ปลอดประสพ ห่วง “ปลาหยก” จะเหมือน “ปิรันยา” ให้หยุดโฆษณา แต่ไม่ได้ห้ามขาย ห้ามเพาะพันธุ์
นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานด้านนโยบายปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ พรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นต่อกรณี “ปลาเก๋าหยก” ว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นสาธารณะที่นักวิชาการและสังคมกังวลว่า ปลาจะหลุดลงไปในธรรมชาติ และกระทบกับระบบนิเวศน์ในแหล่งน้ำของประเทศ เจ้าหยกมันจะอาละวาดกินปลาเล็กปลาน้อยจนลูกปลาตามธรรมชาติร่อยหรอ เช่นเดียวกับปลาหมอเทศและปลาดุกรัสเซียในอดีต หรือไม่ก็เหมือนปลาดูด (sucker) ที่มาดูดรังปลาธรรมชาติที่ติดอยู่ตามไม้น้ำ
รวมถึงกลัวจะเหมือนปลาปิรันย่า ที่มันกัดคนหรือสัตว์ที่ไปลงน้ำได้จริงๆ ยิ่งกว่านั้น น้ำเสียจากบ้านและโรงงานก็ทำให้ปลาธรรมชาติลดลงไปมากอยู่แล้ว ด้วยมันเป็นเรื่องสำคัญต่อสภาวะสิ่งแวดล้อมและปากท้องของประชาชน(ตาดำๆ) เขาถึงกำหนดโทษเอาไว้แรงมาก คือจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท และหากจงใจหรือปล่อยและละเลยให้ปลาหลุดลงไปในแหล่งน้ำสาธารณะ โทษเพิ่มอีกเท่าตัวคือจำคุก 2 ปีปรับ 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ(ไม่กลัวหรือ)
นายปลอดประสพยังระบุว่า อธิบดีกรมประมงใจดีมาก แค่เตือนและกำหนด dateline 3 วัน ถ้าโชคร้ายเจออธิบดีปลอดประสพเข้าไป จะเป็นปัญหามากกว่านี้แน่นอน จึงขอถือโอกาสนี้ ส่งสาสน์ไปยัง … ว่า ท่านเป็นบริษัทใหญ่ มีชื่อเสียง มีมาตรฐานเป็นที่เชื่อถือไปทั่วโลก ท่านไม่ปฎิบัติตามหรือลืมข้อกฎหมายไปดื้อๆแบบนี้ไม่ถูกต้องและเหมาะสม สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ศักดิ์ศรีและสัจจะของการทำธุรกิจ โดยเฉพาะในประเด็นการรักษาทำนุบำรุงสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยของพวกเราทุกคน การหาปลาใหม่ๆมาเลี้ยงไม่ผิดหรอก แต่ต้องทำด้วยความรอบครอบและมีความรับผิดชอบ
“สำหรับท่านอธิบดีเฉลิมชัย ครูก็ขอขอบคุณเธอที่ได้รักษาเกียรติของการเป็นอธิบดีกรมประมง ขอขอบคุณแทนคนของกรมประมงและประชาชนทุกคน ทุกสิ่งที่ทำถูกต้องแล้ว ขอให้รักษาความดีงามเหล่านี้เอาไว้ ขอบคุณอีกครั้ง” นายปลอดประสพ ระบุ
สำหรับกรณีนี้ สืบเนื่องจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เปิดตัว ปลาเก๋าหยก ซึ่งได้ขออนุญาตกรมประมงนำเข้าลูกปลาจากประเทศจีน เพื่อทดลองเพาะเลี้ยงที่ฟาร์มปลา ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โดยชูระบบการเลี้ยงที่ปลอดภัย ไร้สารตกค้าง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมปั้นเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ จนเกิดเป็นกระแสความกังวลว่า อาจเกิดการแพร่กระจายของสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือเอเลี่ยนสปีชีส์ กระทบต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำของไทยในอนาคต
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ชี้แจงในกรณีนี้ ว่า CPF ได้ขออนุญาตกรมประมงนำเข้าปลาเก๋าหยก เมื่อปี 2561 เพื่อการศึกษาวิจัยการเพาะเลี้ยง ซึ่งหลังจากระยะทดลองได้มีการชำแหละปลาทั้งหมดเป็นเนื้อปลา เหลือเพียงพ่อแม่พันธุ์ จำนวน 40 คู่ ต่อมา ช่วงเดือนเมษายน 2565 ได้ขออนุญาตดำเนินการศึกษาวิจัยการเพาะพันธุ์ การเลี้ยง และการตลาดผลิตภัณฑ์ปลา Jade perch ในระบบปิดน้ำหมุนเวียนเชิงพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ ซึ่งกรมประมงได้อนุญาตให้ศึกษาวิจัย โดยผ่านมติของคณะกรรมการด้านความหลากหลายและด้านความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) ที่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กรมประมงกำหนด คือ เพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น ต้องดำเนินการในพื้นที่ที่กรมประมงอนุญาตเท่านั้น และห้ามเคลื่อนย้ายปลามีชีวิตออกจากบริเวณที่อนุญาตโดยเด็ดขาด
ส่วนการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการทดลองเพื่อศึกษาวิจัยด้านการตลาด กรมประมงอนุญาตให้จำหน่ายเป็นผลผลิตแบบที่ไม่มีชีวิตเท่านั้น เช่น ปลาแช่แข็ง และอนุญาตให้จำหน่ายในช่องทางของบริษัทในเครือ ตามที่บริษัทเสนอแผนการศึกษามา เช่น ซีพีเฟรชมาร์ท โลตัส แม็คโคร เท่านั้น ซึ่งการดำเนินการศึกษาวิจัย ต้องรายงานให้กรมประมงรับทราบทุกขั้นตอน ตลอดจนต้องส่งผลการศึกษาวิจัยฉบับสมบูรณ์แก่กรมประมง
แต่จากการตรวจสอบข้อมูล พบการออกข่าวประชาสัมพันธ์ของ CPF ได้ดำเนินการนอกเหนือจากกรอบโครงการวิจัยที่บริษัทเสนอต่อกรมประมง โดยจำหน่ายปลาเก๋าหยกในเชิงพาณิชย์ ก่อนที่จะรายงานให้กรมประมงทราบ กรมประมงจึงได้แจ้ง CPF ให้ระงับการประชาสัมพันธ์ดังกล่าวภายใน 3 วัน มิเช่นนั้น กรมประมงจะดำเนินการพักใช้ใบอนุญาตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดนี้ ซึ่งหมายความว่า CPF จะไม่สามารถดำเนินการในทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับปลาเก๋าหยกได้ต่อไป