ชำแหละต้นตอโรคระบาดหมู ASF พบ ปี 2562 มีซากหมูลอยตายไม่ทราบสาเหตุที่ ท่าขี้เหล็ก
![](https://www.thereporters.co/wp-content/uploads/2022/01/CoverR-JAN22_072-02.jpg)
ชำแหละต้นตอโรคระบาดหมู ASF ปี 2562 พบซากหมูลอยตายในแม่น้ำไม่ทราบสาเหตุที่ ท่าขี้เหล็ก ห่างแม่สาย 36 กม. ด้าน ‘ปศุสัตว์’ ประกาศพื้นที่เสี่ยงสูง 16 จังหวัด ก่อนพบหมูตายจำนวนมากที่ อ.แม่สาย ประกาศห้ามเคลื่อนย้ายหมูโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ยืนยันติดเชื้อ ASF หรือไม่ ฟาก ครม.เตรียมแผนรับมือ อนุมัติงบกลางแก้ปัญหา ASF ตั้งแต่ปี 2562-2565 กว่า 1,500 ล้านบาท
ว่าด้วยงบประมาณสำหรับเตรียมความพร้อมรับมือ ASF
ล่าสุดเมื่อวานนี้ (11 ม.ค.65) กรมปศุสัตว์ได้ประกาศ “ยอมรับ” พบเชื้อ ASF บริเวณโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งในนครปฐม ก่อนที่ในวันเดียวกัน ครม.จะมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 574,111,263 บาท เพื่อป้องกันโรค ASF โดยจะจ่ายเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม-15 ตุลาคม 2564 ตามมาตรา 13 (4) แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 โดยระบุถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง ทั้งต่อเกษตรกร โรงงานอาหารสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สุกร และธุรกิจการค้าเวชภัณฑ์ ซึ่งประเมินมูลค่าความเสียหายรวมไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท
หากไล่เรียงตั้งแต่ปี 2562-2564 ครม.อนุมัติงบประมาณอย่างน้อย 4 ครั้ง เพื่อให้สอดรับกับแผนเตรียมพร้อมรับมือกับอหิวาต์แอฟริกาในสุกร วันที่ 9 เมษายน 2562 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรให้เป็นวาระแห่งชาติ อนุมัติงบประมาณในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคเร่งด่วน ปีงบประมาณ 2562 จำนวนเงิน 53,604,900 บาท
วันที่ 24 มีนาคม 2563 ครม.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 งบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉิน เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร วงเงิน 523,244,500 บาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหรกรณ์เป็นผู้ขออนุมัติใช้งบฯ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ 2564 งบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 วงเงิน 279,782,374 บาท และอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มเติมในวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 อีก 140,277,426 บาท เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร รวมแล้วตั้งแต่ปี 2562-2565 ครม.อนุมัติงบกลางเพื่อแก้ปัญหา ASF แล้วกว่า 1,571,020,463 บาท
![](https://www.thereporters.co/wp-content/uploads/2022/01/CoverR-JAN22_072-03.jpg)
เริ่มมีสุกร “ตายปริศนา” ตั้งแต่ปี 62
ประเด็นสำคัญคือ ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบันมีสุกรล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้รับการสอบสวนสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง จึงมีการตั้งคำถามถึงเงินชดเชยของเกษตรกรายย่อยที่ต้องสูญเสียสุกร และไม่เคยได้รับเงินชดเชยใด ๆ
ทีมข่าว The Reporters ได้ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2562 ที่คาดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการตรวจพบหมูตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ย้อนกลับไปวันที่ 25 มกราคม 2562 กรมปศุสัตว์ส่งหนังสือถึงปศุสัตว์เขต 1-9 ให้ดำเนินการสำรวจโรงแรมและสถานที่พักของนักท่องเที่ยวต่างชาติจากประเทศที่พบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเข้ามาใช้บริการ ทั้งยังต้องสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคแก่เกษตรกรรายย่อย ซึ่งต้องส่งรายงานสรุปถึงสำนักงานปศุสัตว์เขต ภายในวันที่ 10 ของทุกเดือน หลังมีข่าวการแพร่ระบาดในจีน
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 หลังมีรายงานของคณะกรรมการเกษตรไต้หวัน (COA) ตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อ ASF ในผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรที่นำเข้าจากเวียดนาม กรมปศุสัตว์ได้ประเมินความเสี่ยงเชิงพื้นที่ต่อการเกิดโรคระบาดในไทย ส่งหนังสือถึงสำนักงานปศุสัตว์ทุกจังหวัด และขอให้ 16 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงมาก เสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาประกาศให้พื้นที่ทั้งจังหวัดเป็นพื้นที่เฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และหมูป่า ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร เลย อุตรดิตถ์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ สระแก้ว จันทบุรี และตราด จัดประชุมศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (war room) เพื่อเตรียมความพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ป้องกัน ปราบปราม การลักลอบนำเข้าสุกร หมูป่า ซากสุกร และซากหมูป่า และผลิตภัณฑ์เพื่อบริโภค ทั้งยังขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงแรม และร้านอาหาร งดจำหน่าย หรือแจกเศษอาหารเหลือจากการรับประทานให้ผู้ที่นำไปเลี้ยงสุกร
พบซากสุกรถูกทิ้งน้ำที่ท่าขี้เหล็กห่างชายแดนแม่สาย 36 กิโล
ต้นเดือน สิงหาคม 2562 พบซากหมูถูกทิ้งในลำน้ำ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ห่างจากชายแดนแม่สาย ประเทศไทยราว 36 กิโลเมตร “นายนพพร มหากันธา” ปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย ณ ขณะนั้น เปิดเผยว่า ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า หมูที่เสียชีวิตในเมียนมาติดเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกรหรือไม่ ปศุสัตว์เชียงรายคงไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบ คาดว่าหน่วยงานด้านปศุสัตว์ของเมียนมาคงมีมาตรการเข้มงวดไม่ให้แพร่ระบาดออกมาอีก ยืนยันว่าโรคนี้ยังไม่ระบาดในไทย ซึ่งปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย ได้สกัดกั้นเชื้อตามชายแดนอย่างเข้มงวด ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.2561 หลังพบการระบาดในจีน
มีรายงานว่าปศุสัตว์ จ.ท่าขี้เหล็กของเมียนมา ได้นำเนื้อหมูที่ตายส่งห้องแล็ปตรวจหาเชื้อที่กรุงย่างกุ้ง ก่อนวันที่ 14 สิงหาคม 2562 ทางองค์การระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) จะประกาศพบเชื้อ ASF อย่างเป็นทางการ 1 เคสที่เมืองมงลา ประเทศเมียนมา ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม 2562 กลุ่มระบาดวิทยาทางสัตวแพทย์ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ของไทย รายงานสถานการณ์โรค ASF ประจำวันระบุพบเชื้อ ASF ในประเทศเมียนมา 3 เมือง ได้แก่ รัฐฉาน เมืองมงลา, เมืองปางเสง และเมืองท่าขี้เหล็ก
วันที่ 2 กันยายน 2562 จังหวัดเชียงราย ประกาศกำหนดเขตเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ห้ามเคลื่อนย้ายหมูโดยไม่ได้รับอนุญาต ตั้งด่านตรวจใน 8 อำเภอ ส่วนอีก 10 อำเภอเป็นด่านชุมชน รวมถึงตั้ง war room เฝ้าระวังและควบคุมโรค หลังมีข่าวพบหมูตายเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะ อ.แม่จัน และ อ.แม่สาย โดยในเดือนตุลาคม 2562 ยังคงมีข่าวพบซากหมูลอยมาตามน้ำบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาอย่างต่อเนื่อง
![](https://www.thereporters.co/wp-content/uploads/2022/01/CoverR-JAN22_072.jpg)
“หมูแพง” นำประเด็นสู่ความสนใจในวงกว้าง
ประเด็นนี้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง เมื่อเดือนตุลาคม 2564 หลังเริ่มมีเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยโพสต์ข้อความระบายความอัดอั้นในเฟซบุ๊ก บางรายระบุว่า ต้องจำใจขายหมูทิ้ง กิโลกรัมละ 10 บาท ซึ่งปัจจุบันหมูที่เลี้ยงตายยกเล้า ก่อนที่ช่วงเดือนธันวาคม 2564 จะเริ่มมีกระแส “หมูแพง” จนนำมาสู่ปัญหา “โรคระบาดหมู” เป็นเหตุให้กรมปศุสัตว์ต้องจัดทีมเฉพาะกิจลงพื้นที่ตรวจสอบสภาวะโรคในพื้นที่เสี่ยงจังหวัดราชบุรี และนครปฐม เมื่อวันที่ 8-9 มกราคม 2565 และประกาศพบเชื้อ ASF จำนวน 1 ตัวอย่างจาก 309 ตัวอย่างในวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา
โดยหลังจากนี้กรมปศุสัตว์จะประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตโรคระบาด ควบคุมการเคลื่อนย้ายในรัศมี 5 กิโลเมตร และจะต้องแจ้งการพบโรคไปยังองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศด้วย นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือภาคีต่าง ๆ ในการควบคุมโรค อาทิ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ภาคีคณบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย และสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสุกร ทั้งนี้แหล่งข่าวจากกรมปศุสัตว์แจ้งว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังจัดทำมาตรการเยียวยาต่าง ๆ ซึ่งจะประกาศภายใน 1-2 วันนี้