KNOWLEDGE

สตรีกับงานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนโลก มุมมองที่เติมเต็มการพัฒนาอย่างสมบูรณ์

ในขณะที่สภาพแวดล้อม ภูมิอากาศของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ประเทศต่างๆ และองค์กรธุรกิจ ต่างหันมาให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่ไม่ทำร้ายธรรมชาติ รวมถึงการสร้างกรอบความร่วมมือต่างๆ ในระดับภูมิภาค และระดับโลกในการร่วมกันลดภาวะโลกร้อน และการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้วิทยาศาสตร์เพื่อการสร้างโซลูชั่น และทางเลือกในการพัฒนาที่มีความยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญอย่างมาก

นายแพทริค จีโร กรรมการผู้จัดการ ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ลอรีอัล ในฐานะบริษัทความงามที่ให้ความสำคัญทางด้านวิทยาศาสตร์ และการทำงานด้านสนับสนุนและเสริมสร้างพลังสตรี เล็งเห็นความสำคัญของการสนับสนุนพื้นที่ของสตรีในแวดวงวิทยาศาสตร์เสมอมา เพราะเราเชื่อว่าโลกต้องการวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ต้องการสตรี โดยเป็นเวลากว่า 20 ปีมาแล้วที่ลอรีอัล ประเทศไทย ได้มอบทุนสนับสนุนนักวิจัยสตรีไทยอย่างต่อเนื่อง เรายังมุ่งมั่นจะเดินหน้ามอบการสนับสนุนแก่นักวิจัยสตรีไทยต่อไป เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้วงการวิทยาศาสตร์ไทย รวมถึงผลักดันให้นักวิจัยสตรีไทยได้มีโอกาสเปล่งประกายบนเวทีโลก”

สอดคล้องกับคำกล่าวของ ดร.อัญชลี จันทร์แก้ว ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 1 ในนักวิจัยสตรีที่ได้รับทุนวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2565 ของลอรีอัล จากงานวิจัยหัวข้อ “บูรณาการระเบียบวิธีศึกษาทางทฤษฎีเพื่อพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธ์และวัสดุขั้นสูงสำหรับโรงกลั่นชีวภาพและสิ่งแวดล้อม” ที่แสดงความคิดเห็นไว้ว่า มุมมองของสตรีมีความสำคัญในการช่วยเติมเต็ม และขับเคลื่อนโลกได้อย่างสมบูรณ์ เพราะผู้หญิงมีมุมมองที่ละเอียด และสามารถให้แนวคิด หรือแง่มุมที่ทำให้เกิดการพัฒนาที่สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น

“งานวิจัยก็เหมือนงานศิลปะ” ดร.อัญชลีกล่าว “มันมีแง่มุม และมุมมองที่หลากหลาย ที่บางครั้งคนอื่นอาจจะไม่ทราบ อย่างการนำการคำนวณทางเคมีคอมพิวเตอร์มาใช้ในงานวิจัยทางเคมีและวัสดุศาสตร์ ช่วยร่นเวลา และลดค่าใช้จ่ายในการวิเคราะห์ทดสอบวัสดุใหม่ๆ ในห้องปฏิบัติการได้มาก ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาต่างๆ ได้เร็วขึ้นอีกด้วย”

ดร.อัญชลี กล่าวว่า รู้สึกขอบคุณที่ลอรีอัลเห็นความสำคัญของการวิจัยเชิงคำนวณที่ยังไม่เป็นที่รู้จักและเข้าใจในวงกว้างมากนัก แต่มีประโยชน์จริง และใช้ได้จริงเพื่อการพัฒนาประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติ และนำไปถึงการพัฒนาเพื่อโลกได้

นอกจาก ดร.อัญชลีแล้ว ในปีนี้ ลอรีอัล ประเทศไทย ยังได้มอบทุนวิจัย ให้กับนักวิจัยสตรีอีก 2 ท่าน คือ รองศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ชนก บัวเพชร จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กับงานวิจัยหัวข้อ “การบูรณาการคุณลักษณะทางนิเวศสรีรวิทยาของหญ้าทะเล เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูระบบนิเวศและความสามารถในการกักเก็บคาร์บอน” และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกวรรณ กองพัฒน์พาณิชย์ จากสำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) กับงานวิจัยหัวข้อ “การพัฒนาวัสดุโครงข่ายโลหะอินทรีย์ เพื่อการใช้งานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม”

ซึ่งงานวิจัยทั้ง 3 เรื่องในปีนี้ มีศักยภาพชัดเจนในการสร้างประโยชน์ต่อสังคมโดยเฉพาะเพื่อการพัฒนาประเทศ และการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงาน ลดการก่อคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจก และสามารถนำไปต่อยอดในการฟื้นฟูระบบนิเวศในอนาคต

รองศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ชนก กล่าวว่า “ระบบนิเวศหญ้าทะเลเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพ จัดเป็นหนึ่งในระบบนิเวศคาร์บอนสีน้ำเงิน ซึ่งมีบทบาทโดดเด่นในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แหล่งหญ้าทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กักเก็บคาร์บอนได้สูงสุด 6.8 เทระกรัมต่อปี ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุดถึง 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทว่าปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ประเทศไทยมีโครงการฟื้นฟูหญ้าทะเลมากว่า 20 ปี แต่ยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมและติดตามระยะยาวอย่างเป็นระบบ งานวิจัยนี้นับเป็นโครงการแรกในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่บูรณาการองค์ความรู้ด้านนิเวศสรีรวิทยาเพื่อเพิ่มความสำเร็จในการฟื้นฟูระบบนิเวศหญ้าทะเล ทีมผู้วิจัยเลือกศึกษาพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลที่สมบูรณ์และแหล่งหญ้าทะเลที่มีโครงการฟื้นฟู โดยมุ่งเน้นศึกษาหญ้าคาทะเล ซึ่งมีศักยภาพกักเก็บคาร์บอนสูงและเป็นชนิดหลักที่ใช้ฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลในประเทศไทย ผลการศึกษาจากงานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนการฟื้นฟูระบบนิเวศหญ้าทะเล ช่วยระบุสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม รวมถึงปัจจัยคุกคาม เพื่อเพิ่มโอกาสและความสำเร็จในการฟื้นฟูระบบนิเวศหญ้าทะเล นำไปสู่การลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และเป็นแนวทางในการจัดการทรัพยากรหญ้าทะเล เพื่อส่งเสริมศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนต่อไป นอกจากนี้ ทีมผู้วิจัยยังเล็งเห็นว่าการฟื้นฟูระบบนิเวศหญ้าทะเลยังเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ได้รับความสนใจทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เพราะไม่เพียงจะเพิ่มศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนของพื้นที่ชายฝั่ง แต่ยังนำไปสู่การเพิ่มแหล่งที่อยู่ของสัตว์ทะเล การรักษาระดับธาตุอาหารในน้ำ และการลดการกัดเซาะชายฝั่งได้อีกด้วย งานวิจัยนี้จึงจะเป็นประโยชน์ต่อแวดวงวิชาการระดับนานาชาติ สามารถนำไปต่อยอดการฟื้นฟูระบบนิเวศในพื้นที่อื่นๆ ได้เช่นกัน”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกวรรณ กล่าวว่า “การปนเปื้อนของโลหะหนักและสารอินทรีย์ที่ระเหยง่าย คืออีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์ งานวิจัยนี้ศึกษาวิธีดูดซับโลหะหนักที่มักพบปนเปื้อนในแหล่งน้ำ แหล่งปิโตรเลียม และน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรม โดยจะลงลึกเรื่องการพัฒนาวัสดุโครงข่ายโลหะอินทรีย์ (Metal-organic framework, MOF) เนื่องจากวัสดุดูดซับคุณภาพสูงที่ใช้กำจัดโลหะหนักหรือสารอินทรีย์ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ มักนำเข้าจากต่างประเทศและค่าใช้จ่าย งานวิจัยชิ้นนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดองค์ความรู้ความเข้าใจ ต่อความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างวัสดุและคุณสมบัติการดูดซับ และเป็นเสมือนการเปิดประตูสู่ความเป็นไปได้อีกนับไม่ถ้วน ที่จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งในชีวิตประจำวัน ในภาคอุตสาหกรรม และในระดับประเทศ โดยทีมผู้วิจัยก็ได้คำนึงถึงประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างองค์ความรู้พื้นฐานใหม่ในประเทศ ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ องค์ความรู้เหล่านี้จะสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาวัสดุ MOF สำหรับดูดซับสารชนิดอื่น หรือแม้กระทั่งพัฒนาวัสดุดูดซับชนิดอื่นๆ ได้ และเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะมีบทบาทและความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ไปจนถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในอนาคต”

ดร.อัญชลี กล่าวว่า “เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพสูง การผลิตสารเคมีชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มจากชีวมวลและของเหลือใช้ทางการเกษตรในโรงกลั่นชีวภาพ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างมูลค่าให้ทรัพยากรอย่างเต็มศักยภาพ งานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นบูรณาการระเบียบวิธีศึกษาทางทฤษฎี เพื่อพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธุ์และวัสดุขั้นสูงที่ราคาเหมาะสม ใน 2 หัวข้อหลักด้วยกัน หนึ่งคือเพื่อใช้ในกระบวนการสังเคราะห์สารมูลค่าเพิ่มจากชีวมวลในโรงกลั่นชีวภาพ และสองคือ เพื่อใช้ในการบำบัดก๊าซมลพิษ ได้แก่ ก๊าซเรือนกระจก NOx และ CO2 เป็นต้น งานวิจัยนี้จะสร้างชุดความรู้ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจเชิงลึกต่อคุณสมบัติวัสดุและปัจจัยบ่งชี้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพของวัสดุตามวัตถุประสงค์การใช้งาน นอกจากนี้ยังช่วยร่นเวลาและลดค่าใช้จ่ายในการวิเคราะห์ทดสอบวัสดุใหม่ๆ ในห้องปฏิบัติการ ลดความเสี่ยงการสัมผัสสารพิษในห้องปฏิบัติการ สร้างประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมโรงกลั่นชีวภาพ และขยายผลต่อยอดอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก”

นางสาวอรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กรและสื่อสารสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัท เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนสตรีในงานวิทยาศาสตร์มาอย่างต่อเนื่องตลอด 20 ปี โดยได้มอบทุนสำหรับนักวิจัยสตรีในไทยไปแล้ว 81 ท่าน จาก 20 สถาบัน ใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ โดยจะเดินหน้าสนับสนุนต่อไปเพื่อบรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมนักวิจัยสตรีไทย ให้ประสบความสำเร็จในเวทีระดับโลก และเป็นส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาประเทศ

Related Posts

Send this to a friend