เปิดเวทีเสวนา “การใช้สื่อเพื่อขับเคลื่อนสังคม” มุ่งขับเคลื่อนประเด็นสังคมและสิ่งแวดล้อม
‘ภาสกร‘ แนะรุ่นน้อง บางทีเราจำเป็นต้องแข็งขืนในการทำข่าว เพื่อสร้างความรู้ให้สังคมไทย ย้ำ อย่าสนใจแต่ยอดแชร์ ยอดไลค์
เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 67 สำนักข่าว The Reporters จัดโครงการ ”We Are The Reporters สื่อเพื่อขับเคลื่อนสังคม“ โดยมี นายภาสกร จำลองราช ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวชายขอบ นางสาวฐปณีย์ เอียดศรีไชย สำนักข่าว The Reporters นายณัฐนนท์ เจริญชัย และนางสาวณัฐพร สร้อยจำปา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าว The Reporters เป็นผู้ร่วมเสวนาในหัวข้อ “การใช้สื่อเพื่อขับเคลื่อนสังคม” ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 3 อาคารฝึกประสบการณ์วิชาชีพเชิงบูรณาการ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร กรุงเทพมหานคร (กทม.)
นายภาสกร เปิดเผยถึงการริเริ่มก่อตั้งสำนักข่าวชายขอบ ว่าเริ่มจากที่ตนเองได้ลงพื้นที่ทำข่าวตามพื้นที่ชายขอบ และมีความต้องการที่จะขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม สิ่งแวดล้อมและที่ดิน โดยใช้พลังของสื่อมวลชน เป็นกระบอกเสียงในการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ เพื่อช่วยคลี่คลายปัญหา และผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายในการช่วยเหลือประชาชน
สำนักข่าวชายขอบ เป็นสำนักข่าวที่ช่วยผลักดันปัญหาสิ่งแวดล้อม กลุ่มชาติพันธุ์ และปัญหาชายแดน ซึ่งคำว่าชายขอบไม่เพียงหมายถึง พื้นที่ห่างไกลอย่างเดียว แต่รวมไปถึงคนจน คนสลัม คนไร้บ้าน ที่อาศัยอยู่ในเมือง จาก ประสบการณ์การลงพื้นที่ด้วยตนเอง ทำให้เห็นช่องว่าง ความแตกต่าง และความเหลื่อมล้ำของงานข่าว ซึ่งข่าวในยุคอดีตและปัจจุบัน การวางตัวของนักข่าวและสำนักข่าว ไม่ได้ให้นํ้าหนักของแต่ละข่าวอย่างเท่าเทียมกัน แต่จะเน้นไปที่ทางการเมืองและเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งไม่ได้ลงลึกไปถึงปัญหาโครงของสังคมไทย
นายภาสกร กล่าวว่าการใช้สื่อเพื่อสังคมในยุคปัจจุบัน ถือว่าง่ายกว่าในอดีตมาก เพราะมีช่องทางที่หลากหลาย ปัจจุบันมีปริมาณสื่อใหม่จำนวนมาก และคนที่ต้องการสร้างคอนเทนท์เยอะมากขึ้น สื่อส่วนใหญ่จึงพยายามหาเเง่มุมต่างๆ เพื่อเอาใจผู้คน แต่มีความตื้นเขินของเนื้อหา หรือการพาดหัวข่าวที่หวือหวา เพื่อเรียกยอดผู้ชม แต่เมื่อคลิกเข้าไปดูแล้วไม่มีอะไรเลย
ซึ่งเป็นการสร้างความสับสนให้กับสังคม และไม่ผลักดันให้เกิดกระบวนการคิดของคนในสังคม
“งานข่าวที่สนใจแต่ยอดแชร์ ยอดไลค์ โดยที่ไม่มุ่งเน้นไปที่ความรู้ ถือเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเสพข่าวที่ไม่มีคุณภาพ” นายภาสกรกล่าว
นายภาสกร กล่าวต่อว่า บางทีเราก็จำเป็นที่ต้องแข็งขืนในการนำเสนอข่าว เพื่อเติมความรู้และนำเสนอข่าวประเด็นสังคม สิ่งแวดลอม เข้าไปในสื่อกระแสหลังบ้าง เพื่อให้คนไทยได้รับรู้ และช่วยขับเคลื่อนสังคม ซึ่งในมุมมองของตนเองมองว่า งานข่าวเปรียบสะเหมือนช่องทางให้คนในพื้นที่ห่างไกลได้แสดงตัวตน เพื่อส่งเสียงให้ผู้กำกับนโยบายรับรู้และแก้ปัญหา เช่น ข่าวปัญหาสิทธิชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ข่าว สถานการณ์มนุษยธรรมชายแดนรัฐกะเหรี่ยง และข่าวอาชญากรรมออนไลน์และการค้ามนุษย์ชายแดนไทย-พม่า ที่ตนเองทำและผลักดันอยู่ในปัจจุบัน โดยมีกรณีตัวอย่าง ดังนี้
นางสาวฐปณีย์ กล่าวถึง กรณีการนำเสนอข่าวข้าวสาร 700 กระสอบ ที่แม่น้ำสาละวิน และสถานการณ์ มนุษยธรรมชายแดนรัฐกระเหรี่ยง จนมีการตั้งคำถามที่มาของข้าวสารเหล่านั้น และประเด็นเรื่องชายแดนในวงกว้าง ภาคประชาสังคมออกมาตั้งคำถามเพิ่มเติม จึงทำให้ประเด็นข่าวนี้นำไปสู่ประเด็นสาธารณะ จนสุดท้ายข้าวสาร 700 กระสอบนั้นถูกเคลื่อนย้ายออกไป
ฐปณีย์ ย้ำว่าการได้ลงพื้นที่ การได้หาข้อมูล การได้พูดคุยกับแหล่งข่าว เป็นสิ่งที่สำนักข่าว The Reporters และสำนักข่าวชายขอบ มีนักข่าวลงพื้นที่ไปทำเองจริง ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นต่อข่าวที่ได้ทำออกไป
นายณัฐนนท์ เล่าประสบการณ์ที่เมืองเล่าก์ก่าย เรื่องของแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ และการค้ามนุษย์ หรืออาชญากรรมข้ามชาติ ประเทศพม่า ว่า การทำข่าวนี้เริ่มต้นจากการหาประเด็นข้อเท็จจริง และสัมภาษณ์แหล่งข่าวหรือผู้ที่เป็นเหยื่อโดยสัมภาษณ์ออนไลน์ เรื่องนี้ได้นำไปพูดถึงในที่ประชุมรัฐสภาโดยสภาผู้แทนราษฎร และขยายผลต่อในการนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะ กมธ.กฎหมายฯ และ กมธ.ความมั่นคงฯ เพื่อแก้ปัญหา และนักข่าวของสำนักข่าว The Reporters ได้นำประเด็นนี้ไปถามต่อนักการเมือง ทั้งในทำเนียบรัฐบาล และรัฐสภาเพื่อทำให้ประเด็นนี้เป็นที่พูดถึงมากขึ้น จนกระทั่งตัวประกันได้รับความช่วยเหลือให้เดินทางกลับมายังภูมิลำเนาในที่สุด
ด้านนางสาวณัฐพร เล่าถึงกรณีโครงการแลนด์บริดจ์ ทีมข่าว The Reporters ลงพื้นที่ไปทำเมื่อตอนประชุม ครม.สัญจร ที่จังหวัดระนอง โดยทางสำนักข่าวได้ลงพื้นที่ก่อนล่วงหน้า เพื่อนำเสนอมุมมองทั้งในฝ่ายของประชาชนในพื้นที่ และฝ่ายรัฐบาล ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วย และกลุ่มที่ต่อต้านในเรื่องนี้ การนำเสนอความคิดเห็นของแหล่งข่าวในหลากหลายมุมมอง ทำให้ข่าวที่นำเสนอออกไปประชาชนได้เห็นมุมมองที่หลากหลาย และตั้งคำถามกับกรณีนี้ แม้กรณีนี้จะยังไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน แต่อย่างน้อยนักข่าวได้สะท้อนเสียงของประชาชน ในมุมมองของความคิดเห็นที่แตกต่างจากรายงานผลกระทบโครงการแลนด์บริดจ์ของทางรัฐบาล
นายภาสกร ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า เป็นเรื่องที่ท้าทายของคนรุ่นใหม่ที่ทำข่าว มองว่าอยากให้วางแผน และอยากให้มองให้ลึกเกี่ยวกับเรื่องที่เรานำเสนอ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้กับสังคม ไม่เช่นนั้นก็จะตกอยู่ในวังวนของยอดไลก์และยอดแชร์ต่อไป