DEEPSOUTH

ประธาน PULO ไม่เห็นด้วย BRN ชิงการนำเจรจาสันติภาพใต้ CSO นักวิชาการเชื่อสัญญาณดี

The Reporters สำรวจปฏิกิริยา ของทุกภาคส่วน ต่อการให้สัมภาษณ์ของ นายอานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพ ขบวนการ BRN ที่ให้สัมภาษณ์สื่อไทยเป็นครั้งแรก หลังเข้าร่วมพูดคุยกับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เมื่อ 20 ม.ค.2563

การเปิดตัวให้สัมภาษณ์สื่อครั้งแรกของ นายอานัส เป็นการแสดงตัวตนครั้งแรกของผู้นำ BRN ในฐานะองค์กรลับ ที่ไม่เคยให้สัมภาษณ์สื่อไทยมาก่อน นอกจากการแถลงผ่านยูทูป และการให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศบางแห่ง

บทสัมภาษณ์ของ อุสตาสอานัส ในครั้งนี้ จึงมุ่งสื่อสารโดยตรงมาที่ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะถ้อยคำของนายอานัส ที่ยืนยันเหตุผลการร่วมโต๊ะเจรจา เพราะเห็นว่าเป็นทางออกของความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และย้ำจุดยืนว่า เป้าหมายของ BRN ต้องการเอกราช แต่ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ โดยไม่แบ่งแยกชาติพันธุ์ และศาสนา พร้อมรับฟังทั้ง มุสลิม พุทธ และจีน ที่อยู่ในดินแดนปาตานี ตามนโยบายของ BRN

ท่าทีนี้มีเสียงตอบรับที่ดีจาก นายรักชาติ สุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของ CSO หรือภาคประชาสังคมกว่า 30 องค์กร และอีกบทบาทหนึ่ง นายรักชาติ ยังเป็น ประธานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ

นายรักชาติ เห็นว่า การส่งสัญญาณฟังเสียงชาวพุทธ ของนายอานัส น่าจะส่งผลดีต่อกระบวนการสันติภาพ เพราะเหตุความรุนแรงที่ผ่านมากว่า 16 ปีที่ผ่านมา ขบวนการ BRN อยู่เบื้องหลังความรุนแรง ที่สร้างความสูญเสียให้กับชาวพุทธ และประชาชนผู้บริสทธ์ ดังนั้นการที่ BRN ที่เข้าร่วมโต๊ะเจรจา ออกมายืนยันว่าเป็นชุดที่ต่อเนื่องจาก นายฮัสซัน ตอยิบ ร่วมเจรจากับรัฐไทย เมื่อ 7 ปีก่อน และมาในนามองค์กร BRN ยิ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่เชื่อมั่นว่า “เป็นตัวจริง” อาจทำให้การพูดคุยง่ายขึ้น

“การที่ BRN แสดงตัวเข้าสู่โต๊ะเจรจาก็ทำให้คนในพื้นที่โดยเฉพาะ คนพุทธ เชื่อมั่นในกระบวนการสันติภาพมากขึ้น เพราะเจรจากับคนคุมกำลัง ดังนั้นสิ่งที่ประชาชนต้องการอย่างแรกจากการพูดคุย คือการสร้างพื้นที่ปลอดภัย เพราะในที่สุดแล้วสิ่งที่ประชาชนต้องการคือ ความปลอดภัย การยุติความรุนแรง” นายรักชาติ กล่าว

ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเคยร่วมคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพฝ่ายไทย เมื่อปี 2556 เห็นว่าท่าทีของ นายอานัส ที่ระบุว่า ไม่เคยคิดขับไล่คนพุทธ และพร้อมฟังเสียงของประชาชนทุกภาคส่วน สะท้อนให้เห็นท่าทีของ BRN ที่เข้าใจสถานการณ์ในพื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะความเป็นพหุวัฒนธรรมในพื้นที่ จึงเชื่อว่า กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ กำลังเดินไปสู่ทิศทางที่น่าสนใจ หากทั้งฝ่ายรัฐไทย ฝ่าย BRN และผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย เดินไปตามโรดแมป และฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งสามารถนำ ผลสำรวจสันติภาพชายแดนใต้ (Peace Survey)ไปเป็นฐานข้อมูลจากเสียงของประชาชนได้

นายอานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพ ขบวนการ BRN

ขณะที่ น.ส.รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิจัยอิสระด้านการจัดการความขัดแย้ง ที่ติดตามกระบวนการสันติภาพ เห็นว่า การแสดงตัวของ BRN ครั้งนี้ มุ่งมั่นและจริงจังกับการพูดคุยอีกครั้ง และยืนยันว่า BRN เป็นหนึ่งเดียว น่าจะส่งผลดีต่อเอกภาพการพูดคุย หลังมีข้อสงสัยถึงบทบาทของ BRN ใน Mara Patani ที่ถูกตั้งคำถามเสนอเรื่องการคุมกำลังในพื้นที ซึ่งนายอานัส ตอบชัดว่า BRN ใน Mara Patani เป็นแค่ตัวบุคคล

น.ส.รุ่งรวี เห็นว่า แม้การเข้ามาของ BRN ในครั้งนี้จะสร้างความหวังในกระบวนการสันติภาพ แต่ทำให้เห็นชัดว่า 7 ปียังไม่ไปไหน แต่ขณะเดียวกันก็มีความพยายามของฝ่ายไทยในการดึง BRN เข้าสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้ง จนเกิด Berlin Initiative และนำมาสู่การพบกันเมื่อ 20 ม.ค.63 ซึ่งยังคงท้าทายเนื่องจากในฝ่ายไทย ยังมีทั้งสายเหยี่ยว แและสายพิราบ

เสียงส่วนใหญ่ในภาครัฐ ยังไม่เห็นด้วยกับการมีผู้แทนจากต่างชาติมาร่วมสังเกตการณ์ในการพูดคุย แม้ในฐานะบุคคล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในรัฐไทยเอง จนส่งผลให้ BRN ไม่ยอมคุยต่อ ขณะที่มาเลเซียเองก็ไม่ได้ต้องการให้มีผู้สังเกตการณ์จากนานาชาติ

น.ส.รุ่งรวี ให้ความเห็นถึงปัจจัยท้าทายต่อกระบวนการพูดคุยในฝ่ายรัฐไทย และในฝ่าย BRN ก็มีปัญหาภายในเช่นเดียวกัน เพราะท่าทีของ นายอานัส อับดุลเราะห์มาน ที่มีเป้าหมายเพื่อเอกราช แต่การพร้อมฟังเสียงของประชาชน เป็นท่าทีที่ประนีประนอมระดับหนึ่ง อาจมีคำถามกลับไปยังกองกำลังที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ ที่ตั้งคำถามได้ว่า BRN จะลดระดับข้อเรียกร้องหรือไม่ และอาจทำให้กองกำลังที่ไม่เห็นด้วย แยกตัวไปตั้งกลุ่มติดอาวุธกลุ่มใหม่ เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ทำให้ปัญหาไม่รู้จบ

“อย่าลืมว่า ข้อตกลงสำคัญของฝ่ายรัฐไทยในการพูดคุยยังอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญไทย ที่เป็นราชอาณาจักร แบ่งแยกไม่ได้ ซึ่งหาก BRM ยอมรับการพูดคุย ก็อาจยอมรับรูปแบบอื่น เช่น เขตปกครองพิเศษหรือไม่ ดังนั้นการลดระดับข้อเรียกร้องอาจทำให้มวลชนและแนวร่วมของตัวเองไม่พอใจหรือไม่” น.ส.รุ่งระวี ให้ความเห็น

สำหรับการออกมาสื่อสารของ BRN ถือเป็นการประบยุทธศาสตร์สำคัญของ BRN ที่ต้องการสร้างความชอบธรรมจากองค์กรระหว่างประเทศ และระมัดระวังกับการใช้กำลัง ส่งผลดีต่อประชาชนในพื้นที่ที่ไม่ต้องการความรุนแรงด้วย

ประเด็นท้าทายที่สำคัญสำหรับ BRN คือต้องตั้งคำถามด้วยว่า แล้วกลุ่มขบวนการอื่นในพื้นที่ ที่รวมกันอยู่ใน Mara Patani จะอยู่ตรงไหนบนโต๊ะเจรจา ซึ่งมีอีก 5 กลุ่ม ทั้ง PULO 3 กลุ่ม ,BIPP,GIMP ซึ่งแม้จะไม่มีกำลังทหารมากเท่า BRN แต่ก็มีขบวนการต่อสู้เช่นเดียวกัน ซึ่ง น.ส.รุ่งระวี เห็นว่า อาจจะเข้ามาในรูปแบบ BRN+Mara Patani ก็มีความเป็นไปได้

นายกัสตูรี มะโกตา ประธานขบวนการ PULO-Mkp

ซึ่งมีท่าทีมาแล้วจาก ประธานขบวนการ PULO-Mkp นายกัสตูรี มะโกตา เปิดเผยกับ The Reporters ไม่เชื่อว่า ร่าง TOR ที่รัฐไทยและ BRN เห็นชอบร่วมกันเมื่อวันที่ 20 ม.ค.63 ซึ่งเป็นผลมาจาก Berlin Initiative จะได้รับความเห็นชอบจากมาเลเซีย และอาจทำให้การพูดคุยกลับไปเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

“ปัญหา ปาตานี ไม่ใช่ของ BRN คนเดียว การที่ BRN โดยอานัส กล่าวว่า ต้องคุยกับ BRN ก่อน และรัฐไทยโดย พลอ.วัลลภ บอกว่าต้องคุยกับ BRN ก่อน ทาง PULO กังวลอย่างยิ่งว่าจะแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาร่วมกัน ทำแบบนี้เป็นความคิดเก่า จะแก้ปัญหาไม่ได้” นายกัสตูรี กล่าวย้ำ

นายกัสตูรี เห็นว่า รูปแบบการพูดคุยที่เหมาสม ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วม Inclusivity ที่ต้องมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งหาก BRN จะทำเรื่องนี้ได้ก็เป็นเรื่องดี

นายกัสตูรี กล่าวว่า PULO มีจุดยืนชัดที่อยากแก้ปัญหาและประกาศมาตลอดว่า “อย่าต่อรองด้วยความรุนแรง” ขบวนการพูโล ไม่ต้องการใช้ความรุนแรงมาต่อรอง

“ดังนั้นการที่รัฐไทย มาพูดคุยกับ BRN ที่ใช้กำลังหลัก แสดงว่า รัฐไทยยอมรับการต่อรองกับความรุนแรงแล้วหรือไม่ ถ้าหากคุยก็ต้องคุยทุกกลุ่ม และเป็นเรื่องที่ต้องประกาศให้ชัด เป็นเรื่องแรกบนโต๊ะเจรจา ว่ารัฐไทยจะคุยอย่างไรกับกลุ่มอื่นด้วย เพราะไม่ใช่กลุ่มอื่นจะไม่มีกำลัง แต่ไม่ได้เลือกที่จะใช้ความรุนแรง ที่พูโลเอง ไม่อยากให้เกิดเหมือนกรณีระเบิดกรุงเทพ หลัง BRN พูดคุยกับรัฐไทยเมื่อ 7 ปีก่อน” นายกัสตูรี ย้ำ

นายกัสตูรี ยังเป็นห่วงสถานการณ์การเมืองในมาเลเซีย ที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล หลังนายมหาเธร์ โมฮัมหมัดลาออก และมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี จะส่งผลต่อผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซีย ตันสรี อับดุล ราฮิม โมฮัมหมัด นอร์ จะเปลี่ยนตัวหรือไม่ด้วย

สำหรับ Berlin Process หรือ Berlin Initiative เป็นการพูดคุยระหว่าง BRN กับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของรัฐไทย ในสมัย พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ เมื่อ 3 ปีก่อน ที่กรุงเบอร์ลินและนำมาเป็นกรอบความร่วมมือที่ 2 ฝ่ายเห็นชอบร่วมกันเมื่อ 20 ม.ค.63 โดยผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียเห็นด้วย

ส่วนการพูดคุยครั้งต่อไปของรัฐไทย กับ BRN จะมีขึ้นต้นเดือนมีนาคมนี้ จึงน่าติดตามอย่างยิ่ง

The Reporters : ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

Related Posts

Send this to a friend