KNOWLEDGE

กรมวิทยาศาสตร์บริการ ดัน ‘เฝือกขาจากยางพารา’ ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยสำเร็จ

กรมวิทยาศาสตร์บริการ ดัน ‘เฝือกขาจากยางพารา’ ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยสำเร็จ หวังช่วยสร้างคุณค่าทางสังคม-เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กล่าวว่า วศ. ในฐานะองค์กรกำหนดมาตรฐานของประเทศไทย ประสานความร่วมมือกับนักวิจัยทั้งภายในและภายนอกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดทำมาตรฐาน หรือข้อกำหนดคุณลักษณะตามหลักการในการจัดทำมาตรฐานสากล หลังจากที่มีงานวิจัยและนวัตกรรมจำนวนมากไม่สามารถผลักดันสู่การใช้จริงได้ เนื่องจากยังไม่มีเกณฑ์กำหนดรับรองคุณภาพ โดยล่าสุด วศ.จัดทำข้อกำหนดคุณลักษณะเฝือกขาจากยางพารา (Bio-Slab) จนสามารถขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยของสำนักงบประมาณ และขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์จากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

งานวิจัยเฝือกขาจากยางพารา เป็นผลงานวิจัยของ นพ.นิยม ละออปักษิณ และทีมนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เกิดขึ้นตามนโยบายการเพิ่มการใช้ยางพาราภายในประเทศ ตามแผนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นอุปกรณ์ทางเลือกใช้แทนเฝือกปูนแบบเดิม

งานวิจัยนี้ประสบความสำเร็จตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 แต่ยังไม่มีการนำไปใช้จริง เนื่องจากยังไม่มีมาตรฐานรับรองคุณภาพของเฝือกขาที่ผลิตขึ้น จนกระทั่ง วศ. มีส่วนในการจัดทำข้อกำหนดคุณลักษณะของเฝือกขายางพาราดังกล่าว และได้ประกาศใช้ ข้อกำหนดคุณลักษณะเฝือกขาจากยางพารา DSS 4 กำหนดคุณลักษณะที่เหมาะสม เช่น ปริมาณยางพารา สมบัติทางฟิสิกส์ เพื่อใช้ควบคุมคุณภาพของเฝือก

ทั้งนี้ บัญชีนวัตกรรมไทยเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมไทย โดยผลิตภัณฑ์หรือบริการนวัตกรรมที่ขึ้นทะเบียนได้จะต้องมีคุณภาพตรงตามที่ระบุในเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ โดยหน่วยงานของรัฐที่มีความต้องการจัดซื้อจัดจ้างที่ตรงตามรายการในบัญชี สามารถจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงได้

Related Posts

Send this to a friend