ENVIRONMENT

แลกเปลี่ยนแนวคิดหนทางสู่ Zero Waste อย่างง่ายด้วย 5Rs

แลกเปลี่ยนแนวคิดหนทางสู่ Zero Waste อย่างง่ายด้วย 5Rs หวังสร้างจิตสำนึก ปชช. ในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ลดปัญหาขยะล้นเมือง ชี้ทางเปลี่ยนขยะเป็นเงิน

วันนี้ (29 มี.ค. 67) กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และ UNEP UN-Habitat UN Resident Coordinator Office จัดงาน Towards a Greener Future: Thailand’s Zero Waste Practices ที่กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะให้เหลือศูนย์ และร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของไทยในการจัดการขยะ โดยมีงานเสวนาในหัวข้อ หนทางสู่ Zero Waste: ง่าย ๆ ด้วย 5Rs (Reduce, Reuse, Repair, Rot, Recycle) โดยผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีบทบาทในการส่งเสริมการจัดการขยะในชุมชน และการใช้แนวทาง 5Rs ในการจัดการขยะให้เหลือศูนย์

พระครูธรรมธรอานนท์ กนฺตวีโร รองเจ้าอาวาสวัดทอง กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ ซึ่งในศาสนสถานหรือวัด ก็จะมีการจัดพิธีกรรมทางศาสนา ร่วมถึงการทำโรงทานโดยใช้ภาชนะที่ใช้ได้เพียงครั้งเดียวในการทำบุญ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้จำนวนขยะเพิ่มมากขึ้น แต่อยากให้บุญที่ศาสนิกชนมาทำบุญ เป็นผลบุญที่ดีต่อโลกด้วย และที่ผ่านมาแม้มีจุดทิ้งขยะหลายจุด แต่ยังขาดคนดูแล เลยส่งผลให้มีปัญหาการแยกขยะอยู่ จึงเป็นที่มาของการร่วมร่วมโครงการ พุทโธ Zero Waste เพื่อเป็นต้นแบบการแยกขยะในวัด หรือสถานที่ปฏิบัติธรรมให้วัดอื่น ๆ ทั่วประเทศได้รู้วิธีในการแยกขยะ และเอาไปใช้ประโยชน์ได้ และนำขยะที่ได้จากการแยกมาใช้ซ้ำ โดยเริ่มปลูกจิตสำนึกให้กับพระและเณรในวัดก่อน ขยายผลไปยังศาสนิกชนที่มาร่วมทำบุญในวัด ปลูกฝังจิตสำนึกในการแยกขยะ เพื่อนำขยะที่ได้จากการแยกนั้นส่งไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ต่อไป

อีกทั้งในวันที่ 31 มีนาคม 2567 มีการจัดผ้าป่ารีไซเคิล ถวายขยะทอง สมทบทุนบูรณะปฏิสังขรณ์อุโบสถ วัดทอง จรัญสนิทวงศ์ โดยนำขยะรีไซเคิลมาส่งที่วัดเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพุทโธ Zero Waste วัดไทยไร้ขยะ

นายกอปร ลิ้มสุวรรณ หัวหน้ากลุ่มภารกิจการจัดการสิ่งแวดล้อม สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาฯ กล่าวถึงโครงการ Chula Zero Waste ข้อดีของการทำโครงการด้านสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษาคือสามารถส่งต่อแนวคิดให้กับคนรุ่นใหม่ได้ ผ่านการเรียนรู้นอกห้องเรียนและร่วมปฏิบัติ ในการพัฒนาระบบการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพภายในมหาวิทยาลัยและชุมชนโดยรอบ ทั้งขยะที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตรายที่เกิดจากปฏิบัติงานและกิจกรรมต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย การนำแนวคิดเรื่องการบริหารจัดการลดขยะให้เป็นศูนย์โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และกฎ 3R ได้แก่ การลดการใช้ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) การลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังในช่วงแผน 5 ปีแรกของโครงการ ทำให้ปริมาณขยะลดลงประมาณ 40% มากกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ 30% แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการบริหารจัดการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและพฤติกรรมในการลงมือจัดการปัญหาด้านขยะตั้งแต่ต้นทางสู่ปลายทาง สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันของประชาคมจุฬาฯ และสาธารณะอย่างต่อเนื่อง ด้วยกลยุทธ์การแบ่งปันพร้อมสาธิตเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และสร้างความร่วมมือส่งต่ออนาคตที่ยั่งยืนร่วมกัน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ

ด้าน ปารีณา ประยุกต์วงศ์ ตัวแทนจาก สมาคมเครือข่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน แก้ไขปัญหาเศษขยะอินทรีย์ ด้วยการแปลงเศษอาหารให้เป็นปุ๋ยหมักอินทรีย์ให้เป็นการประกอบการเกษตรอินทรีย์ในเมืองบนฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีจุดประสงค์โครงการคือ สร้างหุ้นส่วนธุรกิจการจัดการเศษขยะ ณ จุดกำเนิดของ 2 พื้นที่ (เขตราชเทวี และเขตดุสิต) ที่เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานทั้งจากภาครัฐภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และพัฒนาแนวทางนำเสนอด้านนโยบายต่อสำนักงานเขตราชเทวี และเขตดูสิตกรุงเทพมหานคร ในการพัฒนาต่อ ยอดสู่การพัฒนาเมืองที่น่าอยู่อย่างชาญฉลาด

ยกตัวอย่าง Prototype model กลไกมารีอัพพื้นที่ย่านสามเสนชุมชนวัดโบสถ์ทางสมาคมฯ ได้สร้างและทดลองโมเดลธนาคารขยะรีไซเคิลในพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนร่วมกับชุมชนวัคโบสถ์ ที่เรียกว่า ออมขยะรีไซเคิลกับมารีอัพ โดยชาวบ้านที่มาอ้อมจะได้ดอกเบี้ยจากการออมขยะ และแต้มในการแลกสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อกระตุ้นให้คนในพื้นที่เล็งเห็นถึงประโยชน์ในการคัดแยกขยะรีไซเคิลภายในบ้าน ชุมชนหรือองค์กรตนเอง และพัฒนาศักยกาพของผู้รวบรวมขยะรีไซเคิล (เช่น ซาเล้ง) ในพื้นที่ ซึ่งจากการทดลองโมเคลในช่วงเดือน พฤศจิกายน 2666-กุมภาพันธ์ 2567 นั้น พบว่ามีกลุ่มเป้าหมายให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 30 ราย และทางสมาคมฯสามารถจัดเก็บขยะรีไซเคิลคืนสู่ระบบ รวมทั้งหมดได้ 1,445.6765 กิโลกรัม โดยแต้มที่ได้จากการออมขยะนี้จะต่อยอดไปเป็น DIGITAL TOKEN ที่คิดจากจำนวนการลดปริมาณคาร์บอน เพื่อรับ Reward ในอนาคต

นายตฤณ รุจิรวณิช Founder Food Loss Food Waste Thailand เล่าถึง โครงการวิสาหกิจเพื่อสังคม เบตเทอร์ฟลาย บนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี เป็นหนึ่งในโครงการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับชุมชนโดยใช้หนอนแมลงวันประเภท Black Soldier Fly นำมาย่อยสลายขยะอาหาร และต่อยอดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ทั้งเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย เพียงแค่ให้อาหารในจำนวนที่สมดุลกับจำนวนหนอน โดยวัตถุประสงค์ของโครงการมีดังนี้ 1.เพื่อลดขยะอินทรีย์ไปที่หลุมฝังกลบบนเกาะสีชัง ลดจำนวนแมลงวันบ้าน ลดก๊าซมีเทน ลดการเผา 2.เพื่อการนำขยะอินทร์มาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์ กลับมาใช้ในการเกษตร 3.สามารถแยกขยะอินทรีย์ออกจากขยะอื่น ๆ เพื่อลดขยะทั่วไปและนำขยะรีไซเคิลมาใช้ประโยชน์ ซึ่งโครงการนี้ทำมาระยะ 1 ปีกว่า และสามารถลดขยะได้มากถึงประมาณ 12 ตันแล้วในปัจจุบัน

ภาคภูมิ โกเมศโสภา หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Reviv องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เล่าถึง การรวมตัวของจิตอาสามาทำแพลตฟอร์ม วนวน เป็นแอปพลิเคชั่นที่ใช้สร้างมาเพื่อเชื่อมต่อกับผู้บริโภคกับร้านซ่อมตัวเล็ก ๆ ที่ซ่อนอยู่ในตัวเมือง และเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่แสวงกำไร ที่จะช่วยให้ทุกคนสามารถซ่อมและใช้ซ้ำได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยการหาช่างซ่อมใกล้บ้านได้อย่างง่าย พร้อมข้อมูลที่ครบครัน และรีวิวที่เป็นประโยชน์ ทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการคุ้นชิน และทำบ่อยขึ้นในการใช้สิ่งของให้เกืดความคุ้มค่ามากที่สุดให้เป็นนิสัย ซึ่งจะทำให้สังคมเข้าใกล้ circular economy ที่เเท้จริงมากขึ้น

นายอนน เชาวกุล กล่าวถึงที่มาของตู้ Refun Machine หรือ ตู้รีฟัน ว่า ตู้รับซื้อขยะรีไซเคิลอัตโนมัติเปลี่ยนขยะรีไซเคิล เป็นเงินในรูปแบบต่าง ๆ โดยผู้ใช้ สามารถนำขวด PET พลาสติกใสหรือกระป๋อง มาหยอดที่ตู้ เพื่อให้เครื่องตรวจสอบคิดเป็นเงิน และขยะในตู้จะขายส่งต่อให้กับผู้รับซื้อขยะไม่ว่าจะเป็นซาเล้งรถกระบะหรือรถลากทั่วไปใช้สำหรับค้นหาและรับงานเรียกไปรับซื้อขยะรีไซเคิลจากผู้ขายหรือรีฟันมี จึงทำให้สามารถเพิ่มช่องทางการติดต่อลูกค้าใหม่ได้ เห็นรูปก่อนตกลงราคาชัดเจน และน่าเชื่อถือ ซึ่งก่อนจะเป็นแอปพลิเคชั่น Refun Man มีจุดเริ่มต้นมาจากธุรกิจ Startup และต้องการให้การแก้ปัญหาขยะลดลงได้อย่างชัดเจน

นายอภิชาติ ต้นน้ำนิ่ง Senior CSR Officer PTT Global Chemical Public Company Limited กล่าวถึง การบริหารจัดการขยะรีไซเคิลครบวงจร Community Waste Model ต้นแบบบริหารจัดการขยะพลาสติกแห่งแรกในจังหวัดนครปฐม มุ่งหวังเพื่อสร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน เป็นการขยายผลจากโครงการการบริหารจัดการขยะชุมชนอย่างครบวงจร (Community Waste Model) จากพื้นที่จังหวัดระยองมาสู่จังหวัดนครปฐม โดยนำระบบ YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม เข้ามาช่วยจัดการพลาสติกใช้แล้วทั้งขวดชนิดใส หรือขวดน้ำดื่ม และขวดชนิดขุ่น ตั้งแต่วิธีการคัดแยก การจัดเก็บ การขนส่ง จนถึงการนำพลาสติกใช้แล้วไปรีไซเคิลอย่างครบวงจร เพื่อนำพลาสติกใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการจัดการอย่างถูกวิธี

อีกทั้งภายในงานมีนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการขยะให้เหลือศูนย์ จากภาคส่วนต่าง ๆ ที่ผ่านการดำเนินงานภายใต้ 5Rs

Related Posts

Send this to a friend