ENVIRONMENT

ดร.ธรณ์ เตือน เอลนีโญทำไทยเสี่ยงแล้งถึงต้นปี 67

ห่วง ถึงหน้าร้อนกลายเป็นดับเบิ้ลเอลนีโญ ชี้ อุณหภูมิผิวหน้าน้ำทะเลร้อนผิดปกติ จ่อเข้าปากอ่าวไทยแล้ว รณรงค์รับมือ และปรับตัวลดผลกระทบ

วันนี้ (14 ก.ค. 66) ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณะบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง ม.เกษตร เผยภาพปรากฎการณ์ อุณหภูมิผิวหน้าน้ำทะเล เกี่ยวข้องโดยตรงกับเอลนีโญ ที่แสดงให้เห็นว่าน้ำร้อนผิดปรกติ เคลื่อนเข้ามาจ่อปากอ่าวไทยแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดจาก NOAA แสดงกราฟอุณหภูมิน้ำทะเลที่ทำให้เห็นว่า เราทะลุเข้าเอลนีโญตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงเร่งตัวขึ้น พร้อมคำเตือนการเตรียมการเพื่อรับมือ

The Reporters ได้สอบถามเพิ่มเติมไปยัง ดร.ธรณ์ ในกรณีนี้ ซึ่ง ดร.ธรณ์ เปิดเผยว่า “ปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงที่บ้านเราเผชิญอยู่กับปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะพีคมากที่สุดคือช่วงปลายปีไปจนถึงต้นปี 67 คือ ตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม-มกราคม”

ดร.ธรณ์ อธิบายว่า ตอนนี้บ้านเราอยู่ในช่วงหน้าฝน ทำให้น้ำทะเลค่อนข้างเย็น แต่ช่วงเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคมของปีหน้า เป็นช่วงที่น้ำทะเลร้อน ดังนั้นหากเอลนีโญยังไม่จบลง ภายในประมาณเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม 2567 ก็เกรงว่าจะเป็นดับเบิ้ลเอลนีโญ ซึ่งเมื่อรวมกับปรากฎการณ์โลกร้อน ที่เกิดขึ้นในเดือน เมษายน-พฤษภาคม 67 ก็จะทำให้ประการังฟอกขาวมากขึ้น และทำให้น้ำทะเลมีสีเขียวมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบกับสัตว์น้ำ พูดง่ายๆว่าปลาที่ชาวประมงเคยจับได้ จะมีปริมาณลดน้อยลงเรื่อยๆ และนักท่องเที่ยวไม่สามารถดำน้ำที่บริเวณอ่าวไทยได้

“ทั้งนี้สิ่งที่ต้องตื่นตัวและรับมือให้มากที่สุด คือการปรับตัว ซึ่งในที่นี้คือการสร้างการเรียนรู้ให้มากที่สุด โดยเฉพาะการเร่งให้มีการศึกษาเกี่ยวกับการรายงานสถานการณ์สภาพอากาศเช่นนี้ เพราะปัจจุบันมีที่ ม.เกษตรทำเพียงแค่แห่งเดียว”

“นอกจากนี้ควรมีการวางแผนล่วงหน้า ในการรับมือกับปรากฎการณ์เอลนีโญ เหมือนเช่นในปี 2553 เช่น การเตรียมพื้นที่ดำน้ำชั่วคราวให้กับนักท่องเที่ยว หรือ สร้างแหล่งดำน้ำเทียม เป็นต้น”

ดร.ธรณ์ ย้ำว่า ประชาชน ก็สามารถลดผลกระทบที่อาจเป็นการซ้ำเติมทะเล เช่น การไม่ทิ้งขยะในทะเล และการไม่ทอดสมอเรือลงในบริเวณที่มีประการังที่อาจทำให้ประการังเสียหาย เป็นต้น

“ที่สำคัญควรตื่นตัวในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนที่อาศัยอยู่ใน กทม.คนต่างจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด หรือแม้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทะเลเช่นกัน”

ดร.ธรณ์ ให้ความรู้เกี่ยวกับเอลนีโญว่า จะแรงสุดช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม มีโอกาสที่น้ำทะเลร้อนเพิ่มขึ้นเกิน 1 องศา (80%) เกิน 1.5 องศา (50%) และเกิน 2 องศา (20%) ส่วนใหญ่เอลนีโญจะจบลงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ปีหน้า แต่มีอยู่บ้างที่จะลากยาวไปไกลกว่านั้น กลายเป็นดับเบิ้ลเอลนีโญ

มวลน้ำร้อนจะส่งผลกระทบต่อปะการัง ทำให้สีซีด ไปจนถึงฟอกขาวน้อยๆ ไม่แข็งแรง หากไปถึงฤดูร้อน จะส่งผลกระทบต่อแพลงก์ตอนบลูม/ น้ำเปลี่ยนสี ซึ่งทำให้สัตว์น้ำตามพื้นตายง่าย

ที่สำคัญ คือ ผลกระทบต่อพายุ เพราะน้ำยิ่งร้อนยิ่งถ่ายทอดพลังงานให้พายุหมุนได้มากขึ้น ต้องจับตาดูไต้ฝุ่นปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร พื้นที่ได้รับผลกระทบคืออ่าวไทย โดยเฉพาะอ่าวไทยตอนในและภาคตะวันออก ซึ่งบริเวณนั้นเป็นที่คนอยู่หนาแน่น และมีกิจกรรมทางทะเลมากสุดในไทย

พร้อมกันนี้ยังได้แนะนำวิธี
“รับมือ” ด้วยการยกระดับติดตามผลกระทบในทะเลอย่างจริงจัง เพิ่มการสำรวจคุณภาพน้ำ สมุทรศาสตร์ และระบบนิเวศให้ทันท่วงที

“ปรับตัว” ด้วยการลดผลกระทบจากมนุษย์ให้น้อยที่สุด อย่าซ้ำเติมทะเลตอนที่กำลังแย่ มองไปข้างหน้าหาทางหนีทีไล่

“ส่วนที่ว่าทำได้แค่ไหน ก็จะพยายามสุดแรง โดยมีความหวังเล็กๆ ว่าที่พูดไปจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นบ้าง เปลี่ยนเร็วๆ หน่อยก็ดีนะ เพราะมวลน้ำร้อนใหญ่มาจ่อไทยแล้วครับ”

Related Posts

Send this to a friend