KNOWLEDGE

รวมพลังนำงานวิจัยใช้ แก้วิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 นำร่องพื้นที่ลำปางและสิงห์บุรี

ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานแถลงข่าว งาน “ววน.รวมพลังฝ่าวิกฤต PM2.5” ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการยกระดับศักยภาพ และขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อรวมพลังเครือข่ายภาคี นำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ แก้วิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 นำร่องพื้นที่เป้าหมายในสองจังหวัด ลำปางและสิงห์บุรี พร้อมขยายผลต่อในเชียงใหม่และขอนแก่น ที่มีแนวโน้มค่าฝุ่นละอองเพิ่มสูงขึ้น

ศ.พิเศษ ดร.เอนก กล่าวว่า “ทั้งนี้ อว.ตระหนักถึงปัญหา PM2.5 โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการบูรณาการขับเคลื่อนระบบวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ ได้กำหนดประเด็นการแก้ปัญหานี้ เป็นส่วนหนึ่งในแผนงานวิจัยในยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนของแผนด้าน ววน. โดยเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ ในระบบ ววน.ทั้งหน่วยบริหารและจัดการทุน รวมทั้งหน่วยวิจัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ มาร่วมขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น ข้อตกลงความร่วมมือด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรม ไปใช้ประโยชน์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ผ่านกลไกการทำงานของอนุกรรมการ ส่งเสริมการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม โดยเลือกประเด็นการแก้ไขปัญหาและลดฝุ่นควัน PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนของประเทศ มีพื้นที่ทดลองนำร่องในจังหวัดลำปางและสิงห์บุรี”

“จากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม และจุดไฟไหม้ในพื้นที่ของ 2 จังหวัดเป้าหมาย พบว่าจังหวัดลำปางมักเกิดจุดไฟไหม้ในพื้นที่ป่า ขณะที่จังหวัดสิงห์บุรีมักเกิดจุดไฟไหม้ ในพื้นที่เกษตรโดยเฉพาะไร่อ้อยและนาข้าว สกสว.จึงค้นหางานที่มีศักยภาพในพื้นที่ อาทิ ผลงานวิจัย Low-cost sensor (DUSTBOY) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำมาเชื่อมโยงข้อมูลให้ไปแสดงผลค่าฝุ่นละอองแบบเรียลไทม์ ร่วมกับสถานีวัดสภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษบนแพลตฟอร์มกลางบนเว็บไซต์ http://pm25air.opengovernment.go.th ซึ่งพัฒนาโดย ก.พ.ร.และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA โดยผู้แทนระดับจังหวัดสามารถนำข้อมูลระดับพื้นที่ขึ้นแสดงร่วมกันได้ เช่น ข้อมูลจุดเกิดไฟไหม้ในพื้นที่โล่ง ข้อมูลการขออนุญาตจัดการการเผา ฯลฯ ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสำคัญ และหน่วยงานในจังหวัดเป้าหมายสามารถบริการจัดการปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์

ด้าน ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ เกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม กล่าวว่า “การติดตามการดำเนินงานระดับพื้นที่ ว่าจุดความร้อนในทั้งสองจังหวัด ลดลงกว่าร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยใน 5 ปีก่อนหน้า โดยจังหวัดลำปางการเกิดจุดความร้อนลดลงจาก ปี 2564 จำนวน 3,549 จุด หรือร้อยละ 61 และพื้นที่เกิดไฟไหม้ลดลงร้อยละ 88 ขณะที่จังหวัดสิงห์บุรีปริมาณอ้อยไฟไหม้ เข้าหีบในฤดูกาลผลิตลดลงจากปี 2564 ร้อยละ 13 สถิติการลอบเผาตอซังข้าว และเศษวัสดุเกษตรอื่นๆลดลงร้อยละ 29”

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาในจังหวัดลำปาง สกสว. และ ก.พ.ร. และหน่วยงานภาคี ได้คัดเลือกงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการมุ่งเน้น การสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนในการลดการเผาในพื้นที่ป่า เช่น แพลตฟอร์มการสร้างรายได้ ป้อนกลับให้กับชุมชนที่ดูแลรักษาป่า ผ่านกลไกตอบแทนคุณนิเวศ รวมถึงการขยายผลงานวิจัย การบริหารจัดการป่าชุมชน เปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยว เป็นเกษตรปราณีต เพื่อสร้างรายได้และลดผลกระทบในพื้นที่ป่า ฯลฯ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ใช้ประโยชน์ และภาคเอกชนที่พร้อมสนับสนุน ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาในจังหวัดสิงห์บุรี ได้คัดเลือกงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง กับการใช้ประโยชน์และสร้างรายได้จากเศษวัสดุทางการเกษตร ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเผา เช่น แพลตฟอร์มที่ให้เกษตรลงทะเบียนในระบบติดตามการลดเผา เพื่อรับประโยชน์จากการจัดการชีวมวล เครื่องจักรขนาดเล็กที่ช่วยตัดสางใบอ้อยเพื่อลดการเผา การแปรรูปเศษชีวมวลเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง และระบบโลจิสติกส์เพื่อจัดการการซื้อขายเศษวัสดุเกษตรเพื่อใช้เป็นชีวมวล ฯลฯ”

รศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สกสว.กล่าวว่า “การวิเคราะห์ 4 ฉากทัศน์ของการจัดการฝุ่นและมลพิษทางอากาศ โดยการใช้ AI ประมวลผลจากงานวิจัยกว่า 20,000 ชิ้นงาน พบว่าหากได้ร่วมกันนำผลงานวิจัย มาใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ จะสามารถลดวันที่ฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในกรุงเทพมหานคร ได้ถึงร้อยละ 83.55 และลดโอกาสการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้โดยเฉลี่ยประมาณ 3,748 คนต่อปี”

ขณะที่ รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า “จะร่วมมือกับหน่วยงานในระบบ ววน. ก.พ.ร.และกรมควบคุมมลพิษ ดำเนินการต่อเนื่องในพื้นที่เป้าหมาย ทั้งสองจังหวัด และขยายผลในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งต้องการใช้ผลงานวิจัยขับเคลื่อน การดำเนินงานในระดับจังหวัด และเตรียมการขยายผล ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีแนวโน้มค่าฝุ่นละอองสูงขึ้นจากอุตสาหกรรมน้ำตาล ที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ สกสว.ได้เสนอแผนการขับเคลื่อนการนำผลงาน และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในปีงบประมาณ 2567 ด้วย”

Related Posts

Send this to a friend