ENVIRONMENT

คพ. ตรวจแหล่งล้างถังสารเคมีใน อ.สีคิ้ว พบปนเปื้อนโลหะหนัก รั่วไหลลงคลองอีสานเขียว

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยผลการติดตามและเข้าตรวจสอบแหล่งประกอบการล้างถังสารเคมี ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังได้รับการร้องเรียนจากจากเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนสีคิ้ว

จากการตรวจสอบในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองหญ้าขาว (อบต.หนองหญ้าขาว) อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา พบว่า มีผู้ประกอบการจำนวน 13 ราย ปัจจุบันได้ยื่นขออนุญาตจดทะเบียนพาณิชย์ ณ อบต.หนองหญ้าขาว แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ภายใต้ พรบ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เนื่องจากข้อบัญญัติ อบต.หนองหญ้าขาว ว่าด้วยกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่ประกาศบังคับใช้ ตั้งแต่ปี 2540 ยังไม่ครอบคลุมถึงการประกอบการกิจการล้างถังสารเคมี

จากการตรวจสอบยังพบว่า มีการประกอบกิจการเป็นครัวเรือน ส่วนถังสารเคมีที่นำมาล้าง ส่วนใหญ่เป็นถังขนาด 200 ลิตร และขนาด 1,000 ลิตร รับซี้อมาจากจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร ลพบุรี และสระบุรี ในบางรายพบว่าเป็นถังที่เคยบรรจุของเสียอันตราย หรือบรรจุสารเคมีอันตราย เช่น มีฤทธิ์กัดกร่อน นำมาล้างเพื่อจำหน่าย ก่อนจะทิ้งน้ำจากการล้างสารเคมีไปพักไว้ในบ่อดิน ถังพลาสติก และบ่อซีเมนต์

จากการตรวจสอบตัวอย่างน้ำในบ่อกักน้ำทิ้ง พบว่ามีค่าความสกปรกในรูปบีโอดีและซีโอดีเท่ากับ 6,630 และ 26,800 มิลลิกรัมต่อลิตร (มก./ล.) ตามลำดับ เมื่อเทียบเคียงกับมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงาน พ.ศ. 2560 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ที่กำหนดมาตรฐานค่าบีโอดีและซีโอดีไม่เกิน 20 และ 120 มก./ล.ตามลำดับ พบว่ามีค่าเกินมาตรฐาน นอกจากนั้นยังตรวจพบการปนเปื้อนโลหะหนัก มีทั้งแคดเมียม นิกเกิล โครเมียม และสารหนู ในน้ำทิ้งดังกล่าว และยังตรวจพบร่องรอยการรั่วไหลของน้ำทิ้งจากสถานประกอบการล้างถัง ไหลลงคลองอีสานเขียว

เมื่อตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำคลองอีสานเขียวจำนวน 4 จุด ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้เคียงสถานประกอบกิจการล้างถัง พบว่า บริเวณต้นน้ำก่อนไหลผ่านบริเวณพื้นที่ประกอบการ เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานคุณภาพแหล่งน้ำผิวดินตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2537) มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี จัดอยู่ในแหล่งน้ำผิวดินประเภทที่ 2 ส่วนคลองอีสานเขียวบริเวณใกล้กับสถานประกอบการล้างถัง มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้ถึงเสื่อมโทรมมาก จัดอยู่ในแหล่งน้ำผิวดินประเภทที่ 3 ถึง 5 และจากการตรวจวิเคราะห์ปริมาณโลหะหนักของน้ำในคลองอีสานเขียว พบว่า บริเวณท้ายน้ำหลังจากไหลผ่านพื้นที่ประกอบการล้างถัง มีค่าแคดเมียมเท่ากับ 0.01 มก./ล. เกินค่ามาตรฐานน้ำดื่มที่กรมอนามัยกำหนดให้มีค่าไม่เกิน 0.005 มก./ล. บ่งชี้ว่า น้ำในคลองอีสานเขียวมีคุณภาพไม่เหมาะสมที่จะนำไปใช้เพื่อการเลี้ยงสัตว์หรือการบริโภค

ส่วนคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำบ้านซับชุมพลซึ่งเป็นบริเวณท้ายน้ำ มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้ จัดอยู่ในแหล่งน้ำผิวดินประเภทที่ 3 และถึงแม้ว่าผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำบ้านซับชุมพลจะพบปริมาณโลหะหนักไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่ก็เป็นข้อบ่งชี้ได้ว่า อ่างเก็บน้ำบ้านซับชุมพลเป็นแหล่งน้ำที่มีความเสี่ยงต่อการสะสมสารปนเปื้อนโลหะหนักที่แพร่กระจายออกมาจากกิจการล้างถังสารเคมีในพื้นที่ดังกล่าว

มีรายงานว่า นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มีกำหนดลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน แก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

Related Posts

Send this to a friend