KNOWLEDGE

รับมือ Post-Travel Depression ภาวะเศร้าซึม ไม่มีความสุขหลังกลับจากเที่ยว

เมื่อวานยัง Happy ดี๊ด๊า ทำไมวันนี้ไม่อยากลุกไปไหน ไม่อยากยิ้ม ไม่อยากคุยกับใคร อยากแต่จะย้อนไปที่ที่เพิ่งกลับมา ...

ไม่ต้องแปลกใจ หากคุณรู้สึก ซึม เซ็ง หมดแรง ไม่มีความสุข และอาจถึงขั้นเบื่อหน่ายกับชีวิตปัจจุบัน หลังกลับจากไปเที่ยว พักผ่อน หรือทริปต่างๆ

อาการดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า Post-Travel Depression (PTD) หรือ Vacation/ Holiday Blues ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นหลังกลับจากการเดินทาง ท่องเที่ยว ไม่ว่าจะสั้นเพียงไม่กี่วัน หรือยาวเป็นเดือนๆ ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศ (การเดินทางไปต่างประเทศ และใช้เวลานานๆ ยิ่งมีโอกาสเกิดอาการ PTD ได้ง่ายขึ้น)

 

“เมื่อไหร่จะได้กลับไปอีก”

“ทำไมชีวิตเรามันแย่แบบนี้”

“อยากทำงานที่ได้ไปเที่ยวตลอดเวลา”

“ทำไมต้องทน ทำไมต้องใช้ชีวิตแบบนี้”

“ชีวิตเราไม่มีอะไรดีเลย ไม่สนุก น่าเบื่อ”

เมื่อกลับมาสู่ชีวิตประจำวัน กลับมาทำงาน เรียนหนังสือ หรือใช้ชีวิตตามปกติ ผู้เดินทางบางรายจะเกิดอาการซึม เบื่อหน่าย เศร้า ไม่มีความสุข รู้สึกว่าชีวิตประจำวันนี้ไม่ดีไปเสียหมดทุกอย่าง การงานที่ทำอยู่ก็ช่างน่าเบื่อหน่ายเหลือเกิน ไปจนถึงอาการทางกาย ไม่ว่าจะเป็นการเมื่อยล้า กล้ามเนื้อไม่มีแรง คิดลบ นอนไม่หลับ กินข้าวไม่ลง โดยอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน (โดยปกติจะใช้เวลาประมาณไม่เกิน 1 สัปดาห์ก็จะกลับสู่สภาวะปกติ ทำใจได้แล้ว หรือไม่ก็ยุ่งจนไม่มีเวลากลับไปคิดถึงมันอีก) แต่ในบางรายเป็นหนัก และยาวนาน ส่งผลเสียต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตอย่างมาก

นักจิตวิทยา อธิบายว่าอาการเศร้าซึมหลังวันหยุดหรือหลังการเดินทาง มีสาเหตุหลักๆ คือ

ระหว่างการเดินทาง คุณได้เป็นตัวของตัวเองเต็มที่ ไม่จำเป็นต้องสวมหัวโขนของหน้าที่การงาน หรือสถานะที่คุณเป็นอยู่ (โดยเฉพาะการเดินทางไปยังต่างประเทศ หรือที่ที่ไม่มีคนรู้จักคุณ)
จึงรู้สึกปลดปล่อยและเป็นตัวของตัวเอง เมื่อต้องกลับมาสวมบทบาท และดำเนินชีวิตในกรอบ และบรรทัดฐานทางสังคม ภายใต้ความคาดหวังต่างๆ จึงทำให้คุณรู้สึกเหมือนถูกพรากเอาตัวเองไป

ระหว่างการเดินทาง คุณได้ออกนอก comfort zone ของตัวเอง เมื่อกลับมาบ้าน ต้องกลับไปทำงาน ไปใช้ชีวิตในกรอบเดิมๆ comfort zone ที่เคยรู้สึกสบายดี กลับไม่โอเคแล้ว ที่สำคัญการกลับมาทำหน้าที่ รับผิดชอบสิ่งต่างๆ (ไปจนถึงการแบกภาระต่างๆ ไว้) จึงเป็นสิ่งที่น่าเบื่อและแทบจะยอมรับไม่ได้อีกต่อไป

ระหว่างการเดินทางคุณยังมีแนวโน้มที่จะมีความสุขกับทุกสิ่งรอบตัว เห็นทุกอย่างแปลกใหม่น่าอภิรมย์ไปหมด (แม้จะเป็นสิ่งเดียวกับที่บ้านก็ตาม แต่มันกลับดูน่ารัก น่าสนใจกว่ามาก) เมื่อกลับมาบ้านทุกอย่างจึงรู้สึกน่าเบื่อ

นักจิตวิทยาแนะนำวิธีรับมือกับอาการดังกล่าวโดยนำประสบการณ์จากทริปนั้นมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เช่น ตั้งเป้าในการเดินให้ได้มากขึ้น เหมือนช่วงระหว่างการท่องเที่ยวที่เดินวันละหลายกิโล จะลองอาหารแปลกใหม่ที่ไม่เคยกิน จะนำ “ความญี่ปุ่น” มาใช้ในชีวิตประจำวัน ใส่ใจในรายละเอียด เพิ่มเติมความน่ารักเล็กๆ น้อยๆ ให้กับสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันของตัวเอง เป็นต้น เพราะมันจะทำให้ความทรงจำนั้นเป็นปัจจุบันเสมอ และทำให้คุณไม่กลับไปติดอยู่ในความทรงจำดีๆ ที่เพิ่งผ่านมา (ในเมื่อคุณสามารถใช้ชีวิตกับมันได้ทุกวัน)

ส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินทางบ่อยๆ แนะนำวิธีรับมือกับ PTD โดย
บันทึกเรื่องราวการเดินทางของตัวเอง ทุกโมเมนต์ ทุกความสุข ทุกประสบการณ์ที่คุณเจอเอาไว้ที่ใดที่หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นในสื่อสังคมออนไลน์ ในเจอร์นัลเล่มโปรด หรือในคอมของคุณ จะทำให้คุณหายซึม และหายคิดถึงการเดินทางนั้นๆ ไปได้ และมีความสุขทุกครั้งที่กลับมามองมัน

มองทุกอย่างแบบนักท่องเที่ยว หาความสนุกจากสิ่งต่างๆ หรือสถานที่ต่างๆ รอบตัว ใกล้ๆ บ้าน ร้านอาหารที่ไม่เคยลอง ที่ที่ยังไม่เคยไป พิพิธภัณฑ์ในประเทศที่มีอยู่มากมาย สวนสาธารณะที่มีต้นไม้สวยๆ ใกล้บ้าน ฯลฯ จะทำให้คุณรู้ว่าที่ที่เราอยู่ก็ไม่เลวเหมือนกันนะ

หาอะไรใหม่ๆ ทำ ไม่ว่าจะเป็นจัดบ้านใหม่ จัดเรียงหนังสือ ฟังเพลง หรือออกไปเรียนเต้น ออกไปเข้าคลาสโยคะ เป็นต้น

แต่หากยังไม่หาย สิ่งที่แนะนำให้ทำคือ การตั้งเป้าสำหรับทริปต่อไป โดยการวางแผนล่วงหน้าให้นานหน่อย หาข้อมูล ติดตามโปรโมชั่น และทำให้การกลับมาทำงานมีเป้าหมายมากขึ้น (การทำงาน = การหาทุนไปเที่ยวทริปต่อไป) ทำให้คุณมีเป้าหมาย และมีอะไรให้พุ่งเป้าไปถึงมากกว่าแค่ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ

สำหรับคนที่ยังไม่ได้ออกเดินทาง ครั้งต่อไป ขอให้วางแผนล่วงหน้าถึงสิ่งที่เราจะกลับมาเจอที่บ้านด้วย เพื่อการกลับมาของคุณจะไม่น่าเบื่อเกินไป และมีอะไรให้เฝ้ารอบ้างเมื่อกลับมา เช่น การนัดเพื่อนกลุ่มใหญ่กินข้าวหลังจากกลับมา การวางแผนไปร่วมงานวิ่ง การเซอร์ไพรส์คนที่รักด้วยอะไรบางอย่าง ฯลฯ เพราะเมื่อเรานึกถึงความสนุก ตื่นเต้น หรือนึกถึงสิ่งที่รออยู่ที่บ้านจะไม่ใช่แค่ “ชีวิตประจำวัน” และ “งานกองเท่าภูเขา” อีกต่อไป

ทุกการเดินทางมีความหมายเพราะมันคือการเปลี่ยนแปลง คือความแตกต่างจากชีวิตประจำวันปกติ แต่เราไม่สามารถเดินทางตลอดเวลาได้ เรายังต้องใช้ขีวิต ต้องหาเงิน มีครอบครัวที่ต้องดูแล อย่าปล่อยให้การเดินทางที่ควรเป็นความทรงจำที่สวยงาม เป็นเหมือนโลกที่ดูดคุณเข้าไป และขังคุณเอาไว้ไม่ให้กลับออกมา 

หากคุณปฏิบัติตามคำแนะนำทั้งหมดแล้วยังไม่ได้ผล การไปพบจิตแพทย์เป็นสิ่งที่ควรทำ และไม่ใช่สิ่งผิดแปลกอะไร เมื่อมีปัญหา หาทางออกไม่ได้ก็ควรให้ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ และชี้ทางออกให้ และขอให้ทุกคนเตรียมพร้อมสำหรับวันหยุดครั้งต่อไป และทริปต่อไปก่อนการออกเดินทาง

.. ขอให้ทุกท่านสนุกกับทั้งการเดินทาง และการดำเนินชีวิต ..

 

อ้างอิงข้อมูล Psychology Today, Rest Ritual, Trip Savvy, Wanderlust, Temple Seeker 

Related Posts

Send this to a friend