สายพันธุ์ทั้ง 7 รายในประเทศไทย พบว่า ไม่มีรายใดได้รับวัคซีนและทุกรายไม่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต อย่างไรก็ตามการติดเชื้อร่วม 2 สายพันธุ์ในผู้ป่วยคนเดียวเป็นที่น่ากังวลใจอย่างยิ่ง เนื่องจากอาจนำไปสู่การเกิดไวรัสลูกผสมได้ รวมทั้งอาจส่งผลต่อประสิทธิผลของวัคซีนประชาชนต้องร่วมกันลดการระบาดโดยปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างอยู่บ้านหยุดเชื้อ และรับวัคซีนให้ครบตามกำหนด” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว

Related Posts

Send this to a friend