FEATURE

ใช้หลักองค์รวม ดูแลผู้สูงวัยให้อายุยืนแบบสุขภาพดี ท่ามกลางมลพิษทางอากาศ และออนไลน์

การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ถือได้ว่าเป็นหลักในการสร้างเสริม คุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย ให้ยืนยาวและไร้โรคภัย แต่ทว่าปัจจุบันปัญหามลภาวะอย่างฝุ่น PM 2.5 ที่พุ่งสูงในหลายพื้นที่ ทั้งภาคเหนือ อีสาน รวมถึงกทม.จึงส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนในหลายสิบจังหวัด โดยเฉพาะอาการเจ็บป่วยเกี่ยวกับทางเดินหายใจ อย่างปอดอักเสบ โรคไข้หวัด โรคผิวหนัง ฯลฯ หรือแม้แต่ภัยโซเชียลจากแก็งค์มิจฉาชีพ ที่ทำให้สูญเสียเงินทอง ถือเป็นสิ่งที่อันตรายต่อผู้สูงอายุ เนื่องจากคนวัยนี้มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี น้อยกว่าคนวัยอื่นๆ เพื่อดูแลคนวัยนี้ให้มีสุขภาพดี และมีความสุข ท่ามกลางภัยต่างๆที่อยู่รอบตัว

The Reporters ได้สอบถามไปยัง “ผศ.สาวิตรี สิงหาด” อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับหลัก ในการสร้างสุขภาพผู้สูงวัย ที่ยืนยาวแบบสุขภาพดี ภายใต้หลักองค์รวม ที่ประกอบด้วยการดูแลร่างกาย จิตใจ สังคม อารมณ์ และจิตวิญญาณ ที่ไม่เพียงช่วยให้คุณตาคุณยายมีภูมิคุ้มกันป้องกันโรค แต่ยังทำให้มีสังคมและมีเพื่อนวัยเดียวกัน อย่างการเดินทางท่องเที่ยว ในสภาวะแวดล้อมที่อากาศบริสุทธิ์ โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่อยู่ภาคเหนือ ที่กำลังประสบปัญหามลพิษอยู่ในขณะนี้ รวมถึงการให้ความรู้ ในการดูแลและรับมือภัยโซเชียล ผ่านทางโรงเรียนผู้สูงอายุ ก็ช่วยติดอาวุธในการดูแลตัวเองของคนหลัก 5 หลัก 6 ได้เช่นกัน

ผศ.สาวิตรี กล่าวว่า “การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม คือการดูแลทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม อารมณ์และจิตวิญญาณ เริ่มจากการ “ดูแลร่างกายให้แข็งแรง” ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ รวมถึงอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยป้องกันฝุ่น PM 2.5 เช่น กลุ่มอาหารรสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะนาว สตรอว์เบอร์รี่ และผักที่วิตามินเอ ที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และระบบทางเดินหายใจ เช่น แครอท,ตำลึง,ผักบุ้ง,ฟักทอง,มันเทศ,มะม่วง,มะละกอ,แคนตาลูป,น้ำมันตับปลา,เครื่องในสัตว์,ไข่แดง รวมถึงผักที่มีสีเขียวเข้ม สีเหลือง สีส้มก็ช่วยได้เช่นกัน เนื่องจากฝุ่นพิษนั้นเป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบ โรคมะเร็งปอด โรคไข้หวัด หรือแม้แต่โรคผิวหนังฯลฯ และหากผู้สูงอายุที่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ หรือภาพอีสานบางจังหวัด ที่ค่อนข้างมีฝุ่น PM 2.5 เยอะนั้น ก็พยายามอยู่ที่ที่มีอากาศปลอดโปร่ง เช่น ในบ้านที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก งดทำกิจกรรมกลางแจ้ง และเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัด หรือพื้นที่ที่มีคนอยู่จำนวนมาก เนื่องจากผู้สูงวัยมักจะมีภูมิคุ้มกันโรคที่ต่ำ ดังนั้นถ้าอยู่ในที่มีคนจำนวนมาก จะทำให้เสี่ยงติดเชื้อโรคหรือป่วยได้ง่าย ที่สำคัญต้องใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา หมั่นล้างมือบ่อยๆเพื่อลดการสัมผัสฝุ่นพิษให้น้อยที่สุด”

ส่วน “การดูแลจิตใจ” นั้นการเข้าวัดทำบุญ ก็ช่วยทำให้จิตใจผ่องใส การสวดมนต์ปฏิบัติธรรม ตามโอกาสอันสมควร หรือแม้แต่การให้อภัยผู้อื่น และมองโลกด้วยความเข้าใจ ก็ถือเป็นการสร้างพลังบวกที่ช่วยทำให้จิตใจผู้สูงวัยแจ่มใสเช่นกัน นอกจากนี้ “การเข้าสังคม” เช่น ปัจจุบันมีโรงเรียนผู้สูงอายุอยู่ในทุกชุมชนทั่วประเทศนั้น การพาผู้สูงอายุเดินทางท่องเที่ยว ในต่างจังหวัดที่มีปัญหามลพิษน้อย หรือพาคุณตาคุณยายไปอยู่ใน สภาวะที่มีอาการบริสุทธิ์ชั่วคราว เช่น มีต้นไม้ ภูเขา ในภาคอีสานบางจังหวัด รวมถึงภาคใต้ที่มีทะเลสวยงาม ตรงนี้ไม่เพียงช่วยเปลี่ยนสถานที่จากปัญหามลภาวะ แต่ยังช่วยคลายเหงาป้องกันโรคซึมเศร้า ให้กับผู้สูงวัยได้ ที่สำคัญยังทำให้คนวัยนี้มีเพื่อน จากการเดินทางทัศนะศึกษาร่วมกันอีกด้วย หรือแม้แต่การที่ลูกหลาน พาผู้สูงวัยไปอยู่ในจังหวัดที่ตัวเองอยู่อาศัย ซึ่งมีฝุ่น PM 2.5 น้อยเป็นการชั่วคราว ก็ช่วยทั้งเปลี่ยนอากาศ และสร้างความผูกพันให้กับครอบครัวได้ เพราะคุณตาคุณยายก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่ถูกทอดทิ้ง อีกทั้งยังลดปัญหาสุขภาพจากฝุ่นพิษจิ๋วอีกด้วย

ทั้งนี้การดูแลเรื่อง “อารมณ์ของผู้สูงวัยให้แข็งแรง” นั้น สามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้ เช่น การที่ผู้สูงวัยเล่นเกมในมือถือสมาร์ทโฟน ก็ช่วยทั้งฝึกสมองและเสริมสร้างความผ่อนคลาย หรือ ดูข้อมูลข่าวสารจากแอพพิเคชั่นต่างๆ เช่น TikTok หรือเฟสบุ๊ก ก็ทำให้ก้าวทันโลกมากขึ้น นอกจากนี้ “การออกกำลังกาย” ให้เหมาะสมกับวัย เช่น การเดิน การว่ายน้ำ ฯลฯ ก็ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ และป้องกันการหกล้มได้ ที่ลืมไม่ได้นั้น “การตรวจสุขภาพประจำปี” ก็จะช่วยควบคุมโรคและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด กรณีที่ผู้สูงอายุป่วยโรคเบาหวาน และควบคุมระดับความดันโลหิตได้ สำหรับผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิต ที่สำคัญการตรวจสุขภาพประจำปี ยังสามารถป้องกันโรค NCD หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้อีกเช่นกัน

รับมือภัยโซเชียลผู้เกี่ยวข้องเร่งให้ความรู้คนสูงวัย

สิ่งสำคัญที่สุดในการรับมือภัยโซเชียลในผู้สูงวัย ผู้เกี่ยวข้องจำเป็นต้องให้ความรู้ กับคุณตาคุณยายก่อน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในต่างจังหวัด ที่อาจจะมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล ที่เป็นประโยชน์ได้ไม่มากนั้น ภาครัฐควรมีการรณรงค์เรื่องนี้ เพื่อให้ความรู้กับผู้สูงวัย โดยผ่านโรงเรียนผู้สูงอายุที่อยู่ในแต่ละชุมชน เช่น บางชุมชนที่โรงเรียนผู้สูงอายุเปิด จันทร์ -พุธ-ศุกร์ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่)เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีที่ปลอดภัยทำอย่างไร รวมถึงกลโกงในรูปแบบต่างๆ ที่แฝงเข้ามาในการใช้มือถือสมาร์ทโฟน ที่สำคัญเมื่อพบปัญหาติดขัดในการใช้โซเชียล แนะนำให้รีบปรึกษาบุตรหลานหรือคนใกลชิดและผู้รู้ทันที ไม่กดหรือเพิ่มสิ่งต่างๆเองโดยไม่จำเป็น หรือสอนวิธีในการค้นคว้าหาความรู้ในอินเตอร์เน็ตที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตัวเองได้ เป็นต้น

Related Posts

Send this to a friend