สมาคมนักข่าวฯ จัดเสวนาผลกระทบ และความท้ายท้ายของนักข่าวยุค AI

สมาคมนักข่าวฯ จัดเสวนาเนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ชวนคุยผลกระทบ และความท้ายท้ายของนักข่าวยุค AI
วันนี้ (3 พ.ค. 68) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 2568 (World Press Freedom Day) ณ โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น จตุจักร กรุงเทพมหานคร
ช่วงหนึ่งในวงเสวนาหัวข้อ “เสรีภาพสื่อ VS AI Surveillance: ผลกระทบ โอกาส และความท้าทาย” ดำเนินรายการโดย ดร.โศภชา เอี่ยมโอภาส ประธานคณะกรรมการบริหารสถานี UTCC Station คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
รศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าตัวกำหนดเสรีภาพสื่อในปัจจุบันคือ AI คนข่าวตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกละเมิดสิทธิ์จากกรณีที่ใช้ AI มาทำงานแทน ทั้งยังมีปัญหาเรื่องการรั่วไหลของข้อมูลข่าวสาร และยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเซ็นเซอร์ และสอดส่องการทำงานสื่อผ่านขบวนการ IO โดยข้อดีของ AI คือช่วยให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แต่ข้อเสียคือสำนักข่าวอาจจะเป็นเหยื่อ แพร่กระจายข่าวปลอมจาก AI เสียเอง ดังนั้นคุณสมบัติที่สำคัญคือ Fact-checking
นายณัฐกร ปลอดดี บรรณาธิการฝ่ายตรวจสอบข้อเท็จจริง ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ AFP Thailand ย้ำว่าสื่อมวลชนต้องมีทักษะ Fact-checker เนื่องจากปัจจุบันระบบนิเวศของข้อมูลเปลี่ยนไปจากถูกดิสรัปชั่นโดย AI ในบริบทของสำนักข่าวจะใช้ AI ให้น้อยที่สุด เพราะไม่อยากให้เทคโนโลยีมาทดแทนทักษะของคน จะใช้เฉพาะงานที่ต้องถอดเทปหรือค้นหาข้อมูล ซึ่งต้องมีกระบวนการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวด้วย
นางสาวกัลยา ชินาธิวร ที่ปรึกษาด้านต่างประเทศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการ AI แห่งชาติ เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติของไทยในการใช้ประโยชน์จาก AI และพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะดิจิทัล และ AI Literacy etda พร้อมมีแนวทางสนับสนุนให้สื่อมวลชนและแพลตฟอร์มดิจิทัลผ่านของคู่มือแนวทางการประยุกต์ใช้อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับองค์กรพร้อมชุดเครื่องมือ (AI Toolkits)
สำหรับข้อห่วงกังวล AI สามารถใช้ผลิตเนื้อหาและกระบวนการข่าวที่เป็นข้อมูลเท็จ และข้อมูลบิดเบือนโดยเจตนา อาจสร้างข่าวปลอมที่มีความสมจริงจนยากที่จะแยกแยะ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการรับรู้ของประชาชน จึงเสนอให้สื่อมวลชนตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูล Cross check แหล่งข้อมูลต้นทาง เสริมทักษะการตรวจจับ Deepfake ใช้ AI อย่างมีจริยธรรม ส่วนประชาชนควรได้รับการส่งเสริมความรู้ด้าน Digital Literacy ด้วย
นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการใช้ AI ของสื่อมวลชนที่จะต้องมีจริยธรรมและความเป็นมืออาชีพ ใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ แต่จะต้องระบุที่มาและทบทวนข้อมูล พร้อมกับมีความรับผิดชอบซื้อสัตย์ต่อตนเอง วิชาชีพ สังคมและประเทศชาติด้วย เพราะเสรีภาพที่ไร้ความรับผิดชอบ เป็นภัยต่อสังคม