DEEPSOUTH

ชีวิตนักเรียนที่เริ่มต้นในวัย 16 และโอกาสทางการศึกษาที่สร้างความหวังให้เด็กชายแดนใต้

สำหรับใครหลายๆ คน ชีวิตนักเรียนอาจเริ่มต้นตั้งแต่วัยเยาว์ เพียง 3 ขวบก็เข้าเนอสเซอรี 4 ขวบเข้าอนุบาล 6 ขวบเรียนประถม 1 โดยอาจไม่เคยรู้เลยว่า ยังมีเพื่อนๆ อีกหลายคนทั่วประเทศที่ไม่มีโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษาในวัยเดียวกัน ไม่ว่าจะอยากเรียนแค่ไหนก็ตาม ด้วยเหตุผลและข้อจำกัดหลายๆ ประการในชีวิต และเฝ้ารอวันที่จะได้รับโอกาสเป็นนักเรียน

“ซาเก๊ะ” มะสากิ มีมะ เป็นอีกคนที่เฝ้ารอคอยโอกาสนั้นมาตลอด และได้แต่เฝ้ามองเด็กในวัยเดียวกันใช้ชีวิต “นักเรียน” จนได้เริ่มชีวิตนักเรียนในวัย 16 ปี!
“ซาเก๊ะ” มะสากิ มีมะ กับการเป็นนักเรียนครั้งแรกในวัย 16 ปี

ซาเก๊ะ เป็นเด็กนอกระบบ จากอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลาที่มีปัญหาความบกพร่องทางร่างกาย มีภาวะแขนขาอ่อนแรง กระดูกขาผิดรูป และความเป็นอยู่ทางบ้านที่ไม่ได้สุขสบายนัก 7 ชีวิตในบ้าน อยู่ได้ด้วยรายได้ค่าแรงรายวันขั้นต่ำจากการกรีดยางของพ่อกับพี่ชาย และการขายอาหารเล็กๆ น้อยๆ หน้าบ้านของแม่ และพี่สาว ทำให้ที่ผ่านมา เขาไม่เคยสัมผัสชีวิตนักเรียนมาก่อน

“การได้มาโรงเรียนให้ความรู้สึกเหมือนกับที่ผมคิดเอาไว้ บรรยากาศในห้องเรียนไม่มีความเครียด สนุก ผมมีเพื่อนแล้วหลายคน หลายระดับชั้น ทั้งอนุบาล 3 ป.1 หรือที่เรียนอยู่ ป.3 ก็มี หลังจากเริ่มไปโรงเรียน เดี๋ยวนี้ทุกวันผมจะรีบกลับไปทำการบ้าน ไม่ไปเที่ยวไหน ผมชอบดูหนังสือเรียน อยากเรียนอ่านเขียนให้ได้เร็ว ๆ” ซาเก๊ะ เล่าถึงความประทับใจในชีวิตนักเรียน ครั้งแรกของเขาด้วยสีหน้าเปี่ยมสุข เพราะความฝันในการอ่านออกเขียนได้ของเขากำลังจะเป็นจริง

ซาเก๊ะ กับเพื่อนร่วมชั้นรุ่นน้อง ที่เข้ากันได้ดี

สุไวบ๊ะ มีมะ พี่สาวของซาเก๊ะ เล่าว่า ที่บ้านจบการศึกษาชั้นสูงสุดที่ระดับชั้น ป.6 และไม่มีใครได้เรียนต่อ เนื่องจาก 7 ชีวิตในบ้านต้องอยู่กันด้วยรายได้อันน้อยนิดของครอบครัว ประกอบกับสภาวะทางกายภาพแต่กำเนิดของซาเก๊ะที่ทำให้เขาไม่สามารถเดินได้เหมือนกับคนอื่นๆ และไม่สามารถไปเรียนได้

“ถ้าจะให้เขาได้เรียนก็ต้องรักษาให้เขาเดินได้ก่อน แต่ครอบครัวก็ไม่มีรายได้มากพอจะดูแลเขาได้มากกว่าที่เป็นอยู่ แต่เขาก็ไม่เคยหยุดพยายาม และไม่เคยท้อถอยกับความฝันในการได้เรียนหนังสือ โดยเขาจะพยายามหัดเรียนด้วยตนเอง ฝึกเขียนตัวหนังสือโดยเลียนแบบจากสมุดหนังสือที่มีอยู่ในบ้าน ทั้งที่ไม่มีใครสอนเขามาก่อน” พี่สาวของซาเก๊ะ กล่าว

สุไวบ๊ะ มีมะ พี่สาวของซาเก๊ะ ช่วยน้องเตรียมความพร้อมก่อนไปโรงเรียนวันแรก

ซาเก๊ะ ต้องอาศัยฐานตั้งถังแก๊สติดล้อเป็นพาหนะช่วยสำหรับการเคลื่อนย้ายร่างกาย จนวันหนึ่ง เขาได้รับมอบวิลแชร์จากทหารที่เข้ามาในหมู่บ้าน นั่นทำให้เขาสามารถพาตัวเองไปในที่ต่างๆ ได้สะดวกขึ้น แต่ซาเก๊ะไม่หยุดความหวังของเขาไว้แค่นั้น เขาบอกกับคนในครอบครัวเสมอว่าอยากลุกขึ้นเดินด้วยขาของตัวเอง ไม่ต้องการเป็นภาระของใคร จากนั้นพ่อของเขาจึงหาไม้ค้ำมาให้ใช้ช่วยฝึกเดิน ซาเก๊ะใช้เวลาทุกวันทำกายภาพด้วยวิธีเหยียดขาตัวเองบนวิลแชร์ ทำซ้ำๆ ขยับบิดจนขายืดตรงได้ แล้วหัดยืนโดยใช้ไม้ค้ำช่วย จากนั้นลองเริ่มหัดเดิน จนวันหนึ่งเมื่อปี 2561 เขาก็สามารถออกเดินได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องใช้ไม้ค้ำอีกต่อไป

“เป็นเรื่องอัศจรรย์มาก ไม่รู้เขาทำได้ยังไง จากขาที่พับลีบต้องนั่งบนแผ่นกระดานติดล้อ จนมีวิลแชร์ ซึ่งแค่นั้นก็สะดวกแล้ว แต่เขาก็ไม่เคยหยุดพยายาม เขาเชื่อมั่นเสมอว่าวันหนึ่งตัวเองจะเดินได้ ทั้งที่หน่วยงานสาธารณสุขที่ช่วยสอนเขาทำกายภาพเคยประเมินไว้ว่า โอกาสเดินได้ของเขาแทบเป็นศูนย์ แต่เขาทำกายภาพอย่างหนัก ทำทุกวัน วันหนึ่งก็เกิดปาฏิหาริย์จริง ๆ” ลุกมาน ซูมามะ ครูอาสาในพื้นที่ อ.บันนังสตา เล่าถึงพลังใจอันยิ่งใหญ่ของซาเก๊ะ

ความพยายามก้าวตามความฝัน ทำให้ซาเก๊ะสามารถยืน และเดินได้ด้วยตัวเอง

ครูอาสาจาก อ. บันนังสตา บอกว่า หลังได้รับเรื่องการสำรวจเด็กนอกระบบจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ผ่านทาง อบจ. ยะลา จึงได้ส่งชื่อของซาเก๊ะเข้าสู่กระบวนการสำรวจ เนื่องจากเป็นกรณีที่พิเศษ เขาไม่เคยเรียนหนังสือ เป็นผู้พิการเดินไม่ได้ ทางบ้านก็มีรายได้ไม่มาก จนในที่สุด เมื่อผ่านขั้นตอนประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่อย่างเร่งด่วน ซาเก๊ะก็ได้รับโอกาสให้ไปโรงเรียนเป็นครั้งแรก ในปลายเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่โรงเรียนบันนังสตาอินทรฉัตรมิตรภาพที่ 200 ที่ระลึก ส.ร.อ. อ.บันนังสตา จ.ยะลา โดยเป็นการจัดการศึกษาในรูปแบบพิเศษ เพื่อปูพื้นฐานการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับซาเก๊ะโดยเฉพาะ

นายมุขตาร์ มะทา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา

มุขตาร์ มะทา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา เผยว่า อบจ. ยะลา ได้ร่วมมือกับ กสศ. โดยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งกศน. เขตพื้นที่ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะทำงานของภาคีเครือข่ายทุกระดับ ค้นหาเด็กนอกระบบ เพื่อนำเข้าสู่ระบบการศึกษาเป็นรายกรณี จากการสำรวจพบกลุ่มเป้าหมายเป็นจำนวน 9, 669 คน โดยสำรวจพบและบันทึกข้อมูลไว้แล้วจำนวน 6, 874 คน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเป้าหมายที่เข้าเกณฑ์ 3,184 คน และมีจำนวนของเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนทั้งหมด 2,405 คน ขณะที่งบประมาณเบื้องต้นที่มีอยู่สามารถช่วยเหลือเด็กได้เพียง 451 คนเท่านั้น ในอัตราเงินช่วยเหลือที่รายละ 4,000 บาท

“เด็กที่เราเรียกว่าเป็น ‘เด็กนอกระบบการศึกษา’ ในพื้นที่ จ.ยะลา ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ขาดแคลนทุนทรัพย์ เขาจึงไม่สามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้นาน หลายคนต้องออกมาทำงานกรีดยาง ขายของ หรือใช้แรงงาน เมื่อเราสำรวจพบเขาแล้ว ก็จะใช้กระบวนการดูแลเป็นรายคน โดยคณะทำงานทั้งในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับพื้นที่ และด้วยพื้นฐานของปัญหาที่มาจากครอบครัวบางรายเราจึงต้องวางแผนช่วยเหลือที่ครอบครัวร่วมด้วย เบื้องต้นเราเน้นที่การเก็บข้อมูลและสอบถามความต้องการในด้านต่าง ๆ ของเด็กและครอบครัว”

“ซาเก๊ะเป็นเคสพิเศษ เพราะเขามีร่างกายไม่ปกติแต่กำเนิด เดินไม่ได้จนถึงอายุ 15 ทำให้เด็กไม่เคยไปโรงเรียนเลย แต่หลังจากที่เราพบเขา ได้สอบถามกับครอบครัว แล้วทราบว่าเขามีความต้องการจะเรียนหนังสือ อยากมีอาชีพดูแลตนเองได้ ส่วนตัวซาเก๊ะ มีความสนใจและใฝ่ฝันอยากเรียนด้านถ่ายภาพและคอมพิวเตอร์กราฟิก เราก็จะจัดการศึกษาให้เขาได้มุ่งไปทางอาชีพเกี่ยวกับงานที่เขาอยากทำ แต่เนื่องจากเขาไม่เคยเรียนมาก่อน ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ก็จำเป็นจะต้องปรับพื้นฐานก่อน เพื่อให้เขาฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาไทยให้คล่อง ก่อนจะสนับสนุนให้เขาเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจเป็นลำดับต่อไป” นายก อบจ.ยะลา กล่าว

นางประไพ ปุยุ ผู้อำนวยการโรงเรียนบันนังสตาอินทรฉัตรมิตรภาพที่ 200 ที่ระลึก ส.ร.อ.

ประไพ ปุยุ ผู้อำนวยการโรงเรียนบันนังสตาอินทรฉัตรมิตรภาพที่ 200 ที่ระลึก ส.ร.อ. ระบุว่า ทางโรงเรียนได้รับการติดต่อจาก อบจ. ยะลา ว่ามีเด็กนักเรียนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาเนื่องจากมีปัญหาด้านร่างกาย จึงได้รับเด็กเข้ามาเพื่อช่วยดูแลปรับพื้นฐานการเรียนเบื้องต้น ฝึกการใช้ภาษา และได้จัดให้เข้าเรียนร่วมกับระดับชั้นอนุบาล 3 ก่อน เนื่องจากซาเก๊ะไม่เคยผ่านการศึกษามาก่อนเลย จึงอยากให้เขาได้ปรับตัวทั้งด้านการเรียน ด้านสังคม และให้ได้เรียนกับครูที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่ 1 เพื่อที่จะสื่อสารภาษาไทยได้คล่องขึ้น และมีพื้นฐานการอ่านเขียนซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของเขา ก่อนจะประเมินผลการเรียนรู้ตามลำดับเพื่อเลื่อนชั้นเรียนต่อไป โดยในเบื้องต้นเขาสามารถปรับตัวกับโรงเรียนได้ดี เข้ากับน้องๆ ในชั้นเรียนได้ และได้รับคำชมจากครูว่าเรียนรู้ไว และมีความตั้งใจสูง

ครูเอ๋ มณีรัตน์ ขาวทอง ครูประจำชั้นอนุบาล 3 ของซาเก๊ะ สอนเสริมวิชาภาษาไทย และคณิตศาสตร์

ครูเอ๋ มณีรัตน์ ขาวทอง ครูประจำชั้นอนุบาล 3 ผู้รับหน้าที่สอนพื้นฐานการอ่านเขียนของซาเก๊ะ เล่าถึงช่วงเวลาสัปดาห์แรกในโรงเรียนของเขาว่า การสอนอ่านเขียนให้ซาเก๊ะ เริ่มจากพื้นฐานการรู้จักพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ จากนั้นเมื่อชำนาญจึงค่อยเรียนการประสมคำ ไล่จากง่ายไปหายาก เน้นให้เขาได้ทำซ้ำๆ และใช้บ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน

“ในวันแรกของการเรียน ครูได้ลองให้ซาเก๊ะอ่านบัตรคำที่มีพยัญชนะไทย 44 ตัว โดยสุ่มหยิบไม่เรียงลำดับ ซึ่งเขาก็สามารถอ่านออกเสียงตามได้ และรู้จักพยัญชนะบางตัว สิ่งหนึ่งที่มองเห็นคือเขาตั้งใจเรียนมาก มีสมาธิ สอนครั้งเดียวเขาสามารถจำได้ทันที แต่ปัญหาหลักคือเขายังออกเสียงได้ไม่ชัด เราก็จะค่อยๆ แก้ และสอนเพิ่มที่ตรงนั้น ความพิเศษที่น่าประทับใจของซาเก๊ะคือเขาเป็นเด็กมีน้ำใจ จะช่วยเหลือครูในการดูแลน้องๆ ในชั้นเรียน และสามารถปรับตัวกับโรงเรียนได้เร็ว” ครูมณีรัตน์ เล่า

ซาเก๊ะ เป็นผู้นำน้องชั้น อ.3 ช่วยครูประจำชั้นดูแลและเรียนร่วมไปกับน้อง ๆ

ซาเก๊ะ มีความสุขในการได้เป็น นักเรียนในระบบ ครั้งแรกในวัย 16 ปี มีความสุขกับการเรียน และทุกๆ วันที่ได้มาโรงเรียน เขาได้รับหน้าที่เป็นผู้นำน้องชั้น อ.3 ในชั้นเรียน และช่วยครูประจำชั้นดูแลและเรียนร่วมไปกับน้องๆ หัดอ่าน เขียน เรียนสะกดภาษาไทย ในช่วงเช้า และในช่วงบ่ายหลังอาหารกลางวันที่นักเรียนชั้น อ.3 เข้านอน เขาจะได้รับการสอนเสริมพิเศษจากครูประจำชั้น ในวิชาภาษาไทยและคณิตศาสตร์พื้นฐาน จนถึงเวลาเลิกเรียน  

“คิดว่ากว่าจะท่อง ก.ไก่ ข.ไข่ และใช้ภาษาไทยได้คล่องคงต้องใช้เวลาหลายเดือน เนื่องจากยังไม่คุ้นเคยเรื่องภาษา แต่ที่ผ่านมาตอนอยู่บ้านก็ได้เคยดู เคยหัดเขียนมาแล้ว น่าจะทำให้เรียนรู้ได้เร็วขึ้น และมีความสุขมากที่ได้มาเรียนในหนังสือ” ซาเก๊ะ ทิ้งท้ายอย่างร่าเริง

ซาเก๊ะ เป็นหนึ่งในนักเรียนนอกระบบที่มีความมุ่งมั่นในการเรียน และการพัฒนาทักษะความรู้ แต่ “ขาดโอกาส” ทางการศึกษา เช่นเดียวกับเด็กอีกหลายพันคนในยะลา และอีกมากมายทั่วประเทศ เงินช่วยเหลือ 4,000 บาทจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ.จึงมีความหมายมากสำหรับชีวิตของเขา และเพื่อนๆ ที่ยังรอคอย “โอกาส” ทางการศึกษา … น่าเสียดายเหลือเกินแต่น่าเสียดายที่งบประมาณของ กสศ. ณ ขณะนี้ สามารถช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ได้เพียง 451 คนเท่านั้น จะดีแค่ไหน ถ้าเรื่องสำคัญอย่าง “ความเสมอภาคทางการศึกษา” และ “โอกาส” ได้รับความสนใจ และมีงบประมาณสนับสนุนเพียงพอ …

Related Posts

Send this to a friend