KNOWLEDGE

ยูนิเซฟ เปิดตัวแคมเปญรณรงค์ #สงสัยไว้ก่อน ให้คิดทบทวนก่อนโพสต์ข้อมูลส่วนตัว

องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และเครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัย ประเทศไทย เปิดตัว แคมเปญรณรงค์ #สงสัยไว้ก่อน เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนรู้จัก “คิดทบทวนให้ถี่ถ้วน” ก่อนจะโพสภาพ วิดีโอ หรือข้อมูลส่วนตัวบนพื้นที่ออนไลน์ โดยแคมเปญนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน จากการล่วงละเมิด และแสวงประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์ หลังจากที่รายงานการศึกษาล่าสุด ชี้ให้เห็นว่าเด็กในประเทศไทยจำนวนมาก กำลังตกเป็นผู้เสียหายจากการล่วงละเมิด และการแสวงประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์ ทั้งนี้แคมเปญ #สงสัยไว้ก่อน เปิดตัวด้วยคลิปวิดีโอความยาว 1 นาที ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แม้มิตรภาพใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์น่าตื่นเต้น แต่ก็อาจมาพร้อมความเสี่ยง และอันตรายได้เช่นกัน

จากรายงาน หยุดยั้งอันตรายในประเทศไทย (Disrupting Harm in Thailand Report) ซึ่งจัดทำโดยยูนิเซฟ ร่วมกับเอ็คแพท และอินเตอร์โพล พบว่าในปี 2564 มีเด็กไทยอายุ 12-17 ปี กว่า 400,000 คน หรือเกือบ 1 ใน 10 คน เคยตกเป็นผู้เสียหาย จากการล่วงละเมิดและแสวงประโยชน์ทางเพศผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้มักเกิดขึ้น ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ และรูปแบบการล่วงละเมิดที่มักเกิดขึ้นบ่อยๆ คือ การที่ภาพหรือคลิปวิดีโอ ที่มีเนื้อหาทางเพศของเด็ก ถูกนำไปเผยแพร่ส่งต่อโดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม และมีการแบล็กเมล หรือข่มขู่ให้เด็กมีสัมพันธ์ทางเพศ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า “แคมเปญนี้สะท้อนความจำเป็นเร่งด่วน ที่เราทุกคนต้องร่วมกันแก้ปัญหา การขู่กรรโชกทางเพศเด็กทางออนไลน์ ซึ่งเราทุกคนมีบทบาทสำคัญ ในการคุ้มครองเด็กบนโลกออนไลน์ และทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน กระทรวงพม. มุ่งส่งเสริมพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย แก่เด็กและเยาวชน ขณะเดียวกันเรายังมีการดำเนินงาน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ในการให้บริการด้านการคุ้มครองเด็ก รวมถึงการตอบสนองต่อรายงาน การล่วงละเมิดและละเลยเด็ก เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อมีเหตุจำเป็นเกิดขึ้น เด็กและเยาวชนจะสามารถ เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้อย่างทันท่วงที”

นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการ องค์การยูนิเซฟประเทศไทย กล่าว “เราทุกคนต้องทำงานร่วมกันเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชน จากประสบการณ์เลวร้ายนี้ หน่วยงานทุกภาคส่วน ตั้งแต่หน่วยงานด้านการคุ้มครองเด็ก ตลอดจนฝ่ายบังคับใช้กฎหมา ยและบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง โดยเราเริ่มต้นได้จากการเสริมสร้าง ความตระหนักรู้ในกลุ่มเด็กและผู้ปกครอง ให้พวกเขามีความเข้าใจถึงความเสี่ยง และมีความระแวดระวัง ในการส่งต่อข้อมูลหรือมีปฏิสัมพันธ์ กับผู้อื่นบนโลกออนไลน์ รวมถึงมีทักษะในการหลบเลี่ยง หรือตอบสนองเมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์สุ่มเสี่ยง หรือตกเป็นเหยื่อของภัยออนไลน์ต่างๆ ด้วย”

นอกจากคลิปวิดีโอเพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้ เรื่องภัยออนไลน์แล้ว แคมเปญนี้ยังให้ความรู้และเคล็ดลับต่างๆ แก่เด็กและผู้ปกครอง เพื่อที่จะสามารถใช้อินเทอร์เน็ต ได้อย่างปลอดภัย และแคมเปญนี้ยังส่งเสริมให้เกิดการพูดคุย เกี่ยวกับปัญหาภัยออนไลน์ และสนับสนุนให้เด็กๆ ขอความช่วยเหลือ เมื่อพวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยง หรือเป็นผู้เสียหายจากการล่วงละเมิดทางเพศ และแสวงประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์ ทั้งนี้จากรายงานหยุดยั้ง อันตรายในประเทศไทย พบว่าเด็กที่เป็นผู้เสียหาย จากเหตุการล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์จำนวนมาก ไม่ทราบว่าจะต้องแจ้งเหตุหรือขอความช่วยเหลือได้ที่ไหน โดยมีเด็กผู้ประสบเหตุเพียง 1 ใน 3 คนเท่านั้นที่ไปแจ้งตำรวจ เด็กหลายคนโทษตัวเอง และคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของตัวเอง รายงานฉบับนี้ยังพบอีกว่าในหลายกรณี ผู้ก่อเหตุมักเป็นคนที่เด็กรู้จักอยู่แล้ว

ด้าน รศ.จุมพล รอดคำดี ประธานเครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัย กล่าวเสริมว่า “หากเราส่งเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล (Digital Literacy) และทักษะความฉลาดทางดิจิทัล (Digital Intelligence) ให้แก่เด็กและเยาวชน พวกเขาก็จะสามารถตัดสินใจได้อย่างรอบคอบ และเข้าใจถึงผลกระทบจากพฤติกรรมออนไลน์ของพวกเขาได้ เครือข่ายฯ หวังว่าแคมเปญนี้จะมีส่วนช่วยผลักดันเชิงนโยบาย ให้มีการออกกฎหมายที่เข้มแข็งขึ้น เพื่อรับมือปัญหาภัยออนไลน์ ที่กำลังขยายวงกว้างขึ้นอีกด้วย”

ขณะที่ นางนวลพรรณ ล่ำซำ หรือ มาดามแป้ง ทูตองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “ภัยออนไลน์สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน ทุกที่ และทุกเวลา เราต้องคิดไว้เสมอว่าเด็กๆ กำลังเผชิญหน้ากับอาชญากรมืออาชีพ ซึ่งมีประสบการณ์สูงในการล่อลวงเด็ก ดังนั้นเราจึงต้องพัฒนาทักษะและความรู้ของทุกฝ่าย รวมทั้งตัวเด็กเองด้วย เพื่อคุ้มครองพวกเขาจากภัยต่างๆ บนโลกออนไลน์ นี่เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่าย ต้องร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจัง และยกให้ประเด็นการคุ้มครองเด็ก เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนของทุกคน”

ประเทศไทยได้มีการจัดตั้ง เครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัยขึ้น ในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา โดยเป็นโครงสร้างความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย และรับมือกับความเสี่ยงและภัยออนไลน์ต่างๆ เครือข่ายฯ นี้นำโดยกระทรวง พม. มีสมาชิกจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ หน่วยงานภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ตัวแทนเด็กและเยาวชน องค์การระหว่างประเทศ รวมถึงยูนิเซฟ นอกจากนี้เพื่อเป็นการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัย รัฐบาลไทยยังได้กำหนดให้วันอังคาร ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์ เป็นวันอินเทอร์เน็ตปลอดภัย ซึ่งตรงกับวันอินเทอร์เน็ตปลอดภัยสากลด้วย

Related Posts

Send this to a friend