KNOWLEDGE

ธรรมศาสตร์ ร่วมต้านโควิด-19 จัดกิจกรรมจิตอาสา Tham หน้ากาก Tham เจล พร้อมเปิดตัว “ThamMask” หน้ากากผ้ากันละอองน้ำ ซักใช้ซ้ำได้

ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สร้างวิกฤตการขาดแคลนหน้ากากอนามัย ซึ่งแม้แต่ แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ยังเกิดความกังวลว่าจะมีไม่เพียงพอสำหรับการใช้งาน และประชาชนทั่วไป ต่างประสบปัญหาการหาซื้อหน้ากากอนามัยไม่ได้ 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศ จึงได้จัดตั้ง “คณะทำงานป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 19” (COVID-19) ขึ้น ภายใต้ความร่วมมือของประชาคมธรรมศาสตร์ และหน่วยงานภายนอก อาทิ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนรับมือสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 

Tham หน้ากาก Tham เจล โครงการจิตอาสาเพื่อผลิตเจลแอลกอฮอล์ล้างมือสำหรับโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัย และหน้ากากผ้าสำหรับประชาชนทั่วไป
สอนการทำหน้ากากผ้าสำหรับใช้เอง ออกแบบโดยณะศิลปกรรมศาสตร์ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สอนการทำ Tham เจล เพื่อทำเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ

จัดกิจกรรม “Tham หน้ากาก Tham เจล” แนะนำการผลิตหน้ากากผ้า โดยการออกแบบของคณะศิลปกรรมศาสตร์ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมจัดเตรียมจักรเย็บผ้าไว้บริการ เปิดโอกาสให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยและบุคคลทั่วไปมาเรียนรู้ และตัดเย็บหน้ากากผ้าสำหรับใช้เอง ลดปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ พร้อมสอนทำเจลแอลกอฮอล์ 71% เพื่อใช้เอง และเพื่อเป็นจิตอาสาในการผลิตสำหรับใช้ในมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 

เจลล้างมือความเข้มข้นแอลกอฮอล์ 71 เปอร์เซ็นต์ Tham เจลที่นำไปวางให้บริการตามจุดต่างๆ

พร้อมกันนี้ มหาวิทยาลัยยังได้พัฒนา และเปิดตัว “ThamMask” หน้ากากผ้ากันน้ำ นวัตกรรมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมี รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วย ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา และประธานคณะทำงานป้องกันและควบคุมโรคไวรัสโคโรนา-19 (COVID-19) และอาจารย์ธนิกา หุตะกมล อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมอธิบาย ตั้งเป้าจะพัฒนาให้สมบูรณ์ สามารถป้องกันได้ทั้งไวรัส และฝุ่นมลพิษ PM2.5 ก่อนจะเผยแพร่วิธีการผลิต เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถผลิตใช้เองได้ ในต้นทุนเพียงชิ้นละ 30-40 บาท แต่สามารถซักแล้วใช้ซ้ำได้อย่างน้อย 5 ครั้ง

(จากซ้ายไปขวา) ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล อาจารย์ธนิกา หุตะกมล ศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิบายเกี่ยวกับ ThamMask
การผลิตด้วยความพิถีพิถันทุกขั้นตอน

หน้ากากผ้ากันน้ำ ThamMask เป็นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างผ้าที่มีคุณสมบัติในการกันน้ำ และเหมาะสมแก่การพัฒนาเป็นหน้ากากผ้าป้องกันสารคัดหลั่งเบื้องต้น เพื่อใช้ทดแทนหน้ากากอนามัยที่ขาดแคลนในขณะนี้ โดย “ผ้าฝ้ายผสมโพลิเอสเตอร์” (Cotton-Silk) มีโครงสร้างของเส้นใยที่เหมาะสม ประกอบด้วย Cotton – Microfiber จำนวนเส้นด้าย 500 เส้นต่อ 10 ตารางเซนติเมตร โดยมีเส้นด้ายยืนโพลีเอสเตอร์ ไฟเบอร์ เบอร์ 75 (Polyester Microfiber) เส้นด้ายพุ่งโครงสร้างเส้นใยฝ้าย คอมแพ็ค โคมบ์ เบอร์ 40 (Cotton Compact Combed)

นอกจากนี้ ยังใช้เทคโนโลยีสะท้อนน้ำ ด้วยสาร NUVA – 1811 ซึ่งมีอนุภาคเป็นระดับไมครอนสามารถแทรกเข้าไปเนื้อผ้า เพื่อต้านไม่ให้โมเลกุลของน้ำแทรกเข้าไปในเนื้อผ้าได้ NUVA – 1811 ได้รับการรับรองจาก Oekotex Standard 100 – 2019 ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีความปลอดภัยเมื่อสัมผัสผิวหนังโดยตรง

ด้วยคุณสมบัติของผ้า และเทคโนโลยีสะท้อนน้ำ ด้วยสาร NUVA-1811 ทำให้สามารถกันน้ำและสารคัดหลั่งได้ดี
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาธิตการป้องกันน้ำของ ThamMask

“คณะทำงานฯ กำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งาน และความคงทนของเส้นใย ว่ายังคงประสิทธิภาพเดิมหรือไม่ เมื่อนำไปซักด้วยเครื่องซักผ้ามาตรฐานทั่วไป ดังนั้น ผ้าฝ้ายผสมโพลิเอสเตอร์จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งวัสดุทางเลือกในการผลิตเป็นหน้ากากผ้าเพื่อใช้ป้องกันการแพร่เชื้อไวรัส COVID-19 ทั้งในบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไป” อาจารย์ธนิกา กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวิจัยจนเสร็จสมบูรณ์ ทางคณะทำงาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีแผนที่จะเผยแพร่วิธีการหาซื้ออุปกรณ์ และวิธีการทำโดยละเอียด เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถผลิตใช้เองได้ โดยเบื้องต้นคาดว่าต้นทุนในการผลิตจะอยู่ที่ประมาณ 30-40 บาทเท่านั้น และสามารถนำมาซักและใช้ซ้ำได้อย่างน้อย 5 ครั้ง 

นับเป็นอีกหนึ่งความพยายามของสถาบันการศึกษาในการเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

Related Posts

Send this to a friend