BUSINESS

สจล.หนุนสตาร์ทอัพ ‘มีล็อก แพลตฟอร์มโลจิสติกส์ หวังเพิ่มกำไร-ยกระดับขนส่งไทยครบวงจร

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) สนับสนุนสตาร์ทอัพไทย ‘มีล็อก’ (MELOG) พัฒนาและเปิดแพลตฟอร์มโลจิสติกส์และรถขนส่งครบวงจร โดยเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) ภายใต้การดำเนินงานของ สำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRIS) ช่วยคำนวณต้นทุน เส้นทาง ติดตามสถานะ และบริหารจัดการด้วยข้อมูลทันสมัย เตรียมนำแมชชีนเลิร์นนิ่งและ เอ.ไอ.มาใช้ในระบบ

ผศ.ดร.รัชนี กุลยานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สจล. กล่าวว่า ตลาดผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียนกำลังเติบโตสูงประมาณปีละ 15-20% ด้วยปริมาณรถบรรทุกในไทยที่จดทะเบียนในระบบมากกว่า 1.5 ล้านคัน สจล.จึงส่งเสริมสตาร์ทอัพ ‘มีล็อก’ พัฒนาแพลตฟอร์มโลจิสติกส์และรถขนส่งครบวงจร โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) ของกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED FUND) นำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ของประเทศให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

สิริพงศ์ จึงถาวรรณ ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ และ ผอ.ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท มีล็อก จำกัด (MELOG) กล่าวว่า จากการสำรวจและศึกษาข้อมูลเชิงลึกจากผู้ประกอบการขนส่งกว่า 200 ราย พบว่า ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ส่วนใหญ่มีกำไรน้อยเพียง 1–5% เท่านั้น ผู้ให้บริการขนส่งบางรายยอดขายกว่า 1,000 ล้านบาท แต่กำไรเพียง 10 ล้านบาท เพราะธุรกิจนี้แข่งขันด้านราคากันอย่างรุนแรง อีกทั้งการขยายตัวและแข่งขันของ Marketplace และ E-Commerce มีการทุ่มตลาดของผู้เล่นรายใหญ่ การจัดโปรขนส่งฟรี ทำให้ผู้เป็นเจ้าของรถขนส่งได้กำไรน้อยลง

‘มีล็อก’ จึงพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ธุรกิจบริการขนส่งยุคใหม่ แก้ปัญหา 3 ด้าน ได้แก่

1.การบริหารต้นทุนขนส่ง เพราะต้นทุนขนส่งกว่า 60% มาจากเชื้อเพลิง ยาง น้ำมันเครื่อง การซ่อมบำรุง และการเกิดอุบัติเหตุ ถ้าลดต้นทุน บาท/กิโลเมตร ได้ ผู้ประกอบการจะมีกำไรมากขึ้น

2.การติดตามสถานะ ทำให้เจ้าของไม่ต้องกังวลกับพนักงานขับรถ รถบรรทุก และสินค้าที่ต้องส่ง เทคโนโลยีโลจิสติกส์ จะช่วยติดตามสถานะและอัพเดทตลอดเวลา รวมถึงช่วยศึกษาพฤติกรรมของผู้ขับขี่รถบรรทุก

3.การจัดการที่ทันสมัย ผู้ประกอบการ 25,500 ราย มากกว่า 98% ยังไม่ได้รับรองมาตรฐาน Q-Mark รวมไปถึงการต่อยอดด้านบริการการเงิน เพื่อให้เครดิตสกอร์สำหรับผู้ขับรถมืออาชีพ นำเงินมาหมุนในธุรกิจได้

สิริพงศ์ กล่าวต่อว่า ‘มีล็อก’ ตั้งเป้าหมาย 200 ล้านบาท โดยมุ่งกลุ่มเป้าหมายลูกค้าผู้มีรถบรรทุก และผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ รวมถึงรถบรรทุกที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งกว่า 1.5 ล้านคัน ได้แก่ รถบรรทุก รถกระบะ รถตู้ การสร้างรายได้ มี 4 รูปแบบ คือ

1.กลุ่มลูกค้ารายย่อย (B2C) แบบเช่าระบบ อัตรา 500–1,200 บาท/คัน

2.กลุ่มลูกค้าองค์กร (B2B) อัตรา 50,000–70,000 บาท/องค์กร และมีการดูแลระบบรายปี

3.รายได้ตัวแทน (แบ่งจากการจับคู่งาน) ซึ่งจะมีทีมพัฒนาธุรกิจจัดหางานมาให้ และดูแลเรื่องทีมรถบรรทุกเขารับงานตามสัญญาว่าจ้างเป็นโครงการไป

4.การฝึกอบรมและให้คำปรึกษา พัฒนาระบบขนส่งและบุคลากรให้เป็นพนักงานมืออาชีพ (Smart Driver)

สิริพงศ์ กล่าวเสริมว่า ตลาดส่วนใหญ่จะพัฒนาส่วน ‘ปลายน้ำ’ เรามองกลับไปเริ่มที่ ‘ต้นน้ำ’ ติดตามและควบคุมต้นทางว่าจะจัดส่งสินค้าอย่างไรให้ปลอดภัย ต้นทุนกี่บาทต่อกิโลเมตร ทำให้ผู้ประกอบการทราบต้นทุน และกำไรที่แท้จริง เที่ยวต่อเที่ยว และต่อยอดไปยังการบริหารกระแสเงินสด นำระบบ ‘มีล็อก ติดตามรถบรรทุกในกองยานพาหนะของตน

สำหรับแผนในอนาคตนั้น มีล็อก จะนำระบบเครื่องจักรที่เรียนรู้ได้ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยให้ระบบศึกษาและวิเคราะห์พฤติกรรมผู้ขับรถบรรทุก ลักษณะเส้นทาง การวิ่ง การทำเวลา รวมไปถึง การคาดการณ์ด้านการขนส่ง ช่วยยกระดับมาตรฐานวงการโลจิสติกส์ไทยให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น

Related Posts

Send this to a friend