KNOWLEDGE

กสศ. คิกออฟ พรุ่งนี้ คัดกรองเด็ก รร.กทม. ร่วม กสศ.ลดปัญหาเด็กหลุดนอกระบบ

วันนี้ (2 ส.ค. 65) สภากรุงเทพมหานคร ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ไทยพีบีเอส และ The Reporters เปิดวงคุย “กทม. สองนคราแห่งความเหลื่อมล้ำ : สถานการณ์ ทางเลือก และอนาคต” โดย ดร. ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เผย กทม.สามารถเป็นเมืองแรกที่จะให้เงินอุดหนุนเด็กยากจน ระดับชั้นอนุบาลได้ ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีสังกัดใดที่อุดหนุนเงินยากจนให้กับเด็กอนุบาลมาก่อน ทั้งๆ ที่กลุ่มเด็กเล็กเป็นกลุ่มสำคัญ เป็นช่วงวัยที่ควรมีพัฒนาการสูง แต่จากการสำรวจกลับพบว่า ปัจจุบันเด็กเล็กมีพัฒนาการการเรียนรู้ล่าช้า ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถนับเลขได้ และยังเรียงเลขไม่ถูก กว่าจะถึงชั้นประถมศึกษาต้นก็สายไปเสียแล้ว

ดร. ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

โดยวันพรุ่งนี้ จะเป็นวันแรกที่ กสศ.จะวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับ 437 โรงเรียนสังกัด กทม. เพื่อเริ่มโครงการคัดกรองเด็กขาดโอกาสเข้าร่วมกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งหากการสำรวจ และทำข้อมูลเด็กยากจน และยากจนพิเศษภายใน กทม. แล้วเสร็จ จะสามารถนำเสนอให้สำนักการศึกษา กทม. พิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุน และหากสามารถสนับสนุนเด็กเล็กก่อนวัยเรียนได้ จะนับเป็นพื้นที่แรกที่ทำได้ และเป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่นๆ

ทั้งนี้ กสศ. มีเครื่องมือที่ช่วยให้การเก็บข้อมูลของครูง่ายดายขึ้น โดยมีแอปพลิเคชั่นสำหรับครู ที่ชื่อว่า CCT สามารถเข้าไปเยี่ยมบ้าน และกรอกข้อมูลต่าง ๆ สามารถถ่ายรูปภายในบ้านและนอกบ้าน เก็บข้อมูลพิกัดบ้าน เพิ่อพิจารณาเหตุผล และความยากจนเพื่อคัดสรรเด็กที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้เสนอภาพรวมเรื่องระบบเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายทางการศึกษา ภาระของผู้ปกครอง ข้อมูลการสำรวจจากสำสักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า โดยภาพรวมใน กทม. มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาต่อคนต่อปีของเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ประมาณ 37,000 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศที่ประมาณ 17,800 บาท หากคิดเป็นความแตกต่างจะแตกต่างประมาณ 2 เท่า โดยเฉพาะค่าเล่าเรียนจะเห็นถึงความแตกต่างระหว่างโรงเรียนในกรุงเทพ และต่างจังหวัดที่ค่อนข้างสูงมาก นับว่าเป็นประเด็นที่ชัดว่า โรงเรียนใน กทม. มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่สูงมากกว่าต่างจังหวัด

เมื่อเปรียบเทียบของเด็กที่ยากจนมากที่สุด และรวยที่สุด จะเห็นได้ว่ามีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาต่างกันถึง 70,000 บาท คิดเป็นความแตกต่างทางการศึกษาเป็น 12 เท่า

กสศ. มีการสำรวจคัดกรอง นักเรียนที่มีความยากจน และยากจนพิเศษใน กทม. ในโรงเรียนสังกัดสพฐ. นักเรียนที่ยากจนที่อาศัยอยู่ในกทม. มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 1,964 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศที่เฉลี่ยอยู่ที่ 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน นอกจากนี้ส่วนใหญ่ 75% ของนักเรียนที่ยากจนจะมีรายได้เพียงทางเดียว

สิบเอกดุษฎี ถิรธนกุล ประธานสภาเด็กและเยาวชน กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า อยากให้เพิ่มโครงการเรียนฟรี 15 ปีให้ครอบคลุมตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งปัจจุบันมีถึงแค่มัธยมต้น และควรก้าวข้ามจากการให้รัฐเป็นผู้สงเคราะห์ ส่วนการกู้ยืม กยศ.ควรก้าวข้ามไปเป็นการเรียนฟรีได้แล้ว ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเฉลี่ยแล้ว มากกว่ารายได้ที่ได้รับต่อครัวเรือน และ เพิ่มสวัสดิการอื่น ๆ สำหรับผู้เรียน เพราะมีอย่างอื่นที่นอกเหนือจากการไปเรียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การเดินทาง เช่น มีคูปองการเดินทางสำหรับนักเรียน หากมีการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ถือว่าเป็นประโยชน์สำหรับผู้เรียน และส่วนตัวผู้ที่ได้รับผลกระทบควรมีส่วนในการออกแบบนโยบายด้วย

Related Posts

Send this to a friend