HUMANITY

‘ชาวบางกลอย’ ร่วมยื่นหนังสือถึงยูเอ็น เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหาทางแก้ปัญหาและคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงบางกลอย

วันนี้ (10 ก.พ.64) ที่องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย กลุ่มประชาชนกระเหรี่ยงบางกลอย ประมาณ 20 คน นำโดย นายเกรียงไกร ชีช่วง ผู้แทนสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เดินทางมายื่นหนังสือต่อองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย เพื่อเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติดำเนินการนำข้อเรียกร้องของชาวบางกลอยส่งไปยังรัฐบาลให้เร่งแก้ไขปัญหาที่ชาวบางกลอยกำลังประสบอยู่

อย่างไรก็ตาม นายเกรียงไกร เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ โดยส่วนหนึ่งของแถลงการณ์นั้น ระบุว่า มีชาวบ้านจากบางกลอยล่าง ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จำนวนประมาณ 70 คน ได้เดินทางกลับขึ้นไปที่บางกลอยบนใจแผ่นดิน ซึ่งเป็นหมู่บ้านดั้งเดิมของพวกเขา หลังต้องเผชิญกับความยากลำบากจากการขาดที่ดินทำกินกว่า 20 ปี ซึ่งชนเผ่าพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงถูกอพยพลงมาครั้งแรกในปี 2539 ด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่ใกล้ชายแดนไทย-พม่า หลังจากที่ลงมาแล้วไม่มีที่ทำกิน ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงอพยพย้ายกลับขึ้นไปอยู่ที่เดิมอีกและถูกอพยพลงมาอีกครั้งในปี 2554
 

โดยการอพยพในครั้งนั้นมีการใช้ความรุนแรงและมีการเผาบ้านและยุ้งข้าวชาวบ้านด้วย ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่คำนึงถึงวิถีการดำรงชีวิตตามประเพณีของชุมชนกะเหรี่ยงที่ต้องพึ่งพาการทำไร่หมุนเวียน และการประกอบอาชีพอื่นๆ ตามประเพณีที่ยั่งยืนอยู่ ในขณะนั้นชาวบ้านที่อพยพกลับขึ้นไปชุมชนดั้งเดิมมีความกลัวว่าจะประสบปัญหาเฉกเช่นเดียวกับที่เคยเจอมาจากการกระทำของรัฐ จึงอาศัยอยู่ด้วยความหวาดผวา

อย่างไรก็ตาม องค์กร หรือหน่วยงานที่ลงชื่อท้ายแถลงการณ์ ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยรีบหาทางแก้ไขปัญหาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยให้ความคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงที่ต้องการเดินทางกลับไปอยู่ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของตนเอง จึงเสนอ 4 ข้อเรียกร้องต่อองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย ได้แก่
 
1.ให้รับรองสิทธิของชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยง ตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มติคณะรัฐมนตรี 3 ส.ค. 2553 และเคารพในหลักการและกลไกของพันธกรณีระหว่างประเทศที่ได้ลงนามหรือได้รับรองไปแล้ว
 
2.รัฐบาลต้องรับรองว่าสมาชิกชุมชนที่เดินทางกลับไปอยู่ที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน สามารถอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ตามบรรพบุรุษได้และต้องไม่มีการบังคับอพยพ ข่มขู่คุกคาม หรือดำเนินคดีโดยเด็ดขาด
 
3.ขอให้กระบวนการและขั้นตอนการขึ้นทะเบียนมรดกโลกสอดคล้องกับหลักการสากลและการรับฟังความคิดเห็นก่อนการตัดสินใจร่วมกันกับชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองในเขตพื้นที่ป่าแก่งกระจาน
 
4.ให้ยอมรับชนเผ่าพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยงในฐานะเป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศและตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของพวกเขาในฐานะผู้พิทักษ์และการดูแลรักษาระบบนิเวศ
 

Related Posts

Send this to a friend