เสวนาบทบาทสื่อมวลชนในการขับเคลื่อนสังคม ย้ำจุดยืนรักษาจรรยาบรรณ ยึดถือวิชาชีพ ใส่ใจประเด็นสังคม
วันนี้ (19 ก.พ.67) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับสำนักข่าว The Reporters จัดเสวนาบทบาทสื่อมวลชนในการขับเคลื่อนสังคม ในโครงการอบรม “We Are The Reporters สื่อเพื่อขับเคลื่อนสังคม” ที่ห้องประชุม ชั้น 3 อาคารฝึกประสบการณ์วิชาชีพเชิงบูรณาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า ในฐานะคนทำข่าว ที่มีจิตวิญญาณ เรากำลังชวนทุกท่านให้ใช้ทักษะวิชาชีพของการเป็นสื่อมวลชนในการขับเคลื่อนสังคม หากเราไม่ใส่ใจประเด็นสังคม คงมองไม่เห็นปัญหา แต่ถ้าสนใจก็จะเห็นมากขึ้นเปรียบเหมือนแม่น้ำ ที่บางวันสกปรก บางวันใส หากน้ำใสก็เป็นน้ำที่เราปรารถนา ในฐานะคนทำข่าวต้องดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับแม่น้ำสายนี้ เราจะปล่อยให้เน่าไปกว่านี้อีกหรือไม่ หรือจะทำให้มันสะอาด ให้มีชีวิตชีวา ทำให้ทุกคนมีความสุข สิ่งที่อยู่ในแม่น้ำ หรือใต้น้ำที่เขายังไม่เห็น หรือมีการปกปิดเอาไว้ จะทำอย่างไรให้น้ำสะอาด
“ความเป็นสื่อ ใครที่ไม่อยู่ในวงการนี้อาจไม่อิน นี่ไม่ใช่แค่อาชีพ แต่เป็นวิชาชีพ ถ้าใจไม่รัก ทำไม่ได้ ถ้าทำแล้วความสุข คือใช่เลย การทำงานที่ต่อยอดให้คนอื่น วันที่ได้ต่อสู้ให้คนอื่น แล้วผลสัมฤทธิ์เกิดจากการทำงานข่าวของคุณ ความรู้สึกมันยิ่งกว่าได้รางวัล ซึ่งจริต จิตวิญญาณแบบนี้ เป็นหัวใจสำคัญ ถ้ามีจิตวิญญาณที่รักความเป็นธรรม เห็นปัญหาแล้วอยากจะพูด เห็นคนลำบากแล้วอยู่นิ่งไม่ได้ ใครไม่สนใจก็ได้ แต่ฉันต้องสนใจ ไม่ชอบการทุจริต มันจะผลักดันไปสู่การเป็นสื่อมวลชน เป็นผู้สื่อข่าว ตนเองจึงเชื่อว่าจิตวิญญาณแบบนี้ยังมีอยู่ การโตขึ้น ก็ต้องบริหารจัดการสภาพแวดล้อมตัวแปรมากมาย ต้องใช้ความอดทน ใช้สติปัญญา ความรอบคอบมากขึ้น” ดร.ธนกร กล่าว
ดร.ธนกร ยังได้ยกตัวอย่างสื่อที่มีความสมดุล และนำเสนอสิ่งที่คนสนใจ และเรื่องที่ควรสะท้อนสังคมไปควบคู่กัน เช่น ไทยรัฐออนไลน์ มีการนำเสนอข่าวหวยที่คนสนใจ แต่ก็นำเสนอประเด็นสังคม และเรื่องราวสาระอื่นๆ ที่ประชาชนควรรู้ไปควบคู่กัน หรือ ข่าวสามมิติ ที่ชัดเจนในประเด็นทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน เรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น และเรื่องที่อาจมีอะไรอยู่เบื้องหลัง โดย ดร.ธนกร ย้ำว่า เราตั้งข้อสงสัย ตั้งข้อสังเกตได้ แต่จะไม่ด่วนตัดสินเด็ดขาด ไม่ตั้งธงไว้ล่วงหน้า จึงเป็นการทำงานข่าวในเชิงสืบสวนสอบสวนที่ดี
“การทำงานอย่างมีความสุข เราจะไม่ถามว่าเราได้อะไร เพราะเราได้ความสุข แต่ที่สุดเมื่อถึงจุดหนึ่งจะทำให้งานของเรากลับมาดูแลเรา ฝีมือกลับมาดูแลเรา แต่ตอนลงทุนสร้างงานเราไม่คิดว่าได้ค่าตอบแทนเท่าไหร่ แต่พอสักพัก เมื่อผลงานมันเกิดตัวตนในทางการงาน มันจะมาเป็นรางวัลให้เรา“ ดร.ธนกร กล่าว
นายอนุวัต เฟื่องทองแดง ช่องวัน 31 ยกตัวอย่างรายการอนุวัติทั่วไทย ที่ไม่ใช่แค่รายการท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่คือการนำเสนอวิถีชาวบ้าน โดยเฉพาะเทปข้าวหลามดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ยอดดูล่าสุดเกือบล้าน มีเทคนิคการทำที่ไม่เหมือนที่ใด ซึ่งมีคนจาก TikTok ไปซื้อตาม สะท้อนว่าพลังโซเชียลเป็นพลังบวกมหาศาล ทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำแล้วสนุก ช่วยสร้างเศรษฐกิจชุมชน หรือย้อนกลับไปเมื่อช่วงโควิด-19 ที่มีการประชาสัมพันธ์น้อย เราในฐานะสื่อจึงนำข้อมูลเหล่านั้นมาย่อยให้ประชาชนเข้าใจง่าย เราต้องคิดว่ากลุ่มเป้าหมายเราคือใคร จะนำเสนออย่างไรแล้วคนดูดจะได้อะไรจากเรา
นายอนุวัต กล่าวถึงบทบาทการขับเคลื่อนสังคม โดยมองว่าปัจจุบันกลไกรัฐไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมได้ แต่การขับเคลื่อนสังคมเกิดขึ้นจากเพจ สื่อ และมูลนิธิต่าง ๆ ที่ไม่ใช่กลไกของฝ่ายปกครอง สื่อในปัจจุบันทำหน้าที่เหมือนพี่อ้อย พี่ฉอด ส่งข้อความขอเงิน ฝากขายที่เข้ามาในช่องทางส่วนตัว เพราะประชาชนมองว่าสื่อเป็นทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนคนในครอบครัว เราจึงต้องช่วยเขาเท่าที่ช่วยได้ แต่ขอตั้งคำถามว่านี่คือหน้าที่ของสื่อใช่หรือไม่
ส่วนบทบาทของช่องวัน 31 ในการนำเสนอข่าวเพื่อขับเคลื่อนสังคมคือ การนำความบันเทิงและสาระความรู้กลมกล่อมเข้าด้วยกัน คนดูข่าวช่องวัน 31 ก็จะได้วิธีคิด และความประเทืองปัญญาด้วย โดย อนุวัตมองว่า แต่ละสื่อมีกลุ่มคนดู และความชอบที่แตกต่างกันไป บางช่องคนดูชอบข่าวอาชญากรรมมาก บางช่องชอบการเมือง อย่างช่องวัน คนดูชอบข่าวที่ดูแล้วรู้สึกดี เป็นพลังบวก เรื่องของคนดี หรือเรื่องราวดีๆ
นางสาวอรพิณ ยิ่งยงค์พัฒนา บรรณาธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์ ระบุว่าไทยรัฐมีหลายแพลตฟอร์ม แต่ข่าวจะไปทิศทางเดียวกันหมด ซึ่งเป้าหมายของหลายสื่อคือช่วยคน สำนักข่าวของไทยรัฐก็เช่นกัน อยากทำให้ชีวิตของคนไทยดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จะเห็นได้ว่าแต่ละส่วน เช่น แพลตฟอร์มออนไลน์ กลุ่มคนดู หรือคนเสพข่าวออนไลน์เปลี่ยนไป มีทั้งโตขึ้น และกลุ่มเด็กใหม่ ๆ ที่กำลังเติบโตขึ้น ดังนั้นเราจึงจำเป็นที่จะต้องปรับโฉมภาพลักษณ์ ไม่ใช่เพียงปรับปลี่ยนแต่ภายนอก แต่เป็นเรื่องเลือกประเด็นข่าวด้วย
ส่วนประเด็นสิทธิมนุษยชน อาจจะดูเป็น Concept ที่จับต้องยาก ไม่เข้าใจ ขายไม่ได้ และเป็นโจทย์ที่ใหญ่มาก แต่ในความที่เป็นแพลตฟอร์มใหญ่ ซึ่งมีคนเข้าชมเยอะ และมีความหลากหลายทั้งชาวบ้านทั่วไป จนถึงผู้กำหนดนโยบาย ฉะนั้นการออกแบบเนื้อหาในแต่ละวันจะต้องครบทุกอย่าง เราจะอยู่รอดได้ต้องเป็นข่าวที่ตอบสนองความสนใจใคร่รู้ของผู้คนที่จะต้องทำให้สนุก และบันเทิง แต่สุดท้ายแล้วทั้งหมดที่ทำไปจะต้องสร้างปัญญา และต้องทบทวนตนเองว่าสิ่งที่ทำไปทำให้ชีวิตคนดีขึ้นหรือไม่
ข่าวที่ให้ความรู้จะมีจุดที่ยากคือเรื่องที่ประชาชนมีฉันทามติ และอินไปด้วยกัน แต่จะมีอีกจำพวกหนึ่งที่ไม่ได้มีฉันทามติคิดเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของการรายงานข่าว เป็นการรายงานตามความคิดเห็นของสังคม ในสังคมที่ขัดแย้งกันอยู่สูงมาก คือจุดทดสอบความเป็นมืออาชีพในการทำงาน ส่วนเรื่องการโดนทัวร์ลงก็โดนบ่อย เพราะเป็นเรื่องปกติที่ประชาชนรู้สึกและให้ความสนใจ หากเป็นทัวร์ลงที่มาจากประชาชนปกติเราก็ใส่ใจ และพร้อมที่จะแก้ไข แต่หากเป็น IO ก็ขำดี เพราะมีอยู่ทุกวัน
นางสาวอรพิณ ได้ยกตัวอย่างข่าวที่ล่อแหลม และทำยาก คือประเด็นเกี่ยวกับเยาวชนกับคดีมาตรา 112 ซึ่งล่าสุดทำสกู๊ปน้องหยก ผู้ต้องหา โดยเราไม่ได้มีสิทธิพูดว่าสิ่งที่เขาทำนั้นถูกหรือผิด แต่สิ่งที่เราสนใจคือกระแสสังคมที่มองต่อเด็กคนหนึ่ง ในช่วงที่มีความเกลียดชัง สะท้อนว่าเราจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยความเกลียดชังต่อเด็กไม่ได้ และเราคิดว่าจะนำเสนออย่างไรเพื่อให้คนเปิดใจ สุดท้ายแล้วน้องจะทำผิดหรือไม่ เราไม่รู้ได้ อยู่ที่กระบวนการที่จะตัดสิน แต่อย่าพึ่งไปมีความคิดที่จะเข่นฆ่า ทำร้าย หรือเอาความเกลียดชังเข้านำได้หรือไม่ เพราะสังคมต้องการความเรียนรู้ว่าความเป็นมนุษย์ และการเติบโตในสังคมที่ไม่เหมือนกัน หรือเราเองที่ไม่เห็นด้วยในความคิดเห็นของคนอื่น และเราจัดการความรู้สึกของตัวเราได้อย่างไร ซึ่งมองว่าเป็นบทบาทของนำเสนอข่าวเช่นกัน ที่จะสร้างบรรยากาศการสนทนาที่มีคุณภาพ
สำหรับบทบาทสื่อต่อการขับเคลื่อนสังคม เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แต่ตอนนี้เกิดปัญหาอีกหลายอย่าง เช่น ทัศนคติทางการเมือง และปัญหาทางเศรษฐกิจ ว่าจะแก้ไขอย่างไร เราจะมีบทบาทอย่างไร ที่จะนำกลับไปสู่ความคิดตั้งต้น ที่จะให้ชีวิตของคนนั้นดียิ่งขึ้น เป็นการทำงานที่คาดหวังให้เห็นการเปลี่ยนแปลงโดยจะต้องมีการตอบสนองจากภาครัฐ คือนักข่าวจะต้องเกาะติด ไม่ไปให้เรื่องจบไป ซึ่งเราต้องทำข้อมูล เก็บข้อมูลในรอบด้าน และถึงวันนึงเราก็ต้องไปพูดคุยกับหน่วยรัฐที่เกี่ยวข้อง ว่าปัญหาเกิดขึ้นมาแล้ว และภาครัฐจะแก้ปัญหาอย่างไร และนำไปสู่การตอบสนองหรือแก้ไขให้กับประชาชน เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันสอดส่ายสายตา และตรวจสอบให้มากขึ้น ซึ่งหากอยู่ในวิสัยที่เขาทำได้เขาก็จะแก้ไข
นายมนตรี อุดมพงษ์ ข่าวสามมิติ กล่าวว่า โอกาสในการเปิดโลกทัศน์ เห็นมุมมองกว้างขึ้นจากคนมีประสบการณ์ มันยาก เพราะวิธีที่ฉลาดสุดคือการเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่น เมื่อเรียนรู้ไปแล้วก็จะสนุกตามวัย นกที่มันอ้วน ก็จะไม่สามารถลอดช่องกรงขังได้ นกที่มีอิสรภาพ อยากออกก็ได้ เข้าก็ได้ เพราะเข้าได้กับช่องที่มีกรอบกติกา แต่ถ้ากินจุ ก็จะทำไม่ได้ เปรียบเสมือนการเป็นนักข่าวที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้ไม่สามารถพูดถึง หรือนำเสนอเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ แตะไม่ได้ เมื่อคุณกินจนอ้วน คุณจะบินไม่ขึ้น แล้วคุณจะอิสรภาพมาจากไหน ตอนนี้เป็นช่วงวัยของการเรียนรู้ ดังนั้น จึงมีอิสระที่จะคิดไม่มีกรอบมากำหนด ขอแค่ไม่ผิดกฎหมาย
สำหรับบทบาทในข่าวสามมิติ ปณิธานของทีมสามมิติ หรือกองบรรณาธิการ คือรายการเรามันดึก เราไม่สามารถเล่าเรื่องให้ทุกคนฟังได้ จึงต้องเจาะกลุ่มคน ในตอนต้นจึงเป็นกลุ่มคนนอนดึก คนวัยทำงาน ข้าราชการ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่เป็นวาระทางสังคม เอาประเด็นหลัก แต่ก็ไม่ทิ้งความบันเทิง บางเรื่องอาจมีเรื่องที่ต้องอธิบายเพิ่มเติมให้สังคมเข้าใจ เช่น หมูเถื่อน คนอาจเข้าใจว่าดีแล้วที่หมูถูก จึงต้องทำความเข้าใจว่าการที่มีของนอกเข้ามาทำให้กลไกในประเทศเปลี่ยนไป ราคาหมูในไทยไม่ขึ้น ถูกกกต่ำลง และทำให้ผู้เลี้ยงคนไทยหายไปจากระบบ ส่วนหมูที่นำเข้ามาแบบผิดกฎหมาย หากคนเลิกเลี้ยงหมู ไปรอกินหมูนำเข้า ก็ต้องเพิ่มภาษี ทำให้ราคาหมูที่นำเข้ามาจะแพงกว่าหมูที่ขายในประเทศไทยดังนั้น รัฐบาลจึงต้องมองเห็นมิติแบบนี้ ไม่ใช่ประโยชน์เฉพาะหน้า ต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้ความไม่ชอบธรรมของคนเปลี่ยนแปลงไป
นายมนตรี ยังเล่าถึงเหตุการณ์การทำข่าวในอดีตว่า มีผู้หญิงคนหนึ่งมาขอความเป็นธรรมที่ช่องสาม จากโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจจับ เพราะพบหลักฐานที่มียาบ้าอยู่ในห้องพัก จึงไปดูว่าใครคือผู้เช่า และออกหมายจับ ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการในการทำข่าว จนรู้ว่าชื่อนี้มีอยู่ในประเทศไทยกว่า 7 คน ที่เหมือนกันทั้งชื่อ และนามสกุล การขยายเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของคนคนเดียว แต่ให้เป็นเรื่องที่มีการขยายให้มีการตรวจสอบมากขึ้น ไม่ให้ใครโดนแบบนี้
ทุกวันนี้พฤติกรรมของผู้รับสารไม่ได้เป็นแบบเดิมแล้ว ที่ต้องรอเวลาข่าว แต่อยากดูต้องได้ดู ซึ่งทุกวันนี้เนื้อหาเปลี่ยนไปไวมาก ดังนั้น จุดยืนของข่าวสามมิติ ท่ามกลางปัญหาที่เรามี สภาพเศรษฐกิจโดยปัจจุบัน โครงสร้าง เพียงพอที่จะดำรงชีวิต แต่ไม่มากพอที่จะพลิกชีวิตได้ จุดยืนของสื่อ ต้องแก้โครงสร้าง รถที่ขับเคลื่อน ไม่ได้มาจากที่ปัดน้ำฝน ไม่ใช่จากที่ปัดกระจก แต่คือล้อ แต่ส่วนอื่นคือโครงสร้าง รายการข่าวก็เหมือนกัน ถ้าเรามุ่งแก้โครงสร้างของสังคม ปัญหาจุกจิกก็ต้องยอม มันมีองค์ประกอบหลายอย่าง ต้องทำหลายอย่างพร้อมกัน กว่าจะสอนคนว่ายน้ำได้ก็ต้องผ่านการจมมาก่อน สถานีก็ต้องมีจุดยืน และต้องเป็นจุดยืนของวิชาชีพสื่อด้วย มันไม่ใช่แค่เราเลือกอาชีพ แต่อาชีพก็เลือกเราด้วย และการทำข่าวตอนนี้วิธีคิดเหมือนเดิม แม้จะเปลี่ยนวัฒนธรรม ช่องทางไปยังไงก็ได้ แต่เนื้อหาไม่ได้เปลี่ยน
นายมนตรี กล่าวทิ้งท้ายว่า ความท้าทายของเนื้อหาอยู่ตรงที่ในวันที่กราฟมันตก ถ้ามันขึ้นทุกคนแฮปปี้ ในวันที่มันตก ยังมีความสุขอยู่ไหม แต่เราได้ตอบสนองต่อวิชาชีพแล้วหรือไม่ ถ้ายังคงมีอยู่ ก็ไม่ทำให้วิชาชีพสื่อเราสิ้นไร้ไม้ตอก