KNOWLEDGE

จุฬาฯ จัดสัมนาวิชาการ ”รำลึก 18 ปี สึนามิ สู่การขับเคลื่อนนโยบาย”

วันนี้ (22 ธ.ค. 65) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดสัมนาวิชาการในหัวข้อ ”รำลึก 18 ปี สึนามิ สู่การขับเคลื่อนนโยบาย” กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการภัยพิบัติ ร่วมสัมนาโดยนางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, นายไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท, นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ คณะกรรมการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ดร.ธนพร ศรีนากูล คณะกรรมการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนายธีรยุทธ สำราญทรัพย์ ผู้ตรวจราชการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น

นางปรีดา กล่าวว่า ชุมนุมหลายชุมชนก็มีหน้าที่ในการดูแลตนเองได้ แต่ละพื้นที่รู้ถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่อยู่แล้ว เช่น จังหวัดอุบลราชธานี จะรู้ว่าพื้นที่น้ำท่วมในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นตัวอย่างการดูแลตัวเองที่ดีเพราะมีการทำโรงอาหารกลางโดยที่ไม่ได้รอความช่วยเหลือจากรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ต่อไปรัฐก็ควรมีนโยบายที่ชัดเจน เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาระยะยาว

นายไมตรี ระบุว่า เหตุการณ์สึนามิเป็นแค่ต้นทางเท่านั้น ทุกภาคส่วนต้องคิดว่าภัยพิบัติเป็นเรื่องใหญ่ ประชาชนตระหนักรู้มากยิ่งขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของผู้บริหารที่ทำงานด้านนี้จะส่งผลให้งานที่ทำอยู่สะดุดไปด้วย องค์กรที่ตั้งขึ้นมาช่วยเหลือตั้งให้จะมีโมเดลการทำงานคือ ต้องประสบการณ์เรียนรู้ ช่วยเหลือตัวเองได้ ช่วยเหลือคนอื่น อยู่ในพื้นที่ให้ได้ ถ้าโมเดลแบบนี้เกิดทุกที่ ก็จะทำให้มีการรับมือที่ดีขึ้น ซึ่งเรื่องนี้คือการขาดการเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานกลางกับส่วนท้องถิ่น ทำให้ไม่เข้าใจกัน ปัญหาที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้รู้พร้อมกันทั้งท้องถิ่นและอำเภอ สร้างความเข้าใจในแบบพันธมิตร ขาดนักวิชาการวิเคราะห์ข้อมูลในชุมชน

นายบุญธรรม ระบุว่า ในปัจจุบันท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการภัยพิบัติครบถ้วนอยู่แล้ว ตามกฎหมายการกระจายอำนาจของท้องถิ่น คือการเริ่มช่วยตั้งแต่ก่อนเกิดภัย จนเกิดภัย แต่ปัญหาก็ขึ้นอยู่กับผู้บริหาร ทำอย่างไรให้รู้และเข้าใจ ว่าอำนาจ หน้าที่ และบทบาทคืออะไร เรื่องอัตรากำลังในการช่วยเหลือ รายได้น้อยก็งบน้อย เรามีวงเงินกลางให้ ถ้าหากส่งเรื่องมาของบประมาณช้าเงินก็เหลือน้อย เพราะฉะนั้นปัญหาหลักคือทำอย่างไรให้องค์กรส่วนท้องถิ่นเข้มแข็งในการจัดการตัวเอง ทางกรมฯ พยายามแก้ปัญหาให้มากที่สุด ทุกคนเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ จากการทำข้อมูลของเราไว้ให้ ซึ่งถ้าเทียบกับประเทศอื่นนั้นเรามีภัยพิบัติน้อยมาก มีก็แค่อุทกภัยเท่านั้น

“ชุมชนเข้มแข็งต้องเข้มแข็งด้วยตัวเอง ต้องสำนึก เข้าใจในความเดือดร้อนของพื้นที่ที่อาศัย ปกป้องลูกหลาน ดูแลเมื่อเกิดภัยพิบัติ ไม่จำเป็นต้องรอกฎหมาย ส่วนเรื่องงบประมาณ ท้องถิ่นสามารถสนับสนุนชุมชนได้ในเรื่องการป้องกันสาธารณภัย ส่วนการช่วยเหลือเยียวยา เราเป็นตัวกลางในการช่วยเหลือ แต่อัตรา วิธีการ กำหนดโดยกระทรวงการคลัง ไม่ใช่กรมบรรเทาสาธารณภัยกำหนด เราแค่นำระเบียบมาปฏิบัติเท่านั้น”

รศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวว่า โครงสร้างองค์กรต้องออกแบบให้ชุมชนเดินหน้าต่อไปได้ การออกแบบมันไปถึงส่วนนี้ไหม ประชาชนตื่นตัวกับภัยพิบัติ แต่ทำไมถึงทำไม่ได้ เนื่องจากการแก้ต้องทำร่วมกันตั้งแต่ระดับรัฐ ส่วนกลาง ชุมชน ซึ่งเกิดคอขวดหลายเรื่อง ทำให้ไม่ได้เดินไปในทิศทางเดียวกัน
ทั้งอำนาจหน้าที่ทางกฎหมาย อำนาจที่ซับซ้อน ระเบียบที่ยึดโยงเครือข่ายทำให้คนไม่อยากทำต่อ งบประมาณที่ขาดแคลน ด้วยทัศนคติการมองเรื่องภัยพิบัติที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย จึงไม่จำเป็นต้องใช้งบ และท้องถิ่นไม่สามารถหาเงินได้จากแหล่งอื่น เพื่อนำเงินมาช่วย เกิดเป็นปัญหาคอขวด สุดท้ายคือปัญหาบุคลากรที่ไม่เพียงพอ

“ทั้งหมดนี้จะมีแนวทางในการแก้ไขคือการนิยามให้ชัดเจนเรื่องการสนับสนุนงบประมาณ ลดชั้นตอนหรือวิธีการในการช่วยเหลือให้ง่ายขึ้น ดูหลักเหตุและผล ต้องคิดระเบียบรองรับเยอะ ๆ และยืดหยุ่น ให้เข้ากับสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น แบ่งการเบิกงบเป็น 2 โหมดคือโหมดปกติ กับแบบฉุกเฉิน”

ด้านนายธีรยุทธ ระบุว่า จะต้องมีการเขียนกำหนดให้ชัดเจนว่าหากมีภัยพิบัติจะใช้เงินงบประมาณจากส่วนใด ซึ่งส่วนท้องถิ่นต้องเป็นคนดูแลตั้งแต่แรกอยู่แล้วตามระเบียบที่กำหนด นอกจากนี้ยังจะต้องมีงบกลางสำรองจ่าย เพื่อไว้ใช้ป้องกันการเกิดเหตุ ดูจากงบประมาณในปีก่อน เพื่อเตรียมไว้ให้เพียงพอ ยืนยันว่าทางกรมฯ ทำให้ท้องถิ่นมั่นใจในการช่วยเหลือประชาชน ทั้งหมดอยู่ที่นายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น

Related Posts

Send this to a friend