DEEPSOUTH

ผบ.ตร. ร่วมกับแม่ทัพภาค 4 – ภูธรภาค 9 แถลงความคืบหน้าคดียิงจุดตรวจ ชรบ.ลำพะยา

จากหลักฐานในที่เกิดเหตุสรุปได้ ดังนี้

  • ผลตรวจปลอกกระสุนปืนยิงมาจากอาวุธปืน จำนวน 25 กระบอก พบประวัติเคยก่อเหตุคดีความมั่นคง จำนวน 17 กระบอก ในพื้นที่อำเภอเมือง กรงปินัง บันนังสตา ยะหา กาบัง ของจังหวัดยะลา อำเภอเมือง โคกโพธิ์ หนองจิก ยะหริ่ง ของจังหวัดปัตตานี และอำเภอเทพา ของจังหวัดสงขลา ซึ่งในหลายคดี เจ้าหน้าที่ได้พิสูจน์ทราบ สามารถรู้ตัวตนคนร้าย 12 คน ยืนยันจาก DNA จำนวน 3 คน ซึ่งออกหมายจับ ป.วิอาญา ได้ดังนี้
  1. นายนัสรูเลาะห์ สะมะ ผู้ก่อการร้าย รับผิดชอบพื้นที่ตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เกี่ยวข้องกับเหตุเผา บริษัทชินวรก่อสร้าง วางระเบิด ชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) ท่าสาปฯ สอบเป็นพยานในคดีแล้วขอกลับภูมิลำเนา ปัจจุบันไม่สามารถติดตามตัวได้
  2. นายซะอุดี ติงอุเซ็ง อยู่ในชุดปฏิบัติการของ นายนอร์ดิน หะยีอาซา ผู้ก่อการร้าย รับผิดชอบพื้นที่ ตำบลตาเนาะปูเต๊ะ มีหมายจับ 6 หมาย เคยถูกจับกุมเมื่อปี 2558 ศาลพิพากษายกฟ้อง ต่อมาได้ถูกออกหมายจับอีก 2 หมาย
  3. นายอาดัม มุสอดี ผู้ก่อการร้ายในพื้นที่อำเภอยะหา อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา เกี่ยวข้องกับเหตุโจมตี ชุดคุ้มครองตำบลบาโระ เผาสำนักงานการไฟฟ้ากาบัง

ทั้งสามคนถูกออกหมายจับและประกาศสืบจับแล้ว อยู่ระหว่างติดตามจับกุมซึ่งตรงกับคำรับสารภาพบางส่วนของผู้ถูกควบคุมว่าชุดบันนังสตาเป็นชุดโจมตี ชุดปัตตานี เป็นชุดระวังป้องกัน 

  • พบรอยเลือด 5 รอย ที่ไม่ตรงกับผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บ เชื่อว่าเป็นของคนร้ายที่ได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้ ซึ่งรอยเลือด 5 รอย ระบุตัวตนได้ 1 คน คือ นายซะอุดี ติงอุเซ็ง ส่วนรอยเลือดอีก 4 รอย อยู่ระหว่างการตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อระบุตัวบุคคล
  • ระเบิดที่วางเสาไฟ 3 จุด มีตำหนิของเอกลักษณ์ที่ตรงกัน ทั้ง 3 ลูก จึงเชื่อว่าประกอบพร้อมกันโดยบุคคลเดียวกันใน พื้นที่บาตัน ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเข้าสู่กระบวนการซักถาม บางส่วนผลการซักถามรับสารภาพจึงขยายผลตรวจค้นควบคุมตัวเพิ่มเติม 6 คน และอยู่ระหว่างซักถามขยายผล และพิสูจน์ทราบคำซักถาม รวม 11 คน
พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ด้าน พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เปิดเผยว่า ภายหลังเกิดเหตุ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่รวบรวมวัตถุพยานที่เก็บได้จากสถานที่เกิดเหตุ ประกอบด้วย ปลอกกระสุนปืนชนิดต่างๆ รอยเลือดตามเส้นทางถอนตัวหลบหนี และวัตถุพยานอื่นๆ ซึ่งคาดว่าเป็นของคนร้ายไปทำการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์และตรวจสารพันธุกรรม เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายคนร้ายที่ก่อเหตุ 

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมประชุมหน่วยงานด้านการข่าวเพื่อวิเคราะห์ และกำหนดเป้าหมายบุคคลต้องสงสัย และพื้นที่ที่คาดว่าคนร้ายจะใช้หลบซ่อนตัว จนนำไปสู่การเข้าติดตามบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ สามารถควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัยรวม จำนวน 11 ราย ปัจจุบันควบคุมตัวเพื่อซักถาม ณ หน่วยซักถาม ฉก.ทพ.41  ฉก.ทพ.43 และศูนย์ซักถาม ขกท.สน.จชต.(ค่ายอิงคยุทธบริหาร) ซึ่งจากผลการซักถาม และตรวจหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ในขั้นต้นสามารถระบุตัวคนร้ายได้แล้ว 12 ราย ออกหมายจับแล้ว 3 ราย และจะทยอยออกหมายจับในส่วนที่เหลือต่อไป

ทั้งนี้เพราะกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงดังกล่าวเป็นบุคคลอันตรายและเคยก่อเหตุมาแล้วคนละหลายครั้ง จึงขอความร่วมมือช่วยกันแจ้งเบาะแสและร่วมปฏิเสธกลุ่มขบวนการสุดโต่ง BRN

ผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับ คดียิงถล่มจุดตรวจทางลุ่ม ต.ลำใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา

สำหรับผู้ให้การสนับสนุนหรือให้ที่พักพิงจะมีความผิดตามกฎหมายในอัตราโทษเดียวกับผู้ก่อเหตุรุนแรง ทั้งนี้ ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ ได้ปฏิบัติทุกขั้นตอนของกฎหมายด้วยความระมัดระวังและเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด ด้วยความโปร่งใสภายใต้การรับรู้ของผู้นำ 4 เสาหลัก และญาติโดยยืนยันว่าไม่มีการซ้อมทรมานดังที่สื่อแนวร่วมหรือบางฝ่ายพยายามบิดเบือนโจมตีในช่วงที่ผ่านมา และพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เข้าไปตรวจสอบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ได้ตลอดเวลา หรือหากยังมีข้อสงสัยพร้อมที่จะเปิดหลักฐานจากกล้องวงจรปิดให้ดูได้เช่นกัน

จากสถานการณ์ปัญหาที่ยืดเยื้อมากว่า 15 ปี จากการกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่มีพฤติกรรมสุดโต่ง เป็นอาชญากรที่สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน สูญเสียโอกาสในการพัฒนาในทุกรูปแบบอย่างไรก็ตามปัญหาดังที่กล่าวถือเป็นปัญหาภายในประเทศที่เกิดจากคนกลุ่มหนึ่งซึ่งล้วนเป็นพลเมืองของไทย รัฐจึงจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทยที่มีอยู่เข้าดำเนินการ เพราะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่พื้นที่สงคราม หรือพื้นที่ความขัดแย้งกันด้วยอาวุธที่จะต้องปฏิบัติภายใต้กติกาสงครามหรือกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) ดังที่บางองค์กรพยายามกล่าวอ้างเพื่อยกระดับปัญหาไปสู่ระดับสากล โดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าจะเร่งรัดแก้ปัญหาให้ครอบคลุมทั้งมิติความมั่นคง การสร้างความเข้าใจและการพัฒนาเพื่อความมั่นคง ตามแนวทางการเมืองนำการทหาร เปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเพื่อสร้างสภาวะให้เกื้อกูลและหนุนเสริมกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข นำพาสันติสุขสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

Related Posts

Send this to a friend