KNOWLEDGE

แนวคิดส่งเสริมความสร้างสรรค์สำหรับเด็ก

The LEGO Foundation เปิดเผยรายงานผลศึกษาแนวทางส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในเด็กและเยาวชนทั่วโลก ผ่านการประชุมพูดคุยและสัมภาษณ์กับนักกำหนดนโยบายด้านการศึกษาที่อุทิศตัวทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาใน  5 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สก็อตแลนด์ และเวลส์ โดยมีเป้าหมายเพื่อจุดประกายให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาได้แนวทางและประยุกต์ใช้เป็นต้นแบบในการปฎิรูปการศึกษาของแต่ละประเทศ ยก “ความคิดสร้างสรรค์” และ “ความคิดวิเคราะห์” เป็นทักษะ “จำเป็น” สำหรับโลกยุคใหม่

Dr David Howes รองนายกรัฐมนตรี โรงเรียนและบริการระดับภูมิภาค กระทรวงการศึกษาและการฝึกอบรม แห่งรัฐวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งระบุว่า การสร้างระบบการศึกษาที่จะทำให้ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์และคิดสร้างสรรค์ เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้ผู้เรียนดำรงชีวิตอยู๋ในสังคมต่อไปได้ อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ที่จะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ที่จะตอบโจทย์ต่อตลาดงานในอนาคต

ทางออสเตรเลีย เริ่มการปฎิรูปการศึกษาและนำหลักสูตรการเรียนการสอนดังกล่าวมาใช้ โดยมุ่งพัฒนาทักษะการคิดให้ครอบคลุม 3 ด้าน คือ การใช้เหตุผล กระบวนการและการได้มาซึ่งความรู้ (Reasoning, processing and inquiry) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และ การตอบสนอง การประเมิน และความตระหนักรู้เข้าใจ (Reflection, Evaluation and Metacognition) 

โดยภาครัฐฯ ได้จัดสรรงบประมาณกว่า 10,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2015 ลงทุนพัฒนาผลักดันให้รัฐวิคตอเรีย เป็น รัฐแห่งการศึกษา หรือ The Education State ที่จะพัฒนายกระดับการเรียนรู้ของเด็ก รวมถึงให้การช่วยเหลือเด็กในการเรียนรู้ให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างดีที่สุด ซึ่งเป้าหมายที่ว่านี้ ประกอบด้วย การเรียนรู้ตลอดชีวิต, การทำให้เด็กมีความสุข สุขภาพแข็งแรง และมีความอดทน, ให้การส่งเสริมสนับสนุนเด็กให้อยู่ในระบบการศึกษาให้มากขึ้น, ช่วยเอาชนะปัจจัยลบต่างๆ และสร้างความภาคภูมิใจภายในโรงเรียน 

Shun Shirai รองอธิบดีศูนย์ทดสอบการเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยแห่งชาติ (National Center for University Entrance Examination) ตัวแทนผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากญี่ปุ่น ระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นตระหนักและเห็นความสำคัญของ ความคิดสร้างสรรค์มาโดยตลอด โดยกระทรวงการศึกษา วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (MEXT) ของญี่ปุ่น กล่าวอย่างชัดเจนว่า ความคิดสร้างสรรค์ เป็นทักษะที่จำเป็นต่อประเทศ ท่ามกลางปัจจัยท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการร่อยหรอของทรัพยากร หรือ สิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายลง ดังนั้น ญี่ปุ่นจำเป็นต้องคิดค้นหาทางแก้ไขอย่างสร้างสรรค์เพื่อรับมือกับปัญหาเหล่านี้

ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้ญี่ปุ่น ระบุความคิดสร้างสรรค์ เป็นทักษะหนึ่งที่ต้องปลูกฝังให้กับนักเรียนญี่ปุ่นทุกคนไว้ในหลักสูตรการศึกษาของประเทศ ควบคู่ไปกับการเรียนภาษาญี่ปุ่น คณิตศาสตร์ สังคม วิทยาศาสตร์ ดนตรี และศิลปะ โดยได้ปรับหลักสูตรการศึกษาไปสู่ IS หรือ Interdisciplinary Study หรือที่รู้จักในภาษาญี่ปุ่นว่า “Yutori Education”

โดยเป้าหมายหลักของ IS คือการมุ่งปลูกฝังทักษะความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่สอดแทรกไปกับวิชาการบังคับในโรงเรียนระดับประถมและมัธยม เป็นกิจกรรมที่ไม่มีหนังสือเรียนหรือหลักสูตรที่กำหนดไว้เป็นมาตรฐาน แต่จะเน้นให้เด็กได้พยายามคิดหาแนวทางแก้ไขด้วยตัวของพวกเขาเอง โดยหลักสูตร IS ถูกใช้มาตั้งแต่ปี 1999 และมีการปรับปรุงหลักสูตรมาโดยตลอดจนได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง

สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือการให้ความสำคัญกับครูผู้สอน ที่จะต้องเสริมทักษะการสอนและให้ครูเข้าใจ รวมถึงเห็นความสำคัญของทักษะความคิดสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการคอยสนับสนุนให้โรงเรียนสร้างเครือข่าย เพื่อให้มีการออกแบบกิจกรรมส่งเสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์ นอกเหนือไปจากทักษะทางวิชาการ

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในฐานะตัวแทนจากประเทศไทย ระบุว่า ความคิดสร้างสรรค์ ถือเป็นหนึ่งในทักษะการเรียนรู้สำคัญของระบบการศึกษาที่ประเทศไทยตระหนักดี เพียงแต่ที่ผ่านมา ไม่มีเครื่องมือหรือหน่วยงานที่จะผลักดันให้เกิดการนำเสนอหรือปฎิรูปทักษะความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง จนกระทั่ง ได้รับความร่วมมือจาก OECD ในการออกมาตรการสนับสนุนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยในส่วนของไทย สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ คือการปฎิรูปการศึกษาให้เด็กนักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงหลักสูตรดังกล่าวได้อย่างเท่าเทียมเสมอภาคกัน ด้วยการจัดสรรเงินทุนและทรัพยากรอย่างทั่วถึงและเหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมา กสศ. ได้ทำหน้าที่ในฐานะตัวกลาง ที่ประสานงานกับทุกฝ่าย ทั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ องค์การภาครัฐ เอกชน หน่วยงานอิสระจากทั้งในและต่างประเทศ ในการนำมาตรการที่ร่วมวางไว้กับ OECD มาปฎิบัติ เพื่อให้เด็กไทยเกิดทักษะการรู้จักคิดวิเคราะห์ และการคิดสร้างสรรค์ อย่างเป็นระบบ

สำหรับเป้าหมายของโครงการความร่วมมือในครั้งนี้ ระดับประเทศก็คือการปฎิรูปการศึกษา และได้เห็นหลักสูตรใหม่ที่ผ่านการปฎิรูปแล้วในปี 2020 ซึ่งมีระบบประเมินและชี้วัดที่ชัดเจนและเหมาะสม ส่วนในระดับโรงเรียน ก็คือการเห็นโครงการของ OECD มีการนำไปใช้ในโรงเรียน 5-10 แห่งในแต่ละเขตการศึกษาทั้งหมด 225 แห่งทั่วไทยต่อไป

โครงการดังกล่าวยังพิสูจน์ให้เห็นว่า เมื่อการเรียนการสอนได้รับความสนับสนุนจากทุกฝ่ายอย่างจริงจัง นักเรียนไทยก็สามารถทำทดสอบและการประเมินได้ดีไม่แพ้เด็กชาติใดในโลกเช่นกัน อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงในตลาดงานและสังคมในอนาคต ทำให้เราจำเป็นต้องปฎิรูปและสร้างระบบการศึกษาที่มุ่งให้ความสำคัญกับการเตรียมเด็กไทยให้พร้อมรับอนาคตดังกล่าว รวมถึงการใช้และอุทิศทรัพยากรที่มีอยู่ในการส่งเสริมทักษะการสอนของครู ให้ครูสามารถเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่างๆ

อย่างไรก็ตาม การทำงานก็ยังมีอุปสรรคอยู่ คือ การที่ไม่สามารถขยายระยะเวลาการทดลองให้ครอบคลุม 1 ปีการศึกษาได้ ทำให้ไม่สามารถศึกษาผลกระทบในระยะยาว และช่องว่างจากระบบสุ่ม ที่แม้จะพยายามสุ่มโดยให้ครอบคลุมโรงเรียนใหญ่และเล็ก โรงเรียนที่มีผลการเรียนดีและด้อย และโรงเรียนจากในเมืองและชนบท แต่ผลลัพธ์ที่ได้ ถึงจะมีความหลากหลาย ก็ยังไม่อาจระบุได้ว่าสะท้อนถึงระบบการศึกษาของไทยทั้งประเทศได้

นอกจากนี้ ดร.ไกรยส ยังเสริมว่า สิ่งที่ไทยควรทำต่อไปก็คือการหาหนทางที่จะลองทดสอบโครงการดังกล่าวให้ครอบคลุมระยะเวลา 1 ปีการศึกษา เพื่อยืนยันผลความสำเร็จที่เกิดขึ้น และหาหนทางในการยกระดับพัฒนาความเข้าใจของครูในเรื่องของการคิดวิเคราะห์ เพื่อปรับปรุงผลลัพธ์ให้ออกมาดียิ่งขึ้นต่อไปได้ 

ดร.ไกรยส  ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องหลักเพื่อให้ระบบการศึกษาของไทยได้รับการปฎิรูปในทางบวก ก็คือ ความร่วมมือจากบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและนักการเมืองทั้งหลายที่ต้องการสนับสนุนอย่างจริงจัง ทั้งในเรื่องของเวลาและงบประมาณ พูดคุยรับฟังความเห็นของคณะทำงานและผู้เชี่ยวชาญด่านการศึกษาจากทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้มีข้อมูลครอบคลุมรอบด้านก่อนตัดสินใจออกนโยบายด้านการศึกษาใดๆ

ยิ่งไปกว่านั้น การได้รับความร่วมมือจากภาคประชาสังคม โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กก็ถือได้ว่ามีความสำคัญต่อการทำให้การปฎิรูปการศึกษาเกิดขึ้น เพราะถือเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่จะทำให้ภาครัฐตระหนักและเห็นความสำคัญของการปฎิรูปการศึกษา

สำหรับในส่วนของการจัดทำการประเมินทดสอบ ดร.ไกรยส เสริมว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมี เพื่อให้มีผลการดำเนินที่เป็นรูปธรรม อีกทั้งการจัดทำการทดสอบยังช่วยให้คณะทำงานมองเห็นแนวทางและทิศทางที่จะให้ความช่วยเหลือสนับสนุน ตามที่ผู้เรียนและผู้สอนต้องการได้ต่อไป

The LEGO Foundation คาดหวังว่า การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในครั้งนี้ จะริเริ่มให้นานาประเทศให้ปฎิรูประบบการศึกษาในประเทศของตนเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ โดยความรู้และวิธีการที่ถ่ายทอดอยู่ข้างต้นนี้ไม่มีผิดหรือถูก มีเพียงแต่ความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพบริบทของสังคมและธรรมชาติของผู้เรียนเท่านั้นเป็นสำคัญ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนี้ จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนให้มีการปฎิรูปเพื่อความคิดสร้างสรรค์ เป็นแหล่งข้อมูลและเป็นแรงบันดาลใจสำหรับแนวทางการปฎิรูปการศึกษา และเป็นเหมือนตัวจุดประกายให้เกิดการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมด้านความคิดสร้างสรรค์ในวงการการศึกษาต่อไป

Related Posts

Send this to a friend