กรมอนามัย เปิดตัวเลขขยะในแหล่งท่องเที่ยว พบกว่า 1.8 พันตัน สูงสุดเป็นถุงพลาสติก

วันนี้ (10 ธ.ค. 65) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว ที่ประชาชนนิยมไปท่องเที่ยวพักผ่อนตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติ ทั้งทางบกและทางทะเล ว่า ส่งผลให้ปริมาณขยะตามสถานที่ดังกล่าว ขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งจากนักท่องเที่ยว โรงแรม รีสอร์ท บังกะโล ตลาดน้ำ และร้านอาหาร
ข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่าปริมาณขยะมูลฝอยช่วงปี 2564 ระหว่างเดือน ต.ค. 63 – ก.ย. 64 มีประมาณ 1,864 ตัน เป็นขยะอินทรีย์มากที่สุดจำนวน 737.58 ตัน หรือร้อยละ 39.56 รองลงมาคือขยะทั่วไปจำนวน 722.26 ตัน หรือร้อยละ 39.33 ตามาด้วยขยะรีไซเคิล เช่น ขวดแก้ว แก้ว และขวดพลาสติก จำนวน 291.26 ตัน หรือร้อยละ 15.62 และขยะอันตรายจำนวน 59.47 ตัน หรือร้อยละ 3.19 ส่วนขยะอื่นๆ มีจำนวน 42.95 ตัน หรือร้อยละ 2.30 เมื่อแยกเป็นประเภทขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติก พบว่า มีถุงพลาสติกหูหิ้วถึง 812,591 ใบ , แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 208,179 ใบ และโฟมบรรจุอาหาร 31,301 ใบ
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปี 2564 พบว่า ประเภทขยะที่ตกค้างชายฝั่งมากที่สุด คือ ขวดเครื่องดื่มพลาสติก ถุงพลาสติก เศษโฟม ขวดเครื่องดื่ม แก้ว ถุงก๊อบแก๊บ ถุงอาหาร เศษพลาสติก เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ แว่นตา และสร้อยคอ กล่องอาหาร กล่องโฟม และกระป๋องเครื่องดื่ม คิดเป็นร้อยละ 73 ของขยะทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นขยะประเภทอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 27
จากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ประเทศไทยยังคงติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก โดยมีปริมาณมากถึง 22.8 ล้านกิโลกรัม กรมอนามัยจึงขอความร่วมมือนักท่องเที่ยว ช่วยกันดูแลรักษาสภาพแวดล้อม ลดปริมาณขยะ โดยคัดแยกและทิ้งขยะลงในถังหรือภาชนะที่จัดไว้อย่างถูกต้อง , เลือกใช้ภาชนะที่ทำจากวัสดุธรรมชาติแทนกล่องโฟมและถุงพลาสติก , หากนำสิ่งที่จะก่อให้เกิดขยะเข้าในแหล่งท่องเที่ยว เช่น ถุงพลาสติก กล่องโฟม ขวด กระป๋อง ควรเก็บคืนออกมาให้มากที่สุด , ลดปริมาณการนำเข้าขยะ โดยนำวัสดุอุปกรณ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เช่น จาน ชาม ช้อน แก้ว โดยนำมาเอง นอกจากนี้ ให้ระวังการก่อไฟเผาขยะในบริเวณแหล่งท่องเที่ยวด้วย เพราะจะทำให้เกิดมลพิษ และเกิดไฟไหม้สถานที่ดังกล่าวได้
