KNOWLEDGE

นักวิชาการ แนะรัฐนำเข้าเนื้อหมู 2 หมื่นตัน/ เดือน

ม.เกษตร จัดเวที “ทางรอดหมูแพง ผู้เลี้ยงอยู่รอด ผู้บริโภคอยู่ได้” นักวิชาการ แนะ รัฐนำเข้าเนื้อหมู 2 หมื่นตันต่อเดือน แก้ปัญหาหมูแพง-ASF เพิ่มขีดการแข่งขันให้ผู้เลี้ยงรายย่อย ชี้ ทุกคนผิดร่วมกัน ตั้งแต่ปศุสัตว์ยันผู้บริโภค 

วันนี้ (18 ม.ค 65) คณะเศรษฐศาสตร์ ร่วมกับ คณะสัตว์แพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเสนอผลการคาดการณ์ทางวิชาการเพื่อให้ข้อมูลกับสาธารณะถึงทางเลือกที่เหมาะสมของแนวทางแก้ไขปัญหาราคาหมูแพง ภายใต้สถานการณ์ที่ภาครัฐจำเป็นต้องเปิดให้นำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศ

ผศ.น.สพ.ณัฐวุฒิ รัตนวนิชย์โรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาของโรคอหิวาร์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส ส่งผลให้เกิดการป่วยและตายในสุกร โดยสุกรที่ติดเชื้อจะมีอัตราการตายสูงถึงร้อยละ 90-100 ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือสารออกฤทธิ์ที่สามารถยับยั้งไวรัสที่มีประสิทธิภาพที่ดีพอ จึงต้องใช้มาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ (Bio Security) และการทำลายสุกรป่วยที่ถูกต้อง เพื่อควบคุมป้องกันเนื้อสุกรที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อ ASF ให้ไม่ส่งผลหรือเป็นอันตรายใด ๆ ต่อผู้บริโภค 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 65 ภาครัฐประกาศว่าประเทศไทยพบเชื้อ ASF ทำให้ทุกภาคส่วนเข้ามาดูแลควบคุมป้องกันโรค และช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถกลับมาเลี้ยงสุกรได้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ

โครงสร้างการเลี้ยงสุกรของเกษตรรายย่อย ไม่ได้มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ เพราะฉะนั้นหากเกษตรกรรายย่อยจะกลับมาเลี้ยงสุกรใหม่ สิ่งที่สำคัญคือ ความรู้เรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพ ข้อดีของรายย่อยคือการบริหารจัดการที่รวดเร็ว แต่การลงทุนในระบบความปลอดภัยทางชีวภาพเต็มรูปแบบ จะทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ส่วนการให้สินเชื่อกับเกษตรกรรายย่อยต้องควบคู่ไปกับองค์ความรู้ โอกาสที่ผู้เลี้ยงรายย่อยจะกลับมาเลี้ยงสุกรได้อาจจะใช้ระยะเวลา 3 เดือนโดยประมาณ

สำหรับเรื่องจำนวนฟาร์มกับจำนวนสุกร ยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากต่างประเทศ ขนาดของฟาร์มใหญ่ขึ้นแต่จำนวนเกษตรกรลดลง กระบวนการนี้เกิดขึ้นโดยมีวิกฤตเป็นตัวเร่ง ฉะนั้นหากไม่ต้องการให้สถานการณ์นี้เกิดขึ้น รัฐอาจต้องเข้าไปช่วยเหลือหรือเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรกร

ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวถึงสาเหตุหลักของปัญหาเนื้อสุกรราคาแพงว่า เกิดจากปริมาณสุกรหายไปจากระบบมากกว่า 8 ล้านตัวนับตั้งแต่ปี 64 ส่งผลให้ราคาสุกรหน้าฟาร์มเพิ่มขึ้นจาก 80 บาทต่อ กก. ในช่วงต้นปี 64 เป็น 110 บาทต่อ กก. ในเดือน ม.ค.65 เนื่องจากอุปทานสุกรในปี 65 คาดว่าจะอยู่ที่ 10-12.5 ล้านตัว

ขณะที่อุปสงค์ หรือความต้องการเนื้อสุกรมีประมาณ 17 ล้านตัวลดลงจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อยจากระดับราคาที่เพิ่มขึ้น การระบาดของโควิด-19 และ ASF ส่งผลให้ขาดแคลนสุกรอยู่ 4.5 ล้านตัว คิดเป็น 2.7 หมื่นตันต่อเดือน ไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภค ส่งผลให้ราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กระทบต่อผู้ที่มีรายได้ต่ำ และส่งผลต่อความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของเนื้อสุกร

ส่วนสถานการณ์โรคระบาด และหมูแพงหากยังคงมีอยู่ต่อไป อาจจะเป็นการเอื้อต่อบริษัทรายใหญ่ในการส่งออก และนำเข้า ทำให้เนื้อหมูแพงตลอดกาล หรือไม่เช่นนั้น มองว่าเป็นระบบการคัดสรรตามธรรมชาติ (natural selection) ผู้แข็งแรงก็จะอยู่รอดได้ ประเด็นคือ ผู้เลี้ยงรายย่อย และผู้เลี้ยงอิสระต้ิงกลับมาแข็งแรงให้ได้ 

อ.ดร.สุวรรณา กล่าวว่ามูลค่าความเสียหาย คำนวนเป็นเงินที่หายไปในระบบราว 1.5 แสนล้านบาท สิ่งที่ทำให้ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้ เพราะทุกคนมีการกระทำผิดร่วมกัน ไม่ขอกล่าวโทษใครคนใดคนหนึ่งในอุตสาหกรรม เพราะการระบาดครั้งนี้รุนแรง ตาม กฎหมายต้องปิดฟาร์มแม้หมูจะเป็น หรือไม่เป็นโรค ถือเป็นภาระที่ยิ่งใหญ่ เพราะระบบการช่วยเหลือ การจัดการยังไม่พร้อม จำเป็นต้องแก้ปัญหาระยะยาว หากมีการประกาศโรคระบาด ASF ตั้งแต่กลางปี 64 อาจส่งผลกระทบถึงจำนวนสุกรในปี 65 ด้วย 

“ทุกคนผิดร่วมกัน แม้แต่ผู้บริโภคที่เลือกบริโภค ปฏิเสธเนื้อหมูติดเชื้อ คำถามคือฟาร์มเลี้ยงหมูจะอยู่อย่างไร” 

ผศ.ดร.เออวดี เปรมัษเฐียร อาจารย์ประจำวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร ได้อธิบายถึงที่มาของการคาดการณ์นี้ว่า เป็นการพัฒนามาจากงานวิจัยที่ได้รับทุนจาก สกสว. และสถาบันคลังสมองของชาติ โดยมีการปรับปรุงให้เข้ากับข้อมูลในสถานการณ์ปัจจุบัน จากนั้นจึงใช้แบบจำลองดังกล่าวเพื่อคาดการณ์ผลที่จะเกิดกับตลาดสุกรในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า ภายใต้แนวทางในการแก้ไขปัญหาเนื้อสุกรแพงด้วยวิธีที่แตกต่างกัน และนำเสนอว่า ถึงกรณีที่ยังไม่มีการเปิดให้นำเข้าไว้ว่า 

1.หากรัฐบาลเลือกที่จะปล่อยไปตามกลไกตลาดจะส่งผลให้ราคาเนื้อสุกรเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่า 8 เดือนและสามารถมีราคาที่เพิ่มสูงได้มากถึง 300 บาทต่อ กก. ในช่วงกลางปี

2.หากภาครัฐเข้ามาแทรกแซงโดยการอุดหนุนและกำหนดราคาเพดานที่ราคาหน้าฟาร์ม 110 บาทต่อ กก. รัฐจำเป็นต้องอุดหนุนราคาเพื่อรักษาระดับราคาตลาดให้คงที่ไว้ แต่อย่างไรก็ตามแนวทางนี้จะทำได้เพียงระยะสั้น เนื่องจากราคาที่แท้จริงจะยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงประมาณ 280 บาทต่อ กก. ในระยะกลางจะส่งผลให้ภาครัฐสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก

ผศ.ดร.ณัฐพล พจนาประเสริฐ อาจารย์ประจำวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร ได้เสนอข้อมูลว่า ภาครัฐแก้ปัญหาราคาเนื้อสุกรแพงได้โดยการนำเข้าจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป หรือ EU เนื่องจากเป็นเนื้อปลอดสารเร่งเนื้อแดงและปลอดโรค ASF ผลการคาดการณ์ทางเลือกที่เหมาะสมพบว่า ภาครัฐควรเปิดให้นำเข้าเมื่อราคาหมูหน้าฟาร์ม 120 บาทต่อ กก.

โดยพบว่าจะช่วยลดระดับราคาขายปลีกที่จาก 225 บาท เป็น 200 บาทต่อ กก. ที่ปริมาณนำเข้าร้อยละ 20 ของอุปสงค์หรือประมาณ 20,000 ตันต่อเดือน โดยควรนำเข้าโดยจำกัดปริมาณและต้องติดตามประเมินสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด และไม่ควรนำเข้าในปริมาณที่เกินกว่า 25,000 ตันต่อเดือน

“หากภาครัฐตัดสินใจเปิดให้นำเข้า ควรพิจารณานำเข้าในปริมาณและราคาที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบซ้ำเติมแก่ผู้เลี้ยง ต้องมีการพัฒนา เพื่อยกระดับมาตรฐานในอุตสาหกรรมสุกร” อ.ดร.สุวรรณา กล่าวทิ้งท้าย

Related Posts

Send this to a friend