KNOWLEDGE

ม.หอการค้าไทย ร่วมกับ คณะการจัดการการท่องเที่ยว นิด้า จัดสัมมนาขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและบริการ

คณะการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมมือกับคณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และภาคีเครือข่ายการท่องเที่ยว จัดงานสัมมนาและเสวนาหัวข้อ “ข้อคิดเห็นจากภาคธุรกิจต่อรัฐบาล ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและบริการอย่างไรให้มั่นคงและยั่งยืน” วันที่ 9 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00-12.00 น. ณ ห้องปฏิบัติการอีเว้นท์ (UTCC Event Lab) อาคาร 23 ชั้น 7 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยการเสวนาในครั้งนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจการท่องเที่ยวไทย รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากภาคธุรกิจถึงรัฐบาลชุดใหม่ในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและบริการของประเทศไทยมีความมั่นคงและยั่งยืน

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การท่องเที่ยวมีการเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคของไทย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ ที่จะขยายตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น การพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยจะต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ต้องป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาจนส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งหากจัดการได้ จะทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 20-30 ล้านคนตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การพัฒนาการท่องเที่ยวและบริการให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ต้องให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อน โดยการจัดตั้งรัฐบาลใหม่นั้น ต้องเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการท่องเที่ยวของประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่ต้องให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเป็นอันดับต้น ๆ เพราะเป็นอุตสาหกรรมหลักในการพัฒนาและฟื้นฟูประเทศ นอกจากนี้ การดำเนินงานต่างๆ ของภาครัฐ ควรเอื้อให้ภาคเอกชน สมาคม และภาคประชาชน มีส่วนร่วมในการดำเนินงาน เพิ่มความคล่องตัวและอำนวยความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการนักท่องเที่ยว ตลอดจนยังช่วยให้เกิดการกระจายอำนาจ กระจายงาน กระจายรายได้ให้คนในพื้นที่

“การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและบริการ ไม่ใช่การใช้อำนาจ แต่เป็นการให้อำนาจ การประสานงาน และรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย ดังนั้น ทุกกระทรวงต้องประสานการทำงานร่วมกัน และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยว ทำให้การท่องเที่ยวเกิดความสะดวก สะอาด ปลอดภัย ได้เอกลักษณ์ และสร้างความยั่งยืนได้” นายวีระศักดิ์ กล่าว

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยในปัจจุบัน พบว่า Demand สูง แต่ Supply ไม่พร้อม เนื่องจากมีอุปสรรคต่าง ๆ เช่น การเชื่อมต่อของระบบขนส่ง เที่ยวบินที่มีจำนวนจำกัด และนโยบายไม่ได้ถูกนำไปใช้อย่างจริงจัง ดังนั้น รัฐบาลใหม่จะต้องจัดการ Supply Site เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการที่สูงขึ้น ผลักดันให้การท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ สนับสนุนการทำงานแบบบูรณาการระหว่างภาครัฐและเอกชน สนับสนุนให้เอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยว ช่วยขับเคลื่อนนโยบายการท่องเที่ยวของไทยให้เติบโตและยั่งยืนต่อไปได้ นอกจากนี้ การ Redesign การท่องเที่ยวโดยเน้นคุณภาพ และความยั่งยืน ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้การท่องเที่ยวและบริการของไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย และสุกัญญา จันทร์ชู เลขาธิการสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) ร่วมกันให้ความคิดเห็นในประเด็นด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยว่า

1.ควรมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง

2.ดำเนินการให้ผู้ประกอบการที่พักแรมขนาดเล็กเข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อความเป็นธรรมด้านการแข่งขัน รวมถึงภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างทั่วถึง

3.จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะการให้กู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ

4.ผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ

5.สนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และโครงสร้างพื้นฐาน

6.ส่งเสริมการจัดการความยั่งยืนสำหรับธุรกิจต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

Related Posts

Send this to a friend