ENVIRONMENT

กรมอุทยานฯ ร่วมตรวจติดตาม ‘พลายประตูผา’ ช้างไทย ณ ศรีลังกา

พบ สุขภาพโดยรวมแข็งแรงเป็นปกติ มีอารมณ์ค่อนข้างผ่อนคลาย

นางสุนีย์ ศักดิ์เสือ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ ร่วมตรวจเยี่ยม ‘พลายประตูผา’ เพื่อการติดตามดูแลสุขภาพและสวัสดิภาพของช้างไทย ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา โดยมีนายพจน์ หาญพล เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ เป็นหัวหน้าคณะ พร้อมทีมสัตวแพทย์จากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมสังเกตการณ์อาการและลักษณะภายนอกโดยรวมของพลายประตูผา

นางสุนีย์ เปิดเผยว่า พลายประตูผาอยู่ในช่วงท้ายของการตกมัน จึงถูกแยกมาอยู่ที่วัด Suduhumpola Rajamaha Viharaya ซึ่งห่างจากวัดพระเขี้ยวแก้ว (Sri Dalada Maligawa) ประมาณ 4 กิโลเมตร ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จากการสังเกตการณ์ของทีมสัตวแพทย์ พบว่า สุขภาพโดยรวมของพลายประตูผาแข็งแรงเป็นปกติ ช้างมีอารมณ์ค่อนข้างผ่อนคลาย สังเกตได้จากการโบกหู แต่จะแสดงพฤติกรรมข่มขู่ เมื่อมีคนแปลกหน้าเข้าใกล้ ด้วยการชูงวงและส่งเสียง แสดงอาการไม่พอใจบ้าง เป็นครั้งคราว ผิวหนังด้านขวาเป็นปกติไม่มีแผลกดทับ ไม่มีฝีหนอง การขับถ่ายเป็นปกติ ลักษณะการฉี่ปกติ มูลช้างมีสี กลิ่น ความละเอียดของเส้นกากใย ที่แสดงถึงสุขภาพฟันและระบบย่อยอาหารที่ดี มีน้ำหนักตัวปกติค่อนไปทางมาก ซึ่งจำเป็นต้องมีการควบคุมชนิดและปริมาณอาหารให้เหมาะสม ควรเน้นการให้อาหารประเภทเส้นใยสูง เช่น หญ้า ใบเต่าร้าง ควรงดอาหารประเภทที่ให้พลังงานสูง เช่น กล้วย อ้อย แตงโม ฟักทอง ฯลฯ เพื่อให้พ้นช่วงตกมันโดยเร็ว และไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพในอนาคต เช่น การรับน้ำหนักตัว ข้อต่อต่าง ๆ

เล็บโดยรวมดูปกติ มีรอยแตกเล็กน้อย ควรได้รับการตัดแต่งเพิ่มเติม ทั้งนี้หากมีการควบคุมดูแลสุขภาพโดยรวม การจัดสถานที่ การให้ชนิดและปริมาณอาหารที่เหมาะสม เน้นการให้อาหารประเภทเส้นใยสูง เช่น หญ้า ใบเต่าร้าง และงดอาหารประเภทที่ให้พลังงานสูง เช่น กล้วย อ้อย แตงโม ฟักทอง อาจจะช่วยให้พ้นช่วงตกมันโดยเร็ว และไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพในอนาคต ซึ่งคาดว่าช้างสิ้นสุดการตกมันในช่วงเดือนตุลาคมนี้

ส่วนปฏิสัมพันธ์กับควาญช้างเป็นไปด้วยดี เพราะควาญช้าง ได้ดูแลพลายประตูผา มา 11 ปี ซึ่งในช่วงที่คณะเข้าสังเกตการณ์ ควาญช้างได้เข้าทางด้านหลังของช้าง เพื่อรดน้ำ ขัดล้างฝ่าเท้า แสดงถึงความใกล้ชิดระหว่างควาญกับช้าง โดยควาญสามารถเข้าหาและสั่งช้างได้ในช่วงตกมัน ซึ่งโดยทั่วไปเป็นเรื่องที่ทำได้ยากและอาจเป็นอันตราย เป็นสิ่งที่บ่งบอกได้ว่าทั้งสองมีความผูกพันและมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

Related Posts

Send this to a friend