ENVIRONMENT

ภาคประชาสังคม จัดเสวนา “ปัญหาฝุ่น กทม.ใหญ่กว่าที่คาด” ชี้ ต้นตอมาจากกลุ่มอุตสาหกรรม

ภาคประชาสังคม จัดเสวนา “ปัญหาฝุ่น กทม.ใหญ่กว่าที่คาด” ชี้ ต้นตอมาจากกลุ่มอุตสาหกรรม ใกล้กรุงฯ แนะทางออกต้องจัดการกับแหล่งปล่อย PM2.5 รายใหญ่ เดินหน้าร่างกฎหมาย PRTR

วันนี้ (18 ม.ค. 67) ภาคประชาสังคมนำโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEENet) Thai Climate Justice for ALL (TCJA) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) และกรีนพีซประเทศไทย (Greenpeace Thailand) เปิดเวทีเสวนา “ปัญหาฝุ่น กทม.ใหญ่กว่าที่คาด” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอข้อมูลบทเรียนจากเมืองใหญ่ในไทย และต่างประเทศ ผลสำรวจแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศขนาดใหญ่จากอุตสาหกรรมที่ถูกละเลย และข้อเสนอทางออกจากวิกฤตสภาพอากาศในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลให้ตรงสาเหตุหลัก โดยมี ณัฐพร สร้อยจำปา ผู้สื่อข่าว The Reporters เป็นผู้ดำเนินรายการ

วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEENet) กล่าวว่า เมื่อเกิดวิกฤตฝุ่น PM2.5 ใน กทม. มักจะพุ่งเป้าสาเหตุไปที่รถยนต์เป็นหลัก แต่แหล่งกำเนิดของฝุ่นพิษ PM2.5 ไม่ใช่แค่นั้น พื้นที่ กทม.และปริมณฑล มีแหล่งกำเนิดฝุ่น และคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดใหญ่ คือ โรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิล โรงกลั่นน้ำมันที่มีกำลังผลิตสูงมาก ซึ่งปล่อยฝุ่นมากกว่ารถยนต์หลายเท่า การต่อกรกับวิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 ได้จริงจะต้องจัดการกับผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ดังกล่าว

การปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์ และออกไซด์ของไนโตรเจนในบรรยากาศนำไปสู่การก่อตัวของ PM2.5 และโอโซน ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนทั่วโลก โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ และความเสียหายต่อปอดหากรับเข้าไปแบบเฉียบพลัน และเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคเรื้อรังหากรับเข้าไปในระยะยาว ซึ่งสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เกิดขึ้นทั่วโลกในสหภาพยุโรป การรับเอาไนโตรเจนไดออกไซด์ เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 75,000 คนต่อปี ในจีนมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นโดยระบุว่า ผลจากการสัมผัสไนโตรเจนไดออกไซด์นำไปสู่การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของการเสียชีวิตจากโรคทางเดินหายใจ และโรคหัวใจ

วิฑูรย์ กล่าวต่อว่ามูลนิธิบูรณะนิเวศ เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และกรีนพีซประเทศไทย มีข้อเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐ กับมาตรการในการจัดการแหล่งปล่อย PM2.5 รายใหญ่ โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

มาตรการระยะสั้น

1.ผ่าน (ร่าง) พระราชบัญญัติการรายงาน และเปิดเผยข้อมูลการปล่อย และเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ….. (PRTR)

2.ลดหรืองด การเดินเครื่องในช่วงที่มีอากาศปิด และ PM2.5 มีระดับวิกฤต

3.ระบบตรวจวัด PM ทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพ ควรสุ่มตรวจได้ตลอดเวลา ไม่ใช่ปีละ 2 ครั้งตามที่กำหนดเวลา และมาตรฐานทั่วไปไว้ใน EIA ซึ่งเป็นการวัดบริเวณปากปล่อง และเป็นช่วงเวลาตายตัวไม่ตรงกับช่วงวิกฤต

4.ให้ชะลอ และทบทวนโครงการการก่อสร้างส่วนต่อขยาย เพิ่มกำลังผลิตหรือทดแทนกำลังผลิตเดิมที่หมดอายุ ในบริเวณเดิม หรือในเขต กทม. และปริมณฑล อนึ่งการทำ EIA และ HEIA ของโครงการพระนครใต้ไม่ได้อยู่ในบริบทที่มีวิกฤต PM2.5 แต่อย่างใดเลย

มาตรการระยะกลาง

วางแผนการเดินเครื่อง และการซ่อมบำรุงประจำปี ให้สอดคล้องกับการคาดการณ์สภาพอากาศ เช่น การหยุดซ่อมบำรุงประจำปี 45 วัน เป็นช่วงเดียวกับฤดูที่มีวิกฤต

2.ติดตั้งเทคโนโลยี WGS ที่ FCCU กรณีโรงกลั่นน้ำมัน

3.ติดตั้งเทคโนโลยีระบบควบแน่น และระบบกรอง ที่ระบบไอเสียก่อนปล่อยออกสู่บรรยากาศ กรณีโรงไฟฟ้า

มาตรการระยะยาว

1.ให้ย้ายแหล่งกำเนิดมลพิษ ขนาดใหญ่ออกจาก กทม. และปริมณฑล

2.ในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะต้องดูผลกระทบเชิงสะสมกับแหล่งปล่อยมลพิษอื่นที่อาจจะก่อวิกฤตคุณภาพอากาศต่อพื้นที่ได้ โดยต้องเสนอมาตรการป้องกันและแก้ไข ทั้งนี้จะต้องให้อำนาจตามกฎหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและฝ่ายปกครองในการยับยั้งการปล่อยมลพิษหรือสั่งยุติการดำเนินการ ตามสมควรแก่เหตุ โดยไม่อยู่ภายได้ข้อจำกัดด้านเขตปกครองและ การปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด หากสถานการณ์เป็นที่ประจักษ์ชัด

3.ในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวเช่น กทม. และปริมณฑล ให้การกำหนดมาตรฐานการควบคุมมลพิษ และเทคโนโลยี เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นมาตรฐานสูงสุดตามมาตรฐานสากล

4.ให้กฎหมายกำหนดแหล่งกำเนิดมลพิษมีหน้าที่แจ้งข้อมูล การปล่อยมลพิษเชิงปริมาณ กรัม/วินาที และคุณภาพ หรือองค์ประกอบอนุมูลสาร เพิ่มจากข้อมูลความเข้มขัน

5.ให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ ในภาพรวมของกทม. และปริมณฑลใน บริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และวิกฤตคุณภาพอากาศ โดยใช้ค่ามาตรฐาน PM และ AQl ที่เป็นสากล เพื่อเป็นแม่บทในการพัฒนา และแก้ไขปัญหาต่อไปในอนาคต

6.ปรับปรุง และออกกฎหมาย ใช้มาตรการที่เป็นมาตรฐานสากลและได้ผล โดยมีเป้าหมายอยู่ที่คุณภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ภายใต้กติกา และวัฒนธรรมประชาธิปไตย

ด้านธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า ไนโตรเจนไดออกไซด์ที่ปล่อยจากแหล่งกำเนิดอย่างโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลนั้น มีศักยภาพสูงในการก่อตัวของมลพิษขั้นทุติยภูมิ รวมถึงฝุ่นพิษ PM2.5 ในบรรยากาศของ กทม. และปริมณฑล การติดตามตรวจสอบ และลดการปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์จึงมีความสำคัญนอกเหนือจากการที่สาธารณะชนต้องเข้าถึงรายงานการวัดการปล่อยก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ที่ปลายปล่องแล้ว มีความจำเป็นเร่งด่วนในการทำให้มาตรฐานการปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์เข้มงวดมากขึ้น

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงการศึกษาของมูลนิธิบูรณะนิเวศในจังหวัดสมุทรสาครเมื่อปี 2564 ว่าภาคอุตสาหกรรมเป็นแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่นพิษ PM2.5 เมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งกำเนิดจากภาคการจราจร และขนส่ง การเผาขยะมูลฝอย และการเผาในที่โล่ง โดยพื้นที่วิกฤตที่มีการปลดปล่อยสูงสุดคือ อ.เมืองสมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่ปริมณฑลของ กทม. และยังได้มีการรวบรวมข้อมูลจำนวนโรงงานในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล โดยอ้างอิงข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมเมื่อปี 2560 พบว่ามีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรม 13,272 แห่ง ที่ก่อมลพิษทางอากาศ

มูลนิธิบูรณะนิเวศ ยังได้เจาะลึกถึงสารโลทะหนัก และสารมลพิษตกค้างยาวนาน หรือสาร POPs ในองค์ประกอบของฝุ่น PM2.5 พบว่าการปนเปื้อนของสารมลพิษอันตรายทั้งโลหะหนัก และสารมลพิษตกค้างยาวนานนั้นเกินค่าที่ปลอดภัยที่ต่างประเทศกำหนดไว้ถึงกว่า 20 เท่า อีกทั้งยังสูงกว่าผลการวิเคราะห์ปริมาณสารไดออกซินในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2555 มากกว่า 45 เท่า

วิฑูรย์ กล่าวทิ้งท้ายกับความคาดหวังในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาว่า อยากให้สมาชิกผู้แทนราษฎรในเขตพื้นที่ กทม. มีศูนย์รับฟังปัญหาในเรื่องนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากการเริ่มแก้ปัญหาในพื้นที่ผ่านการร่วมมือกับภาคประชาชน เช่น การรับฟังความคิดเห็นการให้หมอไปตรวจสุขภาพ หรือการให้ความรู้ประชาชน มองว่าล้วนเป็นหน้าที่ของผู้แทนประชาชนอยู่แล้ว การให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาจะสามารถแก้ปัญหาและเป็นกระบอกเสียงได้ดีกว่า โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล เพราะหากสังคมไม่ตื่นรู้ และไม่ออกมาเคลื่อนไหวเลย ก็ไม่สามารถฝากความหวังกับกฎหมายได้

Related Posts

Send this to a friend