ENVIRONMENT

ไม่ยอมรับรายงาน SIA ฉบับแรกเขื่อนหลวงพระบาง หวั่นกระทบเมืองมรดกโลกยูเนสโก้ จี้ทำใหม่

สำนักข่าววิทยุเอเชียเสรี รายงานเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 ว่า องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (อังกฤษ: United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization:  UNESCO) หรือ ยูเนสโก้ ได้เรียกร้องให้มีการประเมินผลกระทบกรณีเขื่อนหลวงพระบาง ในประเทศลาว ต่อตัวเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์ด้านสถาปัตยกรรมทางวัฒนธรรมและผังเมืองแบบสถาปัตยกรรมยุโรปในศตวรรษที่19-20 ซึ่งมีการเฉลิมฉลองครบรอบ25 ปีการเป็นหนึ่งในเมืองมรดกโลกเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา

โครงการเขื่อนหลวงพระบาง ขนาด 1,460 เมกะวัตต์ มูลค่าการก่อสร้าง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทปิโตรเวียดนามพาวเวอร์คอเปอเรชั่น บริษัท ช.การช่าง และรัฐบาลลาว มีแผนที่จะเริ่มก่อสร้างในปีนี้และคาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 7 ปีข้างหน้า

ดร. Metchtild Rossler ผู้อำนวยการยูเนสโก้ กล่าวว่า เราได้รับแจ้งเกี่ยวกับโครงการเขื่อนหลวงพระบาง จะก่อสร้างเหนือเมืองหลวงพระบางขึ้นไปประมาณ 25 กิโลเมตร  เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2563 จุดที่ตั้งของเขื่อนอยู่ใกล้กับตัวเมืองหลวงพระบางมาก คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยและความมั่นคงและเราก็มีคำถามเช่นกันว่า หากเกิดผลกระทบต่อเมืองที่ได้รับการยกย่องว่ามีคุณค่าทางมรดกโลก เช่น ภัยพิบัติ เขื่อนแตก จะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและความมั่นคงของประชาชนในพื้นที่ด้วย เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ส่งจดหมายถึงรัฐบาลลาวเพื่อขอให้มีการประเมินผลกระทบต่อเมืองมรดกโลกและความเสี่ยงอื่น ๆ และเตรียมที่จะนำเสนอปัญหาดังกล่าวต่อการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม 2564 นี้ที่จีน

ถึงแม้ว่า ผู้พัฒนาโครงการได้ทำการประเมินผลกระทบทางสังคมเสร็จแล้ว แต่ทางยูเนสโก้หวังว่า จะมีทำรายงานการประเมินใหม่ที่ครอบคลุมถึงข้อกังวลที่ได้เสนอไปทั้งหมด  “เราเรียกร้องให้ผู้พัฒนาเขื่อนหลวงพระบางต้องจัดทำการประเมินผลกระทบทางสังคม (SIA) ให้ชัดเจนกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือ บริษัทที่จะสร้างเขื่อนไม่อยากทำการประเมินผลกระทบทางสังคมใหม่ และบอกว่าได้ทำรายงานดังกล่าวเสร็จไปแล้ว แต่ทางยูเนสโก้ไม่ยอมรับรายงานการประเมินผลกระทบทางสังคมฉบับแรก” เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานมรดกโลกที่เมืองหลวงพระบาง กล่าว

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา มีการประชุมระหว่างตัวแทนของรัฐบาลลาวและบริษัทท้องถิ่นเห็นร่วมกันว่าต้องมีการแก้ไขตามข้อกังวลของยูเนสโก้เกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง เช่น การพังทลายของตลิ่งแม่น้ำโขง ดินถล่ม ระดับการผันผวนขึ้นลงของน้ำโขง และการลดลงของปลาแม่น้ำโขง ปัญหาเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อภูมิทัศน์ของเมืองหลวงพระบางและประชาชนทุกคน

“การประชุมล่าสุด รัฐบาลลาวไม่ได้คัดค้านโครงการเขื่อนหลวงพระบาง แต่เรียกร้องให้บริษัทต้องทำการศึกษาให้ครอบคลุมตามข้อเรียกร้องของยูนเสโก้” เจ้าหน้าที่คณะกรรมการมรดกโลกของลาว ระบุ

เจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แขวงหลวงพระบางให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ว่ายูเนสโก้ได้ให้ชะลอโครงการ เพราะว่า ยูเนสโก้ระบุว่า ต้องไม่มีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่ขอบเขตหรือพื้นที่กันชนของเมืองมรดกโลกอย่างน้อย 20 กิโลเมตรจากตัวเมืองมรดกโลก ซึ่งรวมถึงการพัฒนาที่อาจจะก่อให้เกิดมลภาวะทางเสียง กลิ่นและมลพิษทางอากาศ หรือผลกระทบอื่นๆ ต่อผู้ที่อยู่อาศัยในเมืองหลวงพระบาง  ซึ่งหากมีการละเมิดข้อกำหนดหรือข้อตกลงดังกล่าว ยูเนสโก้อาจจะถอนสถานะของเมืองมรดกโลกได้

ขณะที่เจ้าหน้าที่จากกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ กล่าวว่า การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสังคมใหม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะการตัดสินใจของรัฐบาลลาวว่าจะต้องทำตามที่ยูเนสโก้เสนอหรือไม่? รัฐบาลหรือผู้พัฒนาโครงการอาจจะไม่ต้องทำก็ได้ ถ้าไทยไม่เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า  ซึ่งจะมีพูดคุยกันในครั้งต่อไป 

สัญญาซื้อขายไฟฟ้า เป็นข้อตกลงร่วมระหว่างสองประเทศที่จะซื้อพลังงานจากเขื่อนต่าง ๆ เป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงทางการเงิน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติไทย ระบุเมื่อเดือนธันวาคม ที่ผ่านมาว่า อาจจะไม่มีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเขื่อนอื่นๆ โดยเฉพาะเขื่อนสานะคาม เนื่องจากรายงานไม่ชัดเจนด้านผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

ขณะที่ประชาชนที่อาศัยในเมืองหลวงพระบางจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง และมีชาวบ้านต้องถูกโยกย้ายอีกกว่า 2000 คน

“เรากังวลเรื่องความปลอดภัยมาก เพราะเขื่อนอยู่ใกล้เมือง พวกเราส่วนใหญ่ไม่ได้อยากได้เขื่อนนี้ แต่เราพูดไม่ได้ เพราะเป็นโครงการของรัฐ” เสียงของผู้อยู่อาศัยในเมืองหลวงพระบาง

เจ้าของร้านอาหารรายหนึ่งกล่าวว่า ระดับน้ำโขงคือข้อกังวลมากที่สุด “ไม่ควรมีเขื่อนอีกแล้ว ฉันไม่ได้อยากเห็นเขาสร้างเขื่อน ไม่รู้ว่าจะมีน้ำมากหรือน้ำน้อย ถ้าเขาสร้างเขื่อนแห่งนี้เสร็จ” เขากล่าว เช่นเดียวกับชาวบ้านที่ต้องโยกย้ายว่า พวกเขากังวลความไม่แน่นอนของอนาคตที่ต้องถูกอพยพไปอยู่ในพื้นที่ทางทางบริษัทจัดให้

“พวกเราส่วนมากไม่อยากถูกย้ายไปอยู่ที่อื่น เพราะว่ามันสร้างความลำบากในการดำเนินชีวิต เราคงไม่สามารถขับเรือรับรับจ้างได้ เราไม่รู้ว่าอะไรเกี่ยวกับค่าชดเชยเลย” เขากล่าว

อนึ่งในการประชุมเกี่ยวกับภาวะน้ำโขงแห้งเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563  ดร.สมเกียรติ ประจำวงศ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติของไทย กล่าวว่า เขื่อนตั้งอยู่ใกล้กับเขตมรดกโลกเป็นปัญหา รัฐบาลลาวควรจะต้องระมัดระวังเขื่อนหลวงพระบางมากกว่าเขื่อนไซยะบุรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความปลอดภัย

Related Posts

Send this to a friend