KNOWLEDGE

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดบ้านแนะแนวศึกษาต่อ สายวิทยาศาสตร์สุขภาพ

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดงาน CRA Open House 2024 เพื่อเปิดบ้านแนะแนวศึกษาต่อ สายวิทยาศาสตร์สุขภาพ สำหรับเยาวชนระดับมัธยมศึกษา สู่เส้นทางอาชีพ ที่มั่นคงในอนาคตต่อไป อาทิ หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต,หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (นานาชาติ) หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต สำหรับผู้สำเร็จปริญญาตรีสาขาอื่น หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต ประกอบด้วย สาขาวิชารังสีเทคนิค สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ,สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ (4 ปี) สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ และภายในงานยังได้เปิดตัวหลักสูตรใหม่ อย่าง สาขาวิชานวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2567)

รศ ดร.จตุพร กระจายศรี อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2567) จากโครงการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า “หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (นวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์) ชื่อย่อ วท.บ. (นวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์) เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี 4 ปี จุดเด่นของหลักสูตรมุ่งเน้นผลิตบัณฑิต ที่มีความรู้และสมรรถนะ ในการทำวิจัยด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนในภารกิจหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน มีการจัดการเรียนการสอนคล้าย Pre-Medical School สามารถต่อยอดในการเข้าศึกษา หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หรือวิชาชีพอื่นสายการแพทย์ได้ บูรณาการองค์ความรู้ด้วยศาสตร์ด้านการวิจัย นวัตกรรม วิทยาศาสตร์การแพทย์ การจัดการและการเป็นผู้ประกอบการ”

“เปิดโอกาสให้บัณฑิตทำงานได้หลากหลาย เป็นสาขาที่ขาดแคลนและต้องการ ของประเทศเป็นอย่างยิ่ง อาชีพที่รองรับได้หลังสำเร็จการศึกษา เช่น บุคลากรวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชน นวัตกรด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ บุคลากรทางด้านการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์ในสถาบันการศึกษา เจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการด้านการแพทย์ เช่น บริษัทยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ ห้องปฏิบัติการวินิจฉัยทางการแพทย์”

อาจารย์ ดร.ปัญจภรณ์ อู่รัตนมณี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษา กล่าวว่า “หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (นานาชาติ) เป็นหลักสูตรแรก ของวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี รับนักศึกษารุ่นแรกเมื่อปีการศึกษา 2566 เพื่อเป็นการยกระดับภาพลักษณ์ ของพยาบาลสู่ระดับสากล โดยบัณฑิตสาขาพยาบาลศาสตร์ สามารถต่อยอดในวิชาชีพ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพได้ ทั้งการเรียนต่อ หรือการทำงานต่างประเทศในอนาคต การเรียนการสอนภาคทฤษฎีมีการเรียนวิชาพื้นฐาน วิชาเฉพาะสาขาที่เป็นวิชาชีพ การศึกษาภาคปฏิบัติครอบคลุม ในห้องปฏิบัติการเสมือนจริง และในหอผู้ป่วยของโรงพยาบาล รวมทั้งการปฏิบัติในชุมชนอีกด้วย คณาจารย์ผู้สอนเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา มีประสบการณ์และผลงานทางวิชาการ ทั้งงานวิจัยระดับชาติและนานาชาติ”

ด้าน ผศ. นายสัตวแพทย์ ดร.พีรุทย์ เชียรวิชัย ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน กล่าวว่า “สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ พัฒนาการแพทย์ด้วย Data Science รองรับความต้องการนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เป็นสาขาใหม่และมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อตอบสนองต่อการขยายตัวอย่างรวดเร็วของข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นหลักสูตรที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ”

“เหมาะสำหรับนักเรียนที่มีความสนใจ ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และมีความสามารถทางด้านการใช้คอมพิวเตอร์ เมื่อจบการศึกษาแล้ว บัณฑิตของหลักสูตร จะมีส่วนช่วยในการบริหารจัดการ วิเคราะห์ฐานข้อมูลสุขภาพขนาดใหญ่ จากแหล่งต่างๆ และนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหา ทางการแพทย์และการสาธารณสุข เพื่อตอบโจทย์ของทั้งการรักษา และการวิจัยได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ตลอดการเรียนในหลักสูตร 4 ปี มีทั้งภาคทฤษฎี คือ การเรียนรู้พื้นฐานที่จำเป็น ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data science) เช่น การเขียนโปรแกรม สถิติ และระบบฐานข้อมูล”

ผศ ดร.สัมฤทธิ์ กิตติพยัคฆ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ กล่าวว่า “ปัจจุบัน นักรังสีเทคนิค ถือเป็นบุคลากรการแพทย์สาขา ที่ขาดแคลนระดับประเทศ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค มีวัตถุประสงค์ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค ที่ตอบสนองความต้องการของประเทศ ดำเนินการเรียนการสอน โดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ทั้งรังสีวินิจฉัย รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ นักศึกษามีโอกาสได้เรียนภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติกับเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย โรงเรียนรังสีเทคนิคได้นำ Virtual Environment in Radiotherapy Training (VERT) มาใช้ในการเรียนการสอนรายวิชารังสีรักษา เป็นแห่งแรกในประเทศไทย”

อาจารย์ฉัตรพร เรืองทอง อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ กล่าวว่า “หลักสูตรที่มีความพร้อมด้านการผลิตบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ การเคลื่อนไหวและสุขภาพ ในการทำงานด้านบริการสุขภาพรองรับสังคมสูงวัย มุ่งสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ การเคลื่อนไหวและสุขภาพที่เป็นทั้งนักวิชาการที่มีความรู้ ความสามารถ และนักปฏิบัติการที่มีทักษะ สามารถประยุกต์องค์ความรู้ด้านวิชาวิทยาศาสตร์ การเคลื่อนไหวและสุขภาพที่มีคุณภาพ”

“ใช้เวลาศึกษา 4 ปี ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ในภาคทฤษฎีประกอบด้วยวิชาหลัก ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว เช่น กายวิภาคศาสตร์,ชีวกลศาสตร์,สรีรวิทยาการออกกำลังกาย,จิตวิทยา,โภชนาการ นักศึกษาที่จบหลักสูตรฯ นี้ไปสามารถประกอบอาชีพ ในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โรงพยาบาล ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ศูนย์สุขภาพ และสโมสรกีฬา และเพื่อตอบรับกับโจทย์แห่งอนาคต ของประเทศไทย โรงเรียนวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว และสุขภาพสอนให้วิเคราะห์ การเคลื่อนไหวและออกแบบโปรแกรมการเคลื่อนไหว เพื่อสร้างเสริมสุขภาพให้เหมาะสม ได้สำหรับทุกช่วงอายุ”

นางสาวชัชชญา สุนทรอาคเนย์ อาจารย์ประจำหลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ (4 ปี) คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ กล่าวว่า “คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพเปิดรับสมัครบุคคลเข้าศึกษา หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ (หลักสูตร 4 ปี) ประจำปีการศึกษา 2567 จำนวน 40 คน คุณสมบัติจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) หรือ เทียบเท่า จากสาขาวิทยาศาสตร์ เป้าหมายเพื่อผลิต “นักฉุกเฉินการแพทย์ ความช่วยเหลือแรกก่อนถึงมือแพทย์” รองรับอาชีพสาขาขาดแคลน การเรียนการสอนเน้นความรู้เชิงทฤษฎีและข้อเท็จจริงเป็นหลัก”

Related Posts

Send this to a friend