ENVIRONMENT

20 บริษัทยักษ์ใหญ่ธุรกิจเชื้อเพลิง สร้างมลพิษให้โลกกว่า 35% ตลอด 52 ปีที่ผ่านมา

รายงาน Carbon Major โดย CAI (Climate Accountability Institute) สหรัฐอเมริกา เปิดเผยข้อมูลล่าสุดที่ชี้ว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ในธุรกิจน้ำมัน เชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ได้ทำอะไรไว้กับการเปลี่ยนแปลง และวิกฤตสภาพภูมิอากาศของโลกตั้งแต่ปี 2508 จนถึงปี 2560 บ้าง

ข้อมูลได้แสดงให้เห็นว่าบริษัทผู้ผลิตเชื้อเพลิงเพียง 20 อันดับแรกก็ได้ปล่อยคาร์บอนไดอ็อกไซด์ และมีเธน ถึง 480,169 ล้านตัน (MtCO2e) ในระยะเวลา 52 ปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็น 35% ของปริมาณรวมทั่วโลกที่สูงถึง 1,354,000 ล้านตัน (tCO2e) โดยอันดับ 1 ในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ ได้แก่ Saudi Aramco บริษัทปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติแห่งชาติของซาอุดิอารเบีย ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ถึง 59,262 ตัน นับแต่ปี 1965 ซึ่งคิดเป็น 6 เท่าของการปล่อยคาร์บอนของประเทศจีนทั้งประเทศตลอดปี 2559 อีกด้วย ซึ่งบริษัท Saudi Aramco แห่งนี้ ยังเป็นบริษัทที่สร้างกำไรสูงสุดในโลกด้วยรายได้มากกว่า 304 ล้านเหรียญสหรัฐต่อวัน จากการสำรวจของ HowMuch.net อีกด้วย

CAI ระบุว่า เลือกการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2508 เนื่องจากในช่วงเวลานั้น เป็นช่วงที่ผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจากการผลิตเชื้อเพลิงเริ่มเป็นที่รับรู้ในหมู่ผู้นำอุตสาหกรรม และนักการเมืองแล้ว อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าการศึกษาเน้นที่การรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มบริษัทผู้ผลิตเชื้อเพลิงเนื่องจากมองว่าเป็นกลุ่มบริษัทที่ได้สร้างและทำการตลาดเชื้อเพลิงคาร์บอนไปยังกลุ่มผู้บริโภค ทั้งๆ ที่ทราบดีว่าจะก่อให้เกิดปัญหาต่อสภาพภูมิอากาศของโลก

วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเลวร้ายลงเรื่อยๆ และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ทั่วโลกมีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบริษัทต่างๆ ควรลดลงให้ได้ถึง 45% ภายในปี 2573 และลดให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593

ทั้งนี้จากการให้สัตยาบันในความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี 2559 เป็นต้นมาที่ทั่วโลกต่างร่วมลงนาม เพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยให้น้อยกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม และมุ่งมั่นพยายามในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2559 ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องปรับตัวเข้าสู่การลดการสร้างคาร์บอนไดอ็อกไซด์ และหันไปลงทุนเรื่องการสร้างเชื้อเพลิงที่ผลิตคาร์บอนต่ำ หรือลงทุนในการกำจัด และลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดอ็อกไซด์เพื่อร่วมแก้ปัญหาวิกฤตภูมิอากาศโลก

สำหรับประเทศไทยเองที่ร่วมลงนามความตกลงปารีสเมื่อ 21 กันยายน 2559 โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศว่า

การเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีสเป็นก้าวที่สำคัญยิ่งก้าวหนึ่งของไทย ประเทศไทยเข้าร่วมเพราะตระหนักในความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคนที่จะรักษาโลกนี้ไว้ให้กับลูกหลาน

นอกจากนั้นยังได้จัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และตั้งเป้าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศร้อยละ 7-20 ในภาคพลังงาน และภาคการขนส่งในปี พ.ศ. 2563 โดยเน้นที่มาตรการหลักในการพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก การปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานในภาคอุตสาหกรรม อาคาร ขนส่ง และผลิตไฟฟ้า การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในภาคขนส่ง และสร้างระบบการขนส่งที่ยั่งยืน

อ้างอิง:
Visual Capitalist
Climate Accountability Institute
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

Related Posts

Send this to a friend