PUBLIC HEALTH

เตรียมปรับเพิ่มมาตรการ ปิดกิจการกิจกรรมเพิ่มหลังสถานการณ์รุนแรง

COVID-19: ที่ประชุม ศบค. มีการพิจารณาปรับมาตรการเข้มข้มมากขึ้น และอาจมีการปิดกิจการ/ กิจกรรมมากขึ้น โดยที่ผ่านมาการล็อกดาวน์ตามสถานการณ์เป็นการเฉพาะพื้นที่ 10 จังหวัด โดยในวันนี้ ผอ.ศบค. ขอให้คณะแพทย์ และที่ปรึกษาพิจารณาการปรับมาตรการให้เข้มข้นมากขึ้นตามสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงอาจมีการขยายพื้นที่ตามสถานการณ์ ขอให้รอฟังมติที่จะออกมา

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. เปิดเผยว่าในวันนี้ที่ประชุม ศบค. ได้พิจารณาในหลายประเด็นเกี่ยวกับการปรับมาตรการเพื่อรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 โดยได้พิจารณาถึงการปรับมาตรการให้เข้มข้นมากขึ้นตามสถานการณ์ รวมถึงอาจมีการปิดกิจการ กิจกรรมต่างๆ เพิ่มเติม โดยให้รอฟังมติอย่างเป็นทางการภายหลังการพิจารณาโดยละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญ

นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาเกี่ยวกับการตรวจหาเชื้อให้มากขึ้น เพื่อนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบให้ได้มากที่สุด และหากเป็นผู้สัมผัสเสี่ยง ขอให้ไปที่สาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อตรวจหาเชื้อ และหากมีอาการน้อย หรือไม่มีอาการจะให้มีการทำการแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) หรือ การแยกกักในชุมชน (Community Isolation) เพื่อลดการแพร่เชื้อในชุมชน

อธิบดีกรมการแพทย์เปิดเผยในที่ประชุมว่า โรงพยาบาลหลายแห่ง ได้ทดลองใช้การทำ Home Isolation มาก่อนหน้านี้แล้ว เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี โดยมีการจัดยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ที่จำเป็นให้กับผู้ป่วยเพื่อรายงานอาการเพื่อประเมินอาการโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยกลุ่มที่สามารถทำ Home Isolation คือกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย และมีเงื่อนไขสำคัญคือไม่ต้องใช้ออกซิเจน

ส่วน Community Isolation จะทำได้ในกรณีที่มีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในชุมชน หรือโรงงาน ขนาดไม่เกิน 200 เตียง ก่อนจะรับผู้ป่วยเข้า จะต้องมีการตรวจวัดการติดเชื้อด้วย RT PCR และต้องมีการจัดการสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในชุมชน

เกี่ยวกับการใช้ยาสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร พบว่าผลการศึกษาในกลุ่มโรงพยาบาลสนาม กลุ่ม Home Isolation เป็นที่น่าพอใจ และยังมีการศึกษายาตัวอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย

อย่างไรก็ตาม การใช้ Rapid Antigen Test ยังมีความเป็นห่วงเรื่องผลตรวจ หากเป็นผู้มีประวัติเสี่ยงสูง แม้จะผลเป็นลบ แต่ยังต้องเฝ้าดูอาการ และรักษามาตรการส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด เนื่องจากการตรวจยังอาจมีความไวไม่พอในช่วงแรกที่รับเชื้อมา

ในเรื่องวัคซีนมีมติให้ใช้วัคซีนผสม ได้ โดยเข็มแรกเป็น Sinovac และเข็มสองเป็น Astrazeneca รวมถึงการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีน Astrazeneca หรือ Pfizer ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ หลังฉีดเข็มที่ 2 อย่างน้อย 4 สัปดาห์ และเมื่อมีวัคซีนเพียงพอและกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนแล้ว จะพิจารณาฉ๊ดเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในระยะถัดไป

สำหรับรายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศวันนี้ (16 ก.ค. 64) พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 9,692 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมเป็น 381,907 ราย เสียชีวิต 3,099 ราย (+67) รักษาหายเเล้ว 271,857 ราย (+5,730) รักษาตัวอยู่ 106,951 ราย (ในโรงพยาบาล 60,838 ราย ในโรงพยาบาลสนาม 46,113 ราย) อาการหนัก 3,367 ราย ใช้เครื่องช่วยหายใจ 847 ราย

  • เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและบริการฯ 6,733 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 2,329 ราย จากเรือนจำ 615 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 15 ราย
  • ผู้ป่วยยืนยันในวันนี้ กทม. ยังคงสูงโดยเป็นจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้ออันดับ 1 จำนวน 2,195 ราย สมุทรสาคร 653 ราย สมุทรปราการ 607 ราย ชลบุรี 530 ราย นนทบุรี 456 ราย

Related Posts

Send this to a friend