POLITICS

กทม. ยกระดับ Street Food ได้มาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นประชาชน-นักท่องเที่ยว

วันนี้ (2 ส.ค. 65) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช และนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมหารือโครงการกรุงเทพอาหารริมทางอร่อยปลอดภัย (Bangkok Safety Street Food) หาแนวทางการดำเนินงานยกระดับ Bangkok Street Food กับผู้แทนสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร นายเจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย นายธรรศ ทังสมบัติ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และคณะ

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า สถาบันอาหารเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารปลอดภัย (Food safety) กับการพัฒนาคุณภาพอาหาร สอดคล้องกับนโยบายในการพัฒนาคุณภาพอาหารสตรีทฟู้ด (Street Food) รวมถึงร้านอาหารที่สำนักอนามัยดูแลด้วย ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีร้านอาหารมากกว่า 20,000 ร้าน สถาบันอาหารอยู่ตรงสะพานพระราม 8 มีความพร้อมทางด้านต่างๆ ทั้งสถานที่สำหรับการฝึกอบรม มีความรู้ มีห้องแล็บ วันนี้ได้หารือเบื้องต้นจะเน้นความร่วมมือในเรื่อง Street Food ก่อน ซึ่งกรุงเทพมหานครจัดกลุ่ม Street Food เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. ตลาดในชุมชนคือตลาดในชุมชนที่อยู่มานานหลายสิบปี
  2. ตลาดในเมืองสำหรับคนทำงานออฟฟิศ และ
  3. ตลาดนักท่องเที่ยว โดยช่วงแรกจะเน้นตลาดในเมืองและตลาดนักท่องเที่ยวก่อน อาจเป็นสุขุมวิท หรือสีลม

สถาบันอาหารจะเป็นตัวช่วยปูพรมว่าทุกร้านมีมาตรฐานตามที่กำหนด คิดว่าจะเริ่มโครงการนำร่องได้เลย มีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน ได้มอบรองผู้ว่าฯ ทวิดา ดูเรื่องสาธารณสุขอนามัย รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ดูเรื่องชุมชน โดยเลือกพื้นที่นำร่อง 2-3 จุดเพื่อเป็นบทเรียน Sandbox ก่อนที่จะขยายไปจุดอื่นต่อไป

ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า Street Food บ้านเรามีชื่อเสียงไปทั่วโลกแต่มีคำถามว่า Street Food บ้านเราสะอาดปลอดภัยไหม มีนักข่าวต่างประเทศเขียนบทความว่า Street Food ในไทยกินได้แต่ควรกินอาหารที่เห็นการปรุงจริงๆ แต่ถ้าเป็นการตักแล้วเสิร์ฟอย่ากินเพราะอาจทำให้ท้องเสียได้ จึงอยากให้ทุกคนกินอาหาร Street Food ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะไม่ท้องเสียและปลอดภัย จึงได้หารือเพื่อความร่วมมือกันเพื่อทำเรื่องนี้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านอาหาร Street Food ให้กับประชาชน

รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า เรื่องสาธารณสุขและความปลอดภัย จะพยายามให้ได้มาตรฐานในการประกอบอาหาร และกรุงเทพมหานครอยากได้รับความความช่วยเหลือและร่วมมือทั้งด้านวิชาการและด้านเทคนิค ที่จะทำตัวอย่างให้ประชาชนที่ประกอบอาหารในชุมชนหรือผู้ประกอบการรายย่อยสามารถสร้างความปลอดภัยของอาหารได้จากชุมชนเอง สามารถชูจุดเด่นที่เป็นอาหารของชุมชน ทำจากประชาชนโดยตรง เป็นอีกมุมที่สามารถช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ ทำให้กรุงเทพมหานครกลับมาเป็นพื้นที่ที่มีจุดเด่นด้านนี้ใ นการต้อนรับคนที่จะเข้ามาในกรุงเทพฯ ด้วย

ด้านนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กรุงเทพมหานครมีโครงการถนนคนเดินที่สำนักงานเขตจัดอยู่ เรื่องมิติอาหารปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ผ่านมาเคยไปที่สถาบันอาหาร เป็นสถานที่ที่ดีและมีพิพิธภัณฑ์ด้วย จึงอยากช่วยกันเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์อาหารด้วยก็จะมีโครงการต่อเนื่องไปว่าทำอย่างไรให้เด็กได้เรียนรู้ อาจพัฒนาทักษะด้านอาหารให้เด็กและเป็นพ่อครัวในอนาคตได้

“ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานสำคัญมาก ถ้ามีความร่วมมือที่เข้มแข็ง งาน กทม. ก็จะเดินหน้าได้อย่างดี เนื่องจากขณะนี้ผู้ค้าที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานมีไม่มาก มีเกรด A B C ซึ่งที่ได้ A ยังมีน้อย ต้องพูดความจริง จึงได้หารือถึงความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจริงๆ เพราะมีข้อจำกัดหลายเรื่อง ร้านอาหารเองยังผ่านยาก คุณภาพเป็นเรื่องสำคัญ หากมีคุณภาพที่ดี มีแหล่งเงินทุนที่ดี มันส่งผลถึงการพัฒนา อาจไม่ต้องอยู่บนถนนตลอดสุดท้ายอาจหลุดจากถนนเข้าไปสู่ระบบร้านอาหารได้” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

ผู้ว่าฯ กทม. ยังกล่าวด้วยว่า ในการพัฒนา Street Food เป็นส่วนหนึ่งในการรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติด้วย แต่หัวใจหลักคือตลาดชุมชน กับตลาดคนทำงานออฟฟิศ ถือเป็นตลาดหลักต้องเริ่มทำ เมื่อเลิก Work From Home กลับมาทำงานปกติความต้องการอาหาร Street Food มากขึ้น โดยเฉพาะค่าครองชีพสูงขึ้น คนก็จะหาอาหารที่ถูกลง ส่วนเรื่องนักท่องเที่ยวเป็นประเด็นสำคัญไม่ใช่แค่อาหารต้องดูเรื่องหาบเร่ขายของที่ระลึกด้วยเริ่มเห็นกลับมาขายได้สั่งการให้มีการดูแลเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อย จุดสำคัญคือแต่ละพื้นที่ต้องมีกรรมการเข้ามาดูแลกันเอง ไม่สามารถใช้มาตรฐานเดียวกันได้ทั้งหมดแต่มาตรฐานความสะอาดสามารถใช้อันเดียวกันได้

ส่วนการดูแลภาพลักษณ์ การบริหารจัดการ แต่ละชุมชนต้องช่วยดูแลเพราะสามารถทำให้เป็นระเบียบได้ หากพื้นที่ไหนทำไม่ได้อาจจะต้องยกเลิกทั้งพื้นที่ ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ขณะเดียวกันถ้าเอกชนที่เข้มแข็งในพื้นที่เข้ามาช่วยได้ก็ดี ไม่ยากที่จะหาแนวร่วมมาช่วยดูแล ลักษณะรูปแบบจะเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ไป หาบเร่แผงลอยไม่ใช่เรื่องง่าย มีหลายมิติ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน

Related Posts

Send this to a friend