KNOWLEDGE

เปิดผลศึกษา ‘ดีเอ็นเอ’ คนโบราณในไทย พบมีอายุ 1,700 ปี

เปิดผลศึกษา ดีเอ็นเอ คนโบราณในไทย พบมีอายุ 1,700 ปี ไม่สอดคล้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ทางภาคเหนือ แต่ใกล้เคียงกับกลุ่มละว้า มอญ และกะเหรี่ยงปาดอง

วันนี้ (9 ก.พ.67) นักโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยผลงานวิจัยโครงการ “มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์กับพลวัตทางวัฒนธรรมบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน” ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Nature Communications หลังจับมือกับทีมนักวิจัยนานาชาติของสถาบันวิจัย Max Planck Institute for Evolutionary Anthropology ประเทศเยอรมนี นำโดย ดร.เซลิน่า คาร์ลฮอฟ ร่วมกันศึกษาดีเอ็นเอโบราณของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในป่าเขตร้อน ซึ่งได้ศึกษาดีเอ็นเอที่หลงเหลืออยู่ในชิ้นส่วนกระดูกและฟันโบราณ จำนวน 33 ชิ้น จนได้ข้อมูลใหม่มนุษย์โบราณในประเทศไทยอายุกว่า 1,700 ปี นับเป็นต้นแบบการศึกษาด้านมนุษย์โบราณและวัฒนธรรมโรงไม้ สำหรับพื้นที่ในอาเซียนและเอเชียตะวันออก

ศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีบนพื้นที่สูง และริเริ่มขุดค้นแหล่งโบราณคดีใน จ.แม่ฮ่องสอน มากว่า 20 ปี ระบุว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราพยายามสืบค้นถึงวัฒนธรรม และความหลากหลายทางชาติพันธ์ุ โดยหลักฐานที่เรานำมาวิเคราะห์นั้นเกิดจากขุดหลักฐานเมื่อปี 2544 ก่อนที่จะเริ่มสกัดดีเอ็นเอในช่วงปี 2559-2560

งานชิ้นนี้เริ่มต้นจากการตั้งคำถามถึงความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ มนุษย์ปรับตัวเข้ากับภูมิอากาศแต่ละช่วงอย่างไร ปรับตัวทางวัฒนธรรมอย่างไร รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประชากร โดยศึกษาบูรณาการร่วมกันระหว่างมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ทำให้เราค้นพบมนุษย์โบราณที่เพิงผาถ้ำลอด อายุ 13,640 ปี

นอกจากนี้เรายังได้ส่งดีเอ็นเอไปตรวจสอบในห้องแลปที่มีชื่อเสียงด้านการวิเคราะห์ข้อมูลในหลายประเทศ อาทิ เดนมาร์ก จีน มหาวิทยาลัยมหิดล และเยอรมนี พบว่าเมื่อ 1,600 ปี มีกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลได หรือกลุ่มไท-กะได นอกจากนี้เมื่อ 1,800 ปีก่อน ยังพบคนพูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก หรือมอญ-เขมร ซึ่งเป็นคนดั้งเดิมที่สันนิษฐานว่าอยู่ในดินแดนประเทศไทย และจากการศึกษาพบว่าช่วง 1,700-1,800 ปี ยังมีประชากรอีกชุดหนึ่ง และจากชุดหลักฐานที่เรามีเมื่อ 20 ปีก่อน ก็สันนิษฐานว่ามีดีเอ็นเอจากยูนนานและคุนหมิง บ่งบอกถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์

งานชิ้นนี้สามารถวิเคราะห์เครือญาติ และเห็นเส้นทางการเคลื่อนย้ายของผู้คนช่วงก่อนประวัติศาสตร์ ก่อนการพัฒนาเป็นดินแดนสุวรรณภูมิ โดยพบว่าคนเคลื่อนผ่านทางตะวันตกผ่านแม่น้ำสาละวิน ซึ่งมีกลุ่มคนหลายกลุ่ม

รศ.ดร.วิภู กุตะนันท์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยถึงผลการศึกษาดีเอ็นเอที่หลงเหลืออยู่ในกระดูกหูส่วน Petrous จำนวน 42 ชิ้น และฟัน 22 ชิ้น ที่พบภายในแหล่งโบราณคดีประเภทถ้ำบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน และบ้านวังไฮ จ.ลำพูน ภายหลังนำกระดูกไปสกัดหาดีเอ็นเอ เปรียบเทียบเบสดีเอ็นเอกับคนในปัจจุบัน และพิจารณาลักษณะดีเอ็นเอโบราณที่จะต้องแตกหักเป็นเส้นเล็ก ๆ วิเคราะห์หาความสัมพันธ์ทางเครือแบบ Identity-by-descent (IBD) ซึ่งยังไม่เคยใช้ในงานทางพันธุศาสตร์โบราณคดีมาก่อน

ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอกลุ่มชาติพันธ์ุในปัจจุบันพบว่า กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีดีเอ็นเอใกล้ที่สุดกับ ดีเอ็นเอคนโบราณปางมะผ้าคือ กลุ่มละว้า กะเหรี่ยงปาดอง และมอญ โดยโครงสร้างของดีเอ็นเอของคนโบราณปางมะผ้าไม่สอดคล้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ในปัจจุบันกลุ่มใดเลย ขณะที่กลุ่มบ้านเชียงมีดีเอ็นเอใกล้เคียงกับออสโตรเอเชียติก สะท้อนว่าในช่วง 1,700 ปีที่ผ่านมา ประชากรมีการเคลื่อนย้ายและเกิดการผสมผสาน ทำให้โครงสร้างของคนในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากคนดั้งเดิม

นอกจากนี้ยังนำดีเอ็นเอคนโบราณปางมะผ้าไปวิเคราะห์หาความสัมพันธ์กับประชากรอื่นทั่วเอเชีย เพื่อดูโครงสร้างทางพันธุกรรม พบว่าคนโบราณปางมะผ้า เกิดจากการผสมผสานพันธุกรรม ระหว่างคนโบราณก่อนสมัยหินใหม่ 13% คนโบราณลุ่มน้ำเหลือง 44% คนโบราณสมัยหินใหม่แม่น้ำแยงซี 43% ส่วนบ้านเชียงไม่ได้รับดีเอ็นเอจากคนโบราณสมัยหินใหม่แถบรูปแม่น้ำเหลืองเลย แต่มีดีเอ็นเอจากกลุ่มคนโบราณก่อนสมัยหินใหม่ และคนโบราณสมัยหินใหม่แม่น้ำแยงซี

รศ.ดร.วิภู ยังกล่าวถึงโครงการ Genomics Thailand หรือจีโนมิกส์ประเทศไทย ที่หาลำดับเบส จีโนมของผู้ป่วยในโรคพันธุกรรม รวมทั้งหาดีเอ็นเอกลุ่มชาติพันธ์ุในประเทศไทย เพื่อนำไปเป็นฐานข้อมูล ประยุกต์ใช้กับการรักษา และการให้ยากับผู้ป่วยที่มีดีเอ็นเอที่แตกต่างกัน พร้อมระบุว่าอนาคตเราสามารถต่อยอดงานชิ้นนี้ไปสู่การศึกษาที่มาของกลุ่มชาติพันธ์ุในปัจจุบันได้ โดยใช้หลักการศึกษาพันธุศาสตร์ประชากร เป็นการเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างประชากรเพื่อดูว่ากลุ่มชาติพันธ์ุมีความใกล้ชิดกันหรือไม่

ยกตัวอย่างกลุ่มชาติติพันธ์ุที่พูดภาษาไท ซึ่งหลักฐานทางภาษาศาสตร์ระบุว่า เป็นกลุ่มภาษาที่มีการเผยแพร่มาจากตะวันออกเฉียงใต้ของจีนเมื่อ 1,000-2,000 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อศึกษาดีเอ็นเอของกลุ่มชาติพันธ์ุไทแล้วพบว่ามีดีเอ็นเอที่เหมือนกันกับกลุ่มไดในสิบสองันนาของจีน สอดคล้องกับข้อมูลการอพยพของคนโบราณ และการขยายถิ่นฐานของชาติพันธุ์ไท เมื่อ 2,000 ปีก่อน

ศ.ดร.รัศมี กล่าวทิ้งท้ายว่ารัฐบาลควรเห็นความสำคัญของการให้ทุนวิจัยพื้นฐานด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เนื่องจากที่ผ่านมามักจะมองงานนี้เพียงแค่การใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย แต่ในทางกลับกันงานวิจัยด้านนี้สามารถเป็นซอฟพาวเวอร์ในระยะยาวได้

พ.ร.บ.ชาติพันธ์ุ กำลังถกเถียงกันในสภาฯ เรามีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้เข้าใจความหลากหลายทางชาติพันธ์ุ ทำให้เราสามารถมีข้อมูล เกิดประวัติศาสตร์กระแสรองหรือประวัติศาสตร์ชาติพันธ์ุได้ เพราะโบราณคดีชาติพันธ์ุได้เกิดขึ้นแล้ว หากมีประวัติศาสตร์ชาติพันธ์ุเชื่อว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ดังนั้นงานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นฐานข้อมูล และเป็นประโยชน์ให้กับประเทศไทย สร้างบ้านเมืองให้มีสันติสุข มองคนอย่างเคารพกัน

Related Posts

Send this to a friend