POLITICS

วงเสวนา ‘“ปฏิรูปตำรวจ” ปฏิรูป หรือ ปฏิลวง?’

วันนี้ (10 มี.ค. 66) คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต จัดเสวนา ‘“ปฏิรูปตำรวจ” ปฏิรูป หรือ ปฏิลวง?’

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง กล่าวว่า งานตำรวจคืองานบริการที่รับใช้ประชาชน แต่ในความเป็นจริงองค์กรตำรวจคือองค์กรที่เก็บสะสมอำนาจไว้ และมีตำรวจจำนวนหนึ่งที่กระทำความผิดเสียเอง

นายชูวิทย์ เสนอแนวทางการปฏิรูปตำรวจว่า ควรทำให้องค์กรตำรวจเล็กลง ตัดตำรวจที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป เช่น ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจป่าไม้ ตำรวจรถไฟ ตำรวจน้ำ ตำรวจท่องเที่ยว เพื่อให้ตำรวจได้รับใช้ประชาชนมากขึ้น และควรลงโทษตำรวจที่ทุจริตคอร์รัปชั่นด้วยความรวดเร็ว

นายวิทยา แก้วภราดัย รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ในสายตาของนักกฎหมาย ตำรวจคือกองกำลังติดอาวุธที่ดูแลความสงบสุขในประเทศ อีกทั้งยังถือกฎหมาย 4,000-5,000 ฉบับในมือ แต่ไม่ได้รู้จริง แม้นักกฎหมายที่เรียนจบนิติศาสตร์มายังไม่สามารถเชี่ยวชาญกฎหมายทุกฉบับ จึงมองว่าตำรวจถือกฎหมายมากเกินไป

ด้าน รศ. พ.ต.ท ดร. กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการ คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ตำรวจเป็นอาชีพที่ใกล้ชิดกับประชาชน ต้องดูแลทุกข์สุขของประชาชน ให้ความเป็นธรรม ให้ความเสมอภาคกับประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกันแม้ประชาชนจะมีสถานภาพทางสังคมที่แตกต่างกัน แต่จากการวิจัย พบว่าในประเทศไทยเมื่อคนมีความแตกต่างด้านสถานสภาพทางสังคม ก็จะส่งผลต่อความแตกต่างด้านความยุติธรรมด้วย

รศ. พ.ต.ท ดร. กฤษณพงค์ กล่าวถึงรูปแบบองค์กรตำรวจในประเทศไทยว่า องค์กรตำรวจมีลักษณะการบังคับบัญชา มีชั้นยศ เหมือนกับทหาร ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว มองว่าองค์กรตำรวจที่มีลักษณะดังกล่าวส่งผลให้ตำรวจห่างจากประชาชน ทั้งด้านการรับฟังปัญหา การแก้ไขปัญหา รวมถึงการจัดการปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ

“ตำรวจในอังกฤษส่วนใหญ่จะไม่ตั้งด่าน เพราะใช้หลักคิดว่า ‘กิจการงานตำรวจเป็นความรับผิดชอบของประชาชน’ ก็คือ หากประชาชนบอกว่าการตั้งด่านไม่มีความจำเป็น ให้ใช้มาตรการอื่นในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหา ตำรวจก็จะไม่ตั้งด่าน”

พล.ต.ต. ดร. สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตำรวจต้องอยู่ข้างประชาชน ต้องคืนตำรวจให้ประชาชน

“ทุกวันนี้ตำรวจเดินทางผิดมาหลายสิบปีแล้ว นายพลที่เป็นคอขวด 2,000 กว่าคน ควรถูกลดชั้นลง ให้เหลือแค่ผู้บังคับการจังหวัดก็พอแล้ว เพื่อรับใช้ และใกล้ชิดประชาชน เราจะเห็นกรณีตั๋วช้าง ที่โครงสร้างทหารกดทับอำนาจ ไม่ให้ตำรวจขึ้นมาเป็นใหญ่ เพราะถ้าตำรวจเข้ากับประชาชนได้เมื่อไร ทหารก็เอาไม่อยู่ ตำรวจจะกลายเป็นเครื่องมือของประชาชนที่เอาไว้ต่อสู้กับทหารเมื่อมีการล้มอำนาจหรือรัฐประหาร” พล.ต.ต. ดร. สุพิศาล กล่าว

นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมระหว่างเพศ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงประสบการณ์ที่มีร่วมกับตำรวจ ดังนี้

1.นายชุติเดช สุวรรณเกิด ทีมงานของตนเอง ณ ขณะนั้น ถูกยิง 5 นัด ที่ตลาดนัดโกสุมรวมใจ ในปี 2544 ต่อหน้าลูกและภรรยา จนถึงตอนนี้เป็นเวลา 12 ปีแล้ว คดีไม่มีความคืบหน้า ซึ่งตำรวจที่ทำคดีนี้ก็ถูกกดดันไม่ให้สืบคดีต่อไปตนเองจึงตามสืบเองด้วยข้อมูลที่หาได้จากกล้องวงจรปิด แต่สุดท้ายก็ทำอะไรไม่ได้แม้มีหลักฐานชัดเจน ซึ่งรู้สึกเจ็บปวดมากกับกระบวนการตำรวจไทยในเหตุการณ์นี้

2.เคยพาเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศบนรถตู้ที่บริเวณสะพานควาย ไปแจ้งความที่ สน. พหลโยธิน โดยตำรวจก็สอบสวนเป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง และพาไปชี้ที่จุดเกิดเหตุสุดท้ายก็ได้คำตอบว่าที่เกิดเหตุไม่ได้อยู่ในอำนาจที่ สน. พหลโยธินรับผิดชอบ ต้องไปแจ้งที่ สน. บางซื่อ สุดท้ายแล้วเด็กผู้หญิงคนนั้นก็รู้สึกเจ็บปวดเกินกว่าที่จะเล่าเหตุการณ์นั้นซ้ำ ๆ

นายแทนคุณ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความไม่ยุติธรรม จึงเสนอว่า องค์กรตำรวจต้องปรับโครงสร้างจากแนวดิ่งเป็นแนวราบ ปรับลดอำนาจ ยศ ตำแหน่ง และเปลี่ยนจากอำนาจเป็นอำนวยให้มากที่สุด ด้วยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

นางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า หากคิดถึงตำรวจ จะคิดถึง 3 สิ่ง ได้แก่ อำนาจนิยม คือ ตำรวจเป็นระบบที่มีอำนาจ ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับประชาชนด้วยความรู้สึกที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน กลับเป็นความเกรงกลัวที่ประชาชนมีต่อตำรวจ ในองค์กรตำรวจเองก็มีความเป็นเจ้านายลูกน้อง แล้วตำรวจก็นำความรู้สึกนี้มาทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเป็นลูกน้องของตำรวจ

คอรัปชัน คือ เช่น ส่วย ตั๋วช้าง ที่เห็นได้จากข่าวในปัจจุบัน มีการเล่นพรรคเล่นพวกในวงการตำรวจ เมื่อมีการเปลี่ยนผู้บัญชาการ หลายอย่างก็เปลี่ยน

ชายเป็นใหญ่ คือ พนักงานสอบสวนมักไม่มีผู้หญิง พอเกิดเหตุทางเพศ ก็เกิดช่องว่างระหว่างผู้เสียหายที่เป็นผู้หญิง หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) กับตำรวจชาย

นางสาวธิดารัตน์ กล่าวถึงการปฏิรูปตำรวจว่า เป็นไปได้ แต่ต้องเกิดจากคนที่มีความตั้งใจจริง ๆ อย่างแรกต้องเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อระบบอำนาจนิยม ต้องให้ตำรวจเป็นผู้รับใช้ประชาชนในฐานะที่รับภาษีจากประชาชน ลดการใช้อำนาจที่ก่อให้เกิดความเกรงกลัว

เรื่อง/ภาพ: เจตณัฐ พิริยะประดิษฐ์กุล

Related Posts

Send this to a friend