ENVIRONMENT

ชาวบ้านเดินขบวนค้านโครงการผันน้ำยวม นักวิชาการแนะรัฐทำอีไอเอใหม่

ชาวบ้านเดินขบวนค้านโครงการผันน้ำยวม นักวิชาการแนะรัฐทำอีไอเอใหม่ระบุฉบับเดิมไม่ครอบคลุม ชวน กก.สิ่งแวดล้อมลงดูข้อเท็จจริงในพื้นที่ หวั่นเสียหายมหาศาล

วันนี้ (13 มี.ค. 66) ที่บริเวณแม่น้ำสองสี บ้านแม่เงา ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน มีการจัดกิจกรรม “วิถีชีวิตคนอยู่กับป่าและแม่น้ำ” โดยชาวบ้านจำนวนกว่า 100 คนเดินขบวนรณรงค์หยุดเขื่อนผันน้ำยวม ซึ่งได้มีการถือป้ายเขียนด้วยข้อความต่างๆ เช่น ให้สาละวิน ยวม เมย ไหลอิสระ ,หยุดโครงการผันน้ำยวม, ชีวิตจะสุขสงบต้องร่วมใจปกป้อง

นายยอดชาย พรพงไพร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สวด กล่าวว่านโยบายของรัฐบาลชุดนี้เพื่อสร้างเขื่อนเติมน้ำในเขื่อนภูมิพล แต่ความเป็นจริงพื้นที่โครงการนี้จะเปลี่ยนวิถีชีวิตประชาชนในพื้นที่มหาศาล เพราะจะเกิดผลกระทบต่อทรัพยากรคน ป่าไม้ สัตว์ป่าและน้ำ แต่หากไม่มีเขื่อนสิ่งเหล่านี้จะอยู่ด้วยความปลอดภัย เราต้องการบอกไปยังรัฐบาลว่าโครงการผันน้ำยวมส่งผลกระทบมาก ที่นี่เราสร้างถิ่นฐานตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอมีความซื่อสัตย์ อนุรักษ์ทรัพยากร เราอยู่ที่ไหนที่นั่นก็มีป่า เราอยากให้คนภายนอกได้รับรู้

นายยอดชายกล่าวว่า โครงการผันน้ำควรยุติ เพราะไม่คุ้มค่ากับคนในพื้นที่ และทรัพยากรที่อยู่กับชาวบ้านมีมูลค่าไม่น้อยกว่าโครงการ โดยขณะนี้ชาวบ้านใน อ.แม่สะเรียง ก็ได้เริ่มตื่นตัวเรื่องนี้เพราะจะได้รับผลกระทบ พวกเราต้องต่อสู้ แม้ตนเป็นนักการเมือง 4 ปี แต่ก็จะต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและไม่ต้องการให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

ทั้งนี้ชาวบ้านจากแหล่งต้นน้ำ คือ บ้านแม่เงา ได้ร่วมกันอธิบายถึงวิถีชีวิตที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนแม่น้ำยวม โดยระบุว่าหมู่บ้านแม่เงามีอายุมากกว่า 200 ปี มีทั้งเจดีย์และศาลเจ้าพ่อเก่าแก่ มีแม่น้ำยวมและแม่น้ำเงาเป็นหลัก สมัยก่อนมีการทำเหมืองแร่ แต่ปี 2530 ได้มีการปิดเหมืองแร่และคนงานได้อพยพมาอยู่บ้านแม่เงา ทุกคนช่วยกันรักษาป่าและน้ำ วิถีชีวิตของชาวบ้านแม่เงาแตกต่างจากที่อื่นคือไม่มีนา แต่อาศัยป่าและน้ำ หาเห็ดถอบ หัวบุก ซึ่งมีมูลค่าเช่นเดียวกัน

“แม่น้ำที่นี่ไม่เหมือนที่อื่น เพราะอยู่ต่ำ ปลามีถิ่นอาศัยเฉพาะอยู่ในแต่ละจุด เช่น วังน้ำ ชายหาด ถ้าแม่น้ำที่นี่ไม่มีป่าเราก็ไม่รู้จะอยู่กันอย่างไรเพราะชาวบ้านต่างพึ่งพาสิ่งเหล่านี้ เรามีห้วยกุ้งที่ไม่เหมือนที่อื่น ลำห้วยนี้มีกุ้งทุกฤดู หากมีเขื่อน แม่น้ำก็จะเปลี่ยนไป” ชาวบ้านกล่าว

หลังจากนั้นชาวบ้านปลายน้ำจากหมู่บ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ได้ร่วมกันอธิบายถึงผลบกระทบหากมีการก่อสร้างปากอุโมงค์ผันน้ำสู่เขื่อนภูมิพล ว่าชาวบ้านได้ใช้น้ำจากห้วยแม่งูดในการรดสวนลำไย ระบบนิเวศของห้วยแม่งูดในหน้าแล้งเห็นแต่ทราย แต่เมื่อขุดลงไปจะมีน้ำ เป็นลำธารใต้ดิน เป็นแหล่งน้ำสำหรับการเกษตร ระบบนิเวศริมห้วยมีพืชผัก ในป่าก็มีของป่ามากมาย ชาวบ้านเลี้ยงวัว ขายขี้วัว มีราคาดี พ่อค้าจากข้างนอกมารับซื้อ ลำไย เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้ รายได้แต่ละปี พอเลี้ยงชีวิตและครอบครัว ที่น่าแปลกใจคือ ในรายงานอีไอเอโครงการผันน้ำ ไม่ได้ระบุถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านและพืชพรรณต่างๆ
นายสิงคาร เรือนหอม ชาวบ้านแม่เงากล่าวว่าเรื่องประวัติศาสตร์ของชุมชน ในรายงานอีไอเอไม่ได้เขียนไว้เลย บ้านตนอยู่ที่นี่มาก่อน รายงานเขียนไว้ว่าวัดสร้างมา 10 ปี แต่ความจริงชาวบ้านที่นี่อยู่มาก่อนนั้นแล้ว ในประเด็นระบบนิเวศป่า ในรายงานอีไอเอก็เขียนไม่ตรง เขียนว่าจะเอาน้ำมาให้ชาวบ้านทำการเกษตร แต่ชาวบ้านไม่มีนา พึ่งพารายได้จากป่าเท่านั้น รายงานระบุว่ามีปลาเพียง 30 ชนิด แต่ชาวบ้านมานั่งนับแล้ว มีปลาในแม่น้ำเกิน 60 ชนิด

ภายในงานยังได้มีการจัดเวทีเสวนา โดยนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่ารายงานอีไอเอไม่รอบคอบและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง โครงการผันน้ำงบประมาณกว่า 1.7 แสนล้านบาท ไม่มีเงินลงทุนแต่รายงานกลับได้รับการอนุมัติ ขณะที่คณะกรรมการลุ่มน้ำก็ยังไม่มีการอนุมติว่าจะมีการผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวิน การผันน้ำข้ามลุ่มต้องแจ้งและขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการทั้งสองลุ่มน้ำ ที่สำคัญโครงการนี้เป็นการลงทุนขนาดใหญ่

“ที่ อ.อมก๋อย การก่อสร้างอุโมงค์ จะต้องมีดินมากองในที่ดินชาวบ้าน เศษดินนับล้านคิว จะเกิดอะไรกับชาวบ้าน แล้วไปบอกกว่าชาวบ้านอยู่ในเขตป่าสงวน เขาบอกว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับชาวบ้าน ไหนจะมีจุดพักคนงาน ถนนขนดิน แต่ในรายงานอีไอเอไม่ได้เขียนไว้เลย ที่สำคัญคือต้องไม่เข้าไปเกี่ยวกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในรายงาน”

ผศ.มาลี สิทธิเกรียงไกร คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าโครงการนี้ใหญ่มาก แต่เมื่อเราลงพื้นที่ปรากฏว่าชาวบ้านไม่ทราบมีโครงการนี้ มาทราบเมื่ออนุมัติอีไอเอแล้ว โดยกรมชลประทานเข้ามาชี้แจง 2-3 ชั่วโมงแล้วกลับโดยไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านตั้งคำถามว่าสิ่งที่ชาวบ้านต้องสูญเสียจะเป็นอย่างไร ในอีไอเอบอกว่าที่แม่เงามีบ้านที่ได้รับผลกระทบ 4 หลัง เป็นไปได้อย่างไร กระบวนการทำอีไอเอถ้าได้ฟังความคิดเห็นและลงพื้นที่จริง แต่กลับไม่มีบริบทประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม อีไอเอควรมีข้อมูลหนักแน่นกว่านี้

ผศ.มาลี กล่าวว่า รัฐบาลควรทบทวนโครงการนี้โดยเฉพาะการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมควรจัดทำใหม่ เพราะในอีไอเอฉบับเก่าไม่ครอบคลุมโดยเฉพาะความสูญเสียของชาวบ้าน

“คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติควรลงมาดูพื้นที่ด้วยตัวเอง เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าสิ่งที่เขียนไว้ในอีไอเอเป็นอย่างที่เสนอหรือไม่ มิฉะนั้นจะก่อให้เกิดความสูญเสียมากมาย ต้องศึกษาให้ดีว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำยวมเหมาะสมหรือเพียงพอที่จะผันน้ำหรือไม่ ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ ใครที่จะมาหาเสียงแถวนี้ควรมีวิสัยทัศน์กว้างไกลฟังเสียงชาวบ้านและยุติโครงการ” ผศ.มาลี กล่าว

ในช่วงท้ายชาวบ้านได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ของเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน ซึ่งมีเนื้อหาว่าในวันนี้ พวกเราที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากโครงการสร้างเขื่อนเก็บนํ้ายวมเพื่อผันนํ้าสู่ เขื่อนภูมิพล เห็นพร้อมตรงกันว่า 1.การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ขาดการมีส่วนร่วมและไม่รับฟังความคิดเห็นของชุมชน ผลการศึกษาจึงไม่ตรงประเด็นและขาดข้อเท็จจริงของชุมชมและสิ่งแวดล้อม นับเป็นการลิดรอนสิทธิชุมชน และลดทอนการมีส่วนร่วมของชุมชนตามหลักประชาธิปไตย 2.หากดําเนินโครงการตามผลการศึกษานี้จะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนเนื่องจากจะเกิดการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างถาวร ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อวิถีชีวิตและ เศรษฐกิจชุมชนที่พึ่งพิงธรรมชาติโดยเฉพาะป่าและนํ้า ซึ่งเป็นความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้และไม่สามารถแก้ไขได้ในภายหลัง แตกต่างจากผลการประเมินในอีไอเอ พวกเราทุกคนจึงมมีมติให้ยกเลิกอีไอเอฉบับนี้ และขอให้ถอนโครงการผันน้ำ รวมทั้งทุกโครงการที่เกี่ยวข้องออกไป

Related Posts

Send this to a friend