ENVIRONMENT

ชาวเชียงของ รวมตัวปกป้อง-ปลูกป่าปางควาย หวั่นโครงการรัฐเข้ามาทำลาย

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2562 ที่บริเวณป่าชุมชนปางควาย บ้านทุ่งงิ้ว ต.สถาน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้มีจัดกิจกรรมปลูกป่า “ป่าไม้คือมณีของชีวิต” ซึ่งมีชาวบ้าน เด็กและเยาวชนในหลายหมู่บ้าน รวมทั้งข้าราชการและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกันปลูกป่าโดยมีนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) เป็นประธาน ทั้งนี้นอกจากร่วมกันปลูกป่าแล้ว ยังมีพิธีเลี้ยงปางสักการะผีปู่ย่า รุขเทวดา ผีสางนางไม้ เพื่อความเป็นสิริมงคล

นายวิฑูรย์ จำปาคำ อดีตผู้ใหญ่บ้านทุ่งงิ้ว กล่าวว่า ผืนป่าแห่งนี้ในอดีตมีเนื้อที่กว่า 1 พันไร่แต่ถูกตัดแบ่งจนเหลือเพียง 531 ไร่ โดยบรรพบุรุษได้เก็บรักษาป่าผืนนี้เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารและแหล่งทำมาหากินของชุมชน โดยพื้นที่เป็นป่าชุมน้ำติดกับแม่น้ำอิงในช่วงหน้าฝนราวเดือนสิงหาคม-ตุลาคมจะมีน้ำท่วมกลายเป็นระบบนิเวศที่สำคัญให้ปลาได้เข้ามาหาอาหารและวางไข่ อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้รัฐบาลมีแผนที่จะพัฒนาให้เป็น 1 ในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษของจังหวัดเชียงราย แต่ชาวบ้านไม่เห็นด้วย เพราะป่าผืนนี้เป็นเหมือนซุปเปอร์มาเก็ตของชุมชน หากเปลี่ยนเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษก็จะทำให้สูญสิ้นผืนป่า และที่สำคัญคือชาวบ้านยังสับสน เนื่องจากไม่เคยมีคำชี้แจงที่ชัดเจนจากรัฐออกมาว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ล่าสุดได้ทราบว่ารัฐบาลได้ยกเลิกโครงการแล้วเนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่ม น้ำท่วมถึง ทำให้ชาวบ้านดีใจและร่วมกันบวชป่าและปลูกป่าเพื่อรักษาผืนป่านี้เอาไว้ให้ลูกหลานต่อไป

นายวิฑูรย์กล่าวต่อไปว่า พื้นที่แห่งนี้ปัจจุบันเป็นที่ดินสาธารณะซึ่งชาวบ้านร่วมกันดูแลป่า แต่ก็ยังมีหน่วยงานรัฐเข้ามาทำโครงการต่างๆ เช่น ล่าสุดทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้เข้ามาขุดลอกหนองน้ำ ทำลายระบบนิเวศโดยไม่ได้มีการหารือใดๆ กับชาวบ้าน

นายสมเกียรติ์ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต เปิดเผยว่าผืนที่ป่าแห่งนี้เป็นป่าชุ่มน้ำที่สำคัญ และเป็น 1 ใน 17 แห่งที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นป่าชุ่มน้ำของแม่น้ำอิงตอนล่างซึ่งมีพื้นที่รวม 1,890 ไร่ โดยขณะนี้ทางจังหวัดได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาและอยู่ในช่วงการสำรวจความหลากหลาย หลังจากได้ข้อมูลครบตามเงื่อนไข คณะกรรมการฯจังหวัดจะเสนอเรื่องไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้พิจารณาตรวจสอบก่อนเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี

นอกจากนี้สภาประชาชนลุ่มน้ำอิง โฮงเฮียนแม่น้ำของ สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง และสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ยังได้ร่วมกันทำวิจัยสำรวจเครื่องมือหาปลาและสัตว์น้ำในป่าชุ่มน้ำและบริเวณโดยรอบของหมู่บ้านทุ่งงิ้ว พบว่ามีเครื่องมือจับสัตว์น้ำอยู่ถึง 32 ชนิดที่มีวิธีการใช้แตกต่างกันไป แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของชาวบ้านที่ต้องเข้าใจอย่างละเอียดในเรื่องต่างๆเพื่อนำมาประกอบเป็นองค์ความรู้ในการหาอยู่หากินในป่าบ้านทุ่งงิ้วโดยเฉพาะที่นี่มีพันธุ์ปลากว่า 100 ชนิดซึ่งปลาแต่ละชนิดต่างมีลักษณะการหากินที่แตกต่างกัน

Related Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Send this to a friend