BUSINESS

KICK OFF จ่ายเงินส่วนต่างประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง 1.8 ล้านคน พร้อมกันทั่วประเทศวันนี้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ จ.พังงา เป็นประธานในพิธี ” KICK OFF จ่ายเงินประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา” ใน โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง (ประกันยางพารา) ระยะที่ 2 ที่ว่าการอำเภอท้ายเหมือง ให้กับตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางพาราในจังหวัดพังงา โดยมี นายบุญเติม เรณุมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นายกันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์ ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย และข้าราชการ เข้าร่วมในพิธี

เกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,834,087 ราย แบ่งเป็นเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับ กยท. จำนวน 1,142,294 ราย เกษตรกรชาวสวนยางที่แจ้งพื้นที่ปลูกกับ กยท. จำนวน 419,060 ราย และคนกรีดยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. จำนวน 272,733 ราย การจ่ายเงินส่วนต่างจะแบ่งออกเป็น 6 งวด เดือนละงวด ต.ค.- มีนาคม โดยจะเริ่มจ่ายงวดแรกในวันที่ 11 ธ.ค.นี้ พร้อมกันทั่วประเทศ

เป็นการจ่ายตรงผ่านบัญชี ธ.ก.ส. เจ้าของสวนยางและคนกรีดยางที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการ ระยะที่ 1 ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน คือขึ้นทะเบียนก่อน 12 ส.ค. 2562 จะได้รับเงินงวดแรกในวันที่ 11 ธ.ค.

ส่วนเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค. 2562 แต่ไม่เกิน 15 พ.ค. 2563 กยท. ได้ตรวจสอบและส่งข้อมูลการจ่ายเงินส่วนต่างประกันรายได้ตามโครงการฯ ให้กับ ธ.ก.ส. แล้ว เพื่อดำเนินการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรชาวสวนยางในรอบถัดไป
โดยเงื่อนไข ต้องเป็นสวนยางพาราอายุ 7 ปีขึ้นไป ที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ โดยแบ่งสัดส่วนรายได้ หากเจ้าของสวนกรีดเองจะได้รับส่วนต่างประกันรายได้ทั้งจำนวน กรณีจ้างกรีดยาง เจ้าของสวนยางจะได้ 60% และคนกรีดจะได้ 40% ของรายได้ทั้งหมด

ด้านนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ยินดีกับเกษตรกรชาวสวนยาง ที่ได้รับเงินสวนต่าง โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ ที่ราคายางพารา ดีขึ้น จนสูงกว่า ราคาประกันรายได้ แต่ถ้าหากราคาตกลงมาต่ำกว่าราคาประกัน ก็จะได้รับเงินส่วนต่างทันที ตามงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีได้กำหนดวงเงินไว้กว่า 10,000 ล้านบาท และตั้งแต่ช่วงนึ้ถึงต้นปีหน้า คาดการณ์ว่า ราคายางจะเป็นบวก ในระดับกว่า 60 บาท เนื่องจากมีความต้องการในตลาดโลกสูงขึ้น จากผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้ในสถานการณ์โควิด-19

สำหรับ วัตถุประสงค์ของโครงการเป็นการประกันความเสี่ยงให้กับเกษตรกรชาวสวนยางในช่วงที่ราคายางมีความผันผวน โครงการนี้มีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางทุกกลุ่ม กรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 10,042 ล้านบาท โดยในเดือนธันวาคม จะจ่ายพร้อมกันสองงวด คืองวดเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ถือว่าเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับเกษตรกร

โดยประกาศราคาเกณฑ์กลางงวดนี้จะได้รับการชดเชย 2 ชนิดคือยางก้อนถ้วย และน้ำยางสดเท่านั้น เพราะน้ำยางดิบได้ประโยชน์จากราคายางที่สูงทะลุราคาประกันรายได้ไปแล้ว

ทั้งนี้ การจ่ายเงินส่วนต่างโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 2 งวดแรกประจำเดือนตุลาคม 2563 จะใช้กำหนดราคายางพาราอ้างอิงย้อนหลัง 60 วัน คือตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย.– 23 พ.ย. 2563 โดยราคายางแผ่นดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 62.62 บาท/กก. ราคาน้ำยางสดอยู่ที่ 52.86 บาท/กก. ชดเชย 4.14 บาท/กก. และราคายางก้อนถ้วย (DRC 50%) อยู่ที่ 19.09 บาท/กก. ชดเชย 3.19 บาท/กก. โดยประกันรายได้ตามการผลิตแต่ละประเภท ได้แก่ ยางพาราแผ่นดิบคุณภาพดี ประกันราคา 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) ประกันราคา 57 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ประกันราคา 23 บาท/กิโลกรัม โดยจะมีการประกาศราคากลางอ้างอิงทุกเดือน

Related Posts

Send this to a friend