PUBLIC HEALTH

ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ภัยเงียบที่ป้องกันได้ สร้างความตระหนักรู้กลุ่มเสี่ยง

สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย จัดงานเสวนา ‘ลิ่มเลือดอุดตัน ภัยเงียบที่ป้องกันได้’ เพื่อสร้างความเข้าใจถึง ภาวะลิ่มเลือดอุดตันอย่างถูกต้อง เนื่องในวันหลอดเลือดอุดตันโลก หรือ World Thrombosis Day ซึ่งตรงกับวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาล และสถาบันชั้นนำกว่า 10 ท่าน มาให้ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ที่ได้รับการผ่าตัด และกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เพื่อเป็นแนวทางการดูแลรักษาและป้องกัน โดยร่วมกับสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร,โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย,คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง และซาโนฟี่ ประเทศไทย ในการจัดงานครั้งนี้

ภายในงานยังได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ดร.พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร และ รศ.ดร.นพ.หม่อมหลวง กรเกียรติ์ สนิทวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในฐานะตัวแทนของ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เข้าร่วมงาน ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

รศ.ดร.ชัชชาติ กล่าวว่า “มิติสุขภาพเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ โดยการมี ‘สุขภาพที่ดี’ เป็นสิ่งที่คุ้มค่าในการลงทุน กรุงเทพมหานครตระหนักดีว่าการป้องกันโรคดีกว่าเกิดโรคแล้วค่อยไปรักษา และต้องการเห็นประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การบริโภคที่ถูกหลักโภชนาการ ใช้ชีวิตอย่างสมดุลเพื่อป้องกัน บรรเทา และหลีกเลี่ยงโรคเรื้อรังต่างๆ โดย ‘เมือง’ มีบทบาทสำคัญในการช่วยลดการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน”

“โดย กทม. มุ่งเน้น 3 ด้าน คือ”

1.เมืองต้องเอื้อให้คนเดินออกกำลังกายได้สะดวก มีสวนสาธารณะที่มีคุณภาพ และอยู่ใกล้บ้านในระยะเวลา 15 นาที สามารถเดินมาจากบ้านได้ ซึ่งเราได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 100 แห่ง

2.การแพทย์ มีศูนย์ด้านสาธารณสุขที่กระจาย เป็นเส้นเลือดฝอยกว่า 20 แห่ง มีการดูแลผู้ป่วยติดเตียงนับหมื่นรายที่อยู่ในชุมชน เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงเตียงโรงพยาบาลได้ มีการจัดเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เข้าไปดูแลผู้ป่วยติดเตียง โดยร่วมมือกับโรงเรียนแพทย์

3.การรณรงค์ให้ความรู้ในโรงเรียน ชุมชน และในระดับสาธารณสุข มีการจัดอบรมการดูแลผู้ป่วยสูงอายุ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยทั้ง 3 ส่วนนี้ก็จะช่วยลดภาระของโรงพยาบาล ซึ่ง กทม. ต้องขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่ร่วมรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อช่วยลดความเสี่ยง และป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน

ด้าน ศ.นพ.พลภัทร โรจน์นครินทร์ นายกสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ปัจจุบันจากปัจจัยแวดล้อมและวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป ภาวะลิ่มเลือดอุดตันมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลต่างประเทศ โรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ จะถูกวินิจฉัยเป็นลำดับ 3 รองจากโรคหลอดเลือดแดงหัวใจ และโรคหลอดเลือดแดงสมอง โดยร้อยละ 60 ของโรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำเกิดขึ้น ระหว่างการนอนอยู่ในโรงพยาบาล หรือหลังออกจากโรงพยาบาลใหม่ๆ และทั่วโลกมีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ที่เชื่อมโยงกับการนอนโรงพยาบาล 10 ล้านคนต่อปี”

“สำหรับในประเทศไทยข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติ ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา มีการรายงานตัวเลขการวินิจฉัยภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด (Pulmonary Embolism หรือ PE) เพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า ทั้งนี้ สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทยพร้อมผลักดัน และให้ความรู้แก่ประชาชนได้ตระหนัก แต่ไม่ตระหนก ตื่นรู้ แต่ไม่ตื่นกลัว เพื่อป้องกันการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และลดการสูญเสียที่ไม่จำเป็นในอนาคต”

ทั้งนี้กว่าร้อยละ 80 ของผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ จะไม่แสดงอาการใดๆ หรือมีอาการที่ไม่ชัดเจน บางรายที่มีภาวะอุดตันที่ขา (Deep Vein Thrombosis หรือ DVT) อาจมีอาการปวดขา ขาบวม ผิวหนังที่ขาเปลี่ยนสีไปจากเดิม ส่วนรายที่เกิดขึ้นในปอด (PE) อาจมีอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว หน้ามืด หมดสติ ไอเป็นเลือด เป็นต้น ดังนั้นการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมในวงกว้าง จึงช่วยให้ประชาชนเกิดการรับรู้อย่างเข้าใจ และปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง หรือหากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ก็สามารถให้ข้อมูลและขอคำแนะนำ จากแพทย์เพื่อหาแนวทางป้องกัน หรือรักษาได้อย่างทันท่วงที

ขณะที่ ศ.นพ. พันธุ์เทพ อังชัยสุขศิริ สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ อาจเกิดขึ้นจากการที่เลือดจับตัวแข็ง และสะสมในหลอดเลือดดำ (Venous System) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดได้จากการอักเสบในเส้นเลือดดำ โดยกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีโอกาส เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ ได้แก่ ผู้ป่วยมะเร็ง จากข้อมูลผู้ป่วยในทวีปเอเซียรวมถึงประเทศไทย ผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดดำอุดตันมีราวๆ ร้อยละ 20 ที่มีโรคมะเร็งอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมด้วย

และผู้ที่ต้องผ่าตัดหรือผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุ และต้องนอนโรงพยาบาลมีการเคลื่อนไหวทางร่างกายน้อย เป็นเวลานานๆ ก็เป็นกลุ่มเสี่ยง และอีกกลุ่มที่มักถูกมองข้ามคือ หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงในการเกิด VTE มากกว่าคนปกติ ถึง 4 เท่า และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของมารดา ถึงร้อยละ 10 นอกจากนี้ การเกิด VTE ยังมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวได้ ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกิน ผู้ที่มีประวัติ VTE ในครอบครัว การใช้ยาคุมกำเนิด สูบบุหรี่จัด เป็นต้น

รศ.พญ. ปิยนุช พูตระกูล ภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ความเสี่ยงของการเกิด VTE ในผู้ป่วยหลังการผ่าตัดจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางหัตถการ และปัจจัยจากตัวผู้ป่วยเองด้วย โดยหัตถการที่มีความเสี่ยงสูง ในการเกิด VTE คือ การเปลี่ยนข้อสะโพกและข้อเข่า และการผ่าตัดระบบประสาท นอกจากนี้ ระยะเวลาของการผ่าตัด ระดับความรุนแรงของเนื้อเยื่อ ที่ได้รับบาดเจ็บและระยะเวลา ที่ไม่ได้ลุกเดินหลังผ่าตัด ก็ส่งผลต่อการเกิดภาวะ VTE ด้วยเช่นกัน ทุกวันนี้วงการแพทย์ สามารถป้องกันการเกิด VTE ในผู้ป่วยผ่าตัดได้หลายวิธี เช่น การให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ปัจจุบันการป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ด้วยยาในโรงพยาบาล ทำได้ด้วยการใช้ยาฉีดและยารับประทาน เพื่อป้องกันการแข็งตัวของเลือด การพยายามให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหว การใส่เครื่องกระตุ้นบีบนวดกล้ามเนื้อบริเวณขา ใส่ถุงน่องทางการแพทย์ หรือลุกเดินอย่างเหมาะสม รวมถึงการให้ความรู้ แก่ผู้ป่วยเกี่ยวกับการป้องกัน

โดยโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้นำร่องการทำแบบประเมินความเสี่ยง ของผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด โดยระบุว่าผู้ป่วยคนไหนที่มีความเสี่ยง ในการเกิด VTE และให้การป้องกันอย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากภาวะ VTE มากที่สุด ยาฉีดคาดว่าจะเป็นทางเลือกหนึ่ง ที่มีความเหมาะสมกับสภาพผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือฉีดต่อเนื่องที่บ้านมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยกับผู้ป่วยทุกกลุ่ม ทั้งผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยผ่าตัด และหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งชนิดของยาฉีดบางตัวบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว ครอบคลุมสิทธิการเบิกจ่ายทุกสิทธิ ทั้งบัตรประกันสุขภาพ ประกันสังคม และข้าราชการ

จากข้อมูลของโรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่าหลังจากที่ออกมาตราการ กระบวนการการป้องกันภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ หลังผู้ป่วยแผนกศัลยกรรม พบว่า อัตราการเกิด VTE ลดลงอย่างน่าพอใจ และสามารถป้องกันการเสียชีวิต จากภาวะหลอดเลือดดำอุดตันได้ โดยมาตรการในการป้องกันดังกล่าวทำให้เห็นว่า มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์มาก คือเสียค่าใช้จ่ายน้อยแต่เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นสิ่งที่ทีมบุคลากรทางการแพทย์ สามารถปฏิบัติได้ เมื่อเทียบกับมูลค่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น หากปล่อยให้โรคเกิดขึ้นโดยไม่ได้ป้องกัน การป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ นับเป็นสิ่งที่ภาคการบริหารจัดการของโรงพยาบาล หน่วยงานต่างๆ ควรยกระดับการดูแลเรื่องนี้ ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต จากภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ

Related Posts

Send this to a friend