BUSINESS

เสนอ 5 ทางออกแก้หมูแพง ย้ำ “ตรึงราคา” ฟังดูดีแต่ไม่ใช่ทางออก

กรมการค้าภายในพบว่า ปริมาณหมูขุนลดลงเหลือ 19 ล้านตัว จากปกติ 22 ล้านตัว หลังจากผู้เลี้ยงสุกรได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนต้นทุนบริหารจัดการฟาร์มจากการควบคุมโรคระบาดและอาหารสัตว์ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงประสานกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรโดยตรง ขอให้ส่งหมูให้กรมการค้าภายในโดยตรงในราคาต้นทุน เพื่อนำไปขายหมูเนื้อแดงราคาต่ำกว่าตลาด บรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในเบื้องต้น พร้อมกันนี้ ยังขอให้ผู้เลี้ยงสุกรช่วยตรึงราคาหมูไม่ให้สูง

ด้านสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ระบุว่า “ตรึงราคา” ทำให้ภาครัฐดูเหมือนว่าได้แก้ปัญหาแล้ว แต่แท้จริง กลับเป็นการยกภาระทั้งหมดไปให้ผู้เลี้ยงหมู หากกรมการค้าภายในยืนยันเลือกแนวทางนี้ ก็ต้องมีกระบวนการเยียวยาเกษตรกรด้วย เพราะหากตรึงราคาอย่างเดียว คนที่แบกรับต้นทุนและความเสี่ยงทั้งหมดก็คือเกษตรกร

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และผู้เลี้ยงสุกร พบว่า สาเหตุที่ราคาเนื้อหมูปรับสูงขึ้น มาจากปริมาณหมูขุนในประเทศที่ลดลงกว่าปีละ 3 ล้านตัว จากการที่เกษตรกรเลิกเลี้ยง เนื่องจากราคาไม่จูงใจเพราะถูกรัฐควบคุมราคาขาย ต้นทุนค่าบริหารจัดการฟาร์มในการควบคุมโรคและต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น และปัญหาโรคระบาดหมู ที่หากฟาร์มใดติดเชื้อ เท่ากับเจ้าของฟาร์มต้องขาดทุนยกฟาร์ม

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และผู้เลี้ยงสุกร เสนอ 5 ทางออกในเรื่องนี้ ประกอบด้วย

1.ด้านการป้องกันโรค ภาครัฐต้องเร่งช่วยเหลือเกษตรกร ยกระดับความปลอดภัย การป้องกันโรค และเร่งพัฒนาวัคซีน

2.จัดหาดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งปัจจุบัน รัฐได้เริ่มมีมาตรการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งปลอดดอกเบี้ยและดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร แต่ยังต้องเร่งขยายการเข้าถึงเกษตรกรทั้งหมด

3.ต้องส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงหมูมากขึ้น และปล่อยให้เป็นไปตามหลักกลไกตลาด

4.ราคาหมู ควรเป็นไปตามกลไกราคา

5.ส่งเสริมให้ผู้บริโภค รับประทานอาหารที่มีโปรตีนชนิดอื่นควบคู่ แทนการบริโภคหมูในช่วงที่มีราคาสูง เพราะผู้บริโภคมีทางเลือก แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ไม่มีทางเลือก

นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ ระบุว่า การบริโภคเนื้อหมูของประชาชนในปัจจุบัน ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก สวนทางกับปริมาณผลผลิตที่ลดลงมากกว่า 30% ราคาจึงเป็นไปตามกลไกตลาด เกษตรกรจำต้องขอความเห็นใจจากปัญหาราคาหมูตกต่ำมานานกว่า 3 ปี ขอให้กลไกตลาดได้ทำงานอย่างเสรี เพื่อให้เกษตรกรในอาชีพนี้ได้ไปต่อ

Related Posts

Send this to a friend