ใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุข? ในช่วงวัยเกษียณ

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ทุกเวลา แต่ทว่าคนวัยเกษียณก็สามารถใช้ชีวิต ได้อย่างมีความสุข เพียงแค่ปรับใจและกายให้พร้อม ก็สามารถดำเนินชีวิต ในช่วงหยุดพักยาวๆ ได้อย่างสงบ และผ่อนคลาย แม้ว่าคนวัยนี้หลายคนอาจยังรู้สึก ไม่คุ้นเคยกับการหยุดทำงาน แต่ก็สามารถพลิกแพลงใช้โอกาสนี้ ในการดูแลตัวเอง ดูแลบ้าน หรือทำในสิ่งที่อยากทำ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนวัยหลัก 6 ให้มีความสุขทั้งกายและใจ
The Reporters ได้พูดคุยกับ “ผศ.ดร.พิมลพรรณ อิศรภักดี” นักวิชาการด้านประชากรและครอบครัว ที่ได้แนะนำเคล็ดลับการมีความสุขในช่วงวัยเกษียณ ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการปรับโหมดในการดำเนินชีวิต เมื่อคนวัยนี้ต้องหยุดพักจากการทำงานมาเป็นเวลานาน โดยที่ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะเป็นห่วงงาน เพราะทุกอย่างย่อมมีคนอื่นมาทดแทนเราได้ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องเป็นกังวลมากเกินไป อีกทั้งเมื่อต้องหยุดพักยาวๆ คนวัยเก๋าก็ยังสามารถทำงานที่ตรงกับความรู้ความสามารถ และเป็นประโยชน์กับคนรอบข้างได้เช่นกัน หรือใช้เวลาไปทำกิจกรรมพักผ่อนได้อย่างผ่อนคลาย เมื่อวัยเกษียณมาถึง

ผศ.ดร.พิมลพรรณ กล่าวว่า “การใช้ชีวิตให้มีความสุขช่วงวัยเกษียณ อันดับแรกนั้นคือเรื่อง “การปรับจิตใจ” ซึ่งคนวัยนี้ต้องคิดว่าทำอย่างไร เราจึงจะดำเนินชีวิตต่อไปในรูปแบบใหม่ได้ โดยเฉพาะการปรับความคิดว่าเราได้พักผ่อนแล้ว และจะได้ใช้ชีวิตโดยที่ไม่ต้องมีตาราง ในการทำงานเป็นตัวกำหนดชีวิต หรือไม่ต้องตื่นเช้าเพื่อออกไปทำงาน และการเกษียณราชการ จะทำให้เรารู้สึกสบายใจมากขึ้น ส่วนผู้ที่เป็นห่วงเรื่องงาน หรือกลัวว่าจะไม่มีใครทำงานแทนเรา ในความเป็นจริงแล้วทุกอย่าง สามารถมีคนมาทดแทนเราได้ ส่วนเรื่องการทำงานต่อแม้จะเกษียณแล้ว ซึ่งถ้าหากใครที่ยังไม่มีแผนว่าจะทำอะไร ก็แนะนำว่าไม่ต้องกังวลเรื่องนี้มากเช่นกัน แต่ขอให้คิดอยู่เสมอว่าชีวิต จะสามารถดำเนินต่อไปได้เรื่อยๆ ที่สำคัญขอให้เลิกคิดว่าเราจะไม่มีงานทำ เพราะจริงๆแล้วมนุษย์ทุกคนนั้น มีอะไรให้ทำอีกมากมาย”
ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว แต่ไม่ลืมเปิดประสบการณ์เรียนรู้ ด้วยการท่องเที่ยวกับเพื่อนวัยเก๋า
ผศ.ดร.พิมลพรรณ อธิบายว่า ในสมัยที่เรายังทำงานอยู่ หลายคนอาจจะไม่มีเวลาดูแลบ้าน หรือไม่มีโอกาสปรับปรุงต่อเติมบ้าน ก็สามารถใช้ชีวิตวัยเกษียณนี้ดูแลตกแต่งบ้านให้น่าอยู่ หรือคนที่ไม่เคยทำกับข้าวเอง เพราะซื้ออาหารสำเร็จรูปนั้น ก็สามารถเรียนทำอาหารหรือทำขนม กระทั่งการเรียนจัดดอกไม้ เรียนวาดรูป เล่นดนตรีฯลฯ ได้เช่นกัน โดยใช้โอกาสนี้ หรือแม้แต่การเลี้ยงดูลูกหลาน ซึ่งเป็นการใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ขณะเดียวกันก็หาเวลาออกไปเจอเพื่อน
“อย่างตัวอาจารย์เอง หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว วันหนึ่งได้ไปเที่ยวที่ จ.เชียงราย และก็สังเกตว่ามีรถตู้ของคนหลัก 6 ที่มาเที่ยวกันเป็นกลุ่ม ซึ่งดูแล้วน่าสนุกและได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวในชีวิตร่วมกัน ก็น่าจะตัวอย่างที่ทำให้หลายคน นัดรวมก๊วนท่องเที่ยว หรือนัดไปทำบุญร่วมกัน เป็นต้น”
“และจากการเดินทางไปที่ จ.เชียงรายในครั้งนั้น มีหลายคนบอกว่าที่วัดห้วยปลากั้ง มีโรงพยาบาลและมีการสนับสนุนทุนการวิจัย ในฐานะที่เราเองก็เป็นนักวิชาการฯมาก่อน ตรงนี้ก็ทำให้ตัวเองตัดสินใจไปดูงานที่วัดห้วยปลากั้งในทันที และหากย้อนกลับไปขณะที่เราทำงานอยู่ก็ไม่เคยคิดที่จะไปดู แต่เคยเห็นข่าวในทีวี ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจึงอยากบอกว่า ช่วงวัยเกษียณนั้นทำให้ตัดสินใจ ในสิ่งที่ตัวเราอยากทำสิ่งต่างๆได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงาน หรือภารกิจที่อยากทำ ตรงนี้ถือเป็นข้อดีที่คนหลัก 6 สามารถนำไปปรับใช้ได้ค่ะ” ผศ.ดร.พิมลพรรณ กล่าว
คนวัยเก๋าไม่ชอบอยู่นิ่ง หาความรู้เพิ่มเติม เกี่ยวกับเทคโนโลยีและไอที ช่วยมีงานทำมีรายได้ ส่งเสริมความภูมิใจแม้วัยหลัก 6
ส่วนผู้ที่เคยทำงานประจำหรืองาน routine หรืองานเฉพาะด้าน ที่อยากทำงานต่อในวัยเกษียณนั้น หากไม่มีความรู้ความสามารถในเรื่องใหม่ๆ เพราะยุคนี้เป็นยุคของเทคโนโลยีและโซเชียล ก็จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้หรือศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ หากต้องการที่จะทำงานต่อ เป็นต้นว่าคนวัยเก๋าอยากขายของออนไลน์ ,ดาวติ๊กต๊อก,ยูทูปเบอร์สอนทำอาหาร สอนทำงานฝีมือ ฯลฯ ที่เป็นความสามารถส่วนบุคคล เพื่อเผยแพร่ให้ผู้สนใจติดตามผ่านทางออนไลน์
ซึ่งต่างจากคนที่เคยทำงานเป็นนักวิจัย หรือนักวิชาการด้านต่างๆ ที่แม้ถึงวัยหลัก 6 แล้ว ก็ยังสามารถทำงานต่อ ในสาขาวิชาเดิมของตัวเองได้ ดังนั้นคนที่อยากทำงานต่อ ก็ให้พิจารณาจากความรู้ ความสามารถตัวเองเป็นหลัก และหมั่นศึกษาเพิ่มในสิ่งใหม่ๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องคิดว่าเราต้องตื่น 6 โมงเช้า เพื่อออกไปทำงานและกลับบ้านตอน 4 โมงเย็น แต่ให้คิดว่าเราควรใช้ชีวิตอย่างสบายๆ หรือทำในสิ่งที่ชอบและถนัด หรือทดลองทำในสิ่งที่ยังไม่เคยทำ ก็จะทำให้คนวัยเกษียณรู้สึกมีคุณค่า และภูมิใจในตัวเอง ซึ่งเป็นวิธีสร้างสุขอย่างง่ายๆ เช่นกัน

ตรวจสุขภาพเป็นประจำช่วยป้องกันโรค เสริมสร้างร่างกายคนวัยเกษียณให้แข็งแรงได้
นอกจากการใช้ชีวิต ให้มีความสุขในวัยหลัก 6 ด้วยการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ และเปิดใจเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆแล้ว ผศ.ดร.พิมลพรรณ ย้ำว่า “การดูแลสุขภาพร่างกาย” ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะการเลือกกินอาหาร ที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารในกลุ่มของโปรตีน ที่ย่อยง่ายและเหมาะกับช่วงวัยเกษียณแล้ว การออกกำลังกายด้วยการเดิน การเต้นแอโรบิค ว่ายน้ำฯลฯ และการหมั่นเคลื่อนไหวร่างกายด้วยงานบ้านแล้ว การตรวจสุขภาพเป็นประจำทุก 6 เดือน -1 ปี ก็ช่วยป้องกันโรครื้อรังได้ เพราะหลายคนมักจะคิดว่าตัวเองนั้นไม่เป็นอะไร แต่การใส่ใจสุขภาพ ด้วยการไปตรวจสุขภาพตามที่แพทย์นัด จะช่วยชะลอการเกิดโรคและควบคุมโรค ให้อยู่ในระดับปกติ ซึ่งดีกว่าการรอให้ป่วยเป็นโรคแล้ว จึงไปนั่งรอพบแพทย์ตามโรงพยาบาล
หมั่นดูแลผิวพรรณ-แต่งตัวแต่งหน้าเหมาะสมกับวัย เสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดี จากภายในสู่ภายนอก
“สิ่งที่ลืมได้สำหรับคนวัยเกษียณ คือการดูแลผิวพรรณ ด้วยการใช้ครีมบำรุงผิว เพื่อป้องกันริ้วรอยเหี่ยวย่น และการปล่อยให้ผิวพรรณแห้งกร้าน ยังนำมาซึ่งปัญหาโรคผิวหนัง อย่างอาการผิวแห้งคันได้และติดเชื้อที่ผิวหนังและกระแสเลือดได้ นำมาซึ่งอารมณ์ที่ไม่แจ่มใส รวมถึงการแต่งตัว เพราะการที่คนเราอายุมาก ไม่จำเป็นต้องปล่อยตัวให้ดูทรุดโทรม แต่การแต่งตัวและแต่งหน้าให้เหมาะกับวัย ช่วยเสริมสร้างบุคลิกภาพที่สดใส ทำให้คนวัยเก๋าอารมณ์ดี และทำให้คนที่อยู่รอบตัวรู้สึกเบิกบานไปด้วย เพราะอย่าลืมว่าคนวัยนี้อันที่จริงแล้วมีเอ็มเพาเวอร์ หรืออำนาจ ที่สามารถตัดสินใจทำอะไรได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นการที่คนวัยเกษียณจะมีความสุขกายสุขใจได้ ก็ต้องเลือกในสิ่งที่ตัวเองชอบ เป็น และถนัด รวมถึงการไม่หยุดเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆค่ะ”
นอกจากวิธีการสร้างสุข ในวัยเกษียณที่กล่าวมาแล้ว การที่คนวัยเก๋าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ก็จำเป็นต้องมีเงินออมไว้ใช้จ่ายยามชรา ดังนั้นคนวัยหนุ่มสาวก็จำเป็น ต้องเริ่มเก็บออมตั้งแต่อายุยังน้อยๆ โดยเก็บเงินให้ได้ 5-10 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนที่มีอยู่…งานนี้เมื่อเข้าสู่วัยหลัก 6 รับรองสุขภาพดีทั้งและใจ เพราะมีเงินจับจ่ายเป็นของตัวเอง…