BUSINESS

‘จุรินทร์’ ระดมทูตพาณิชย์ทั่วโลกปรับแผนสู้ COVID-19 ปรับวิกฤติเป็นโอกาส เน้นช่องทางออนไลน์มากขึ้น

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยระหว่างเป็นประธานการประชุมผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์ทุกประเทศ) วันนี้ (28 ก.พ.63) ว่าได้เชิญทูตพาณิชย์จากสำนักงานพาณิชย์ของไทยทั่วโลกมาประชุมร่วมกันพร้อมกับข้าราชการระดับสูงของกระทรวงรวมทั้งภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือร่วมกันถึงสถานการณ์การส่งออกในปี 2563 ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องยอมรับความจริงว่านอกจากเศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มชะลอตัวจากสงครามการค้า รวมทั้งกรณีภัยแล้งที่เกิดขึ้นในประเทศ และภาวะการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งทำให้สถานการณ์ทางการค้าระหว่างประเทศและการส่งออกมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงจากที่คาดการณ์ไว้

สำหรับตัวเลขของการส่งออกในเดือนมกราคมของปีนี้ ถือว่าอยู่ในตัวเลขที่ใช้ได้เพราะส่งออกเป็นบวก 3.35% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่เป็นบวกในรอบหกเดือนและตลาดที่เป็นบวกชัดเจนประกอบด้วยสหรัฐอเมริกาบวกร้อยละ 9.9 ตลาดจีนบวกร้อยละ 5.2 แม้จะประสบปัญหาโควิด 19ตลาดไต้หวันเป็นบวกร้อยละ 13.1 สำหรับสินค้าที่ส่งออกและเป็นบวกคือสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา บวกร้อยละ 12 ซึ่งตัวเลขเป็นบวกในรอบ 5 เดือน เป็นผลจากการที่ตนนำคณะไปลงนาม MOU และเร่งรัดการส่งมอบในปีที่ผ่านมา และ สินค้าไก่สดแช่แข็ง-ไก่สดแปรรูปเป็นบวกร้อยละ 9.5 เครื่องดื่มเป็นบวกร้อยละ 2.8 มอเตอร์ไซค์บวกร้อยละ 35.4 เฟอร์นิเจอร์บวกร้อยละ 29.9 เครื่องสำอางบวกร้อยละ 13.8 เป็นต้น 

นายจุรินทร์ กล่าวว่าเมื่อประสบกับสถานการณ์ดังกล่าวบวกกับ COVID-19 ยังไม่ชัดเจนว่าจะยืดเยื้อไปมากน้อยแค่ไหน กระทรวงพาณิชย์จำเป็นที่จะต้องมีการปรับกลยุทธ์ในเรื่องของการส่งออกให้สอดคล้องกัน เพื่อเพิ่มตัวเลขการส่งออกให้ได้ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวง กับภาคเอกชน

โดยสิ่งที่ต้องปรับคือกลยุทธ์ทางการตลาดในการส่งออกประกอบด้วยตลาดสินค้าบริการและแผนปฏิบัติการต้องมีรายละเอียดเชิงรุก กลยุทธ์เชิงรุกที่ชัดเจน สำหรับตลาดที่กำหนดไว้เดิม 18 ประเทศที่สรุปร่วมกับภาคเอกชนตั้งแต่ปลายปียังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงแต่อาจจะต้องมีการปรับเรื่องเงื่อนเวลา ขึ้นอยู่กับความพร้อมของประเทศนั้นและ COVID-19 เป็นหลักด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่

สำหรับเรื่องสินค้าและบริการในตลาดสำคัญ เช่น จีน สหรัฐอเมริกา และอินเดีย สินค้าที่ยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้ในสถานการณ์ของ COVID-19 ยังมีหลายตัวโดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ข้าว ผลไม้รวมทั้งผลไม้แปรรูป และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ เป็นต้น เช่นในตลาดจีนทูตพาณิชย์ รายงานว่าช่วงที่เกิด COVID-19 ปรากฏว่าข้าวของประเทศเราในตลาดจีนมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นและเป็นที่ต้องการ โดยเฉพาะตลาดฮ่องกงขยายตัวถึงร้อยละ 15 โดยประมาณ

ด้านอาหารสำเร็จรูปมีความต้องการสูงมากเพื่อทำอาหารรับประทานเองที่บ้านและเก็บสำรองไว้ สำหรับการส่งผลไม้ไปฮ่องกงทางเครื่องบินต้องมีการเจรจากับสายการบินให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นมอบให้อธิบดีส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเชิญสายการบินมาเจรจา โดยภาคเอกชนยังมองตลาดจีนเป็นบวกอยู่ถ้าเราสามารถที่จะทำแผนเชิงรุกก็จะช่วยให้ตลาดสินค้าสำคัญ เช่น อาหารแปรรูปสามารถเข้าไปยึดครองตลาดจีนเพิ่มเติมในระยะยาวได้

ด้านตลาดสหรัฐอเมริกานั้น ตลาดข้าวยังขยายตัวได้ดี รวมทั้งผลไม้แปรรูป เช่นสับปะรดแปรรูป รวมทั้งอาหารที่เป็นของขบเคี้ยวที่ดีต่อสุขภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่ตลาดสหรัฐโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่มีความต้องการสูงมาก ส่วนตลาดอินเดียยังมีโอกาสขยายตัวได้มาก คือ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ พืชเกษตร เช่น แป้งมัน น้ำมันปาล์ม ไม้ยางพารา ผลไม้ เครื่องประดับ เครื่องสำอาง และร้านอาหารไทยยังเป็นภาคบริการที่ยังไปขยายตัวได้มากในอินเดีย รวมทั้งตลาดตะวันออกกลาง ยูเออีเป็นตลาดเดิมที่เราต้องรักษาไว้เพื่อกระจายสินค้าไปยังกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง

สำหรับตลาดยูเออี เมื่อสัปดาห์ที่แล้วสินค้าฮาลาล ของไทยได้กลับมาให้การรับรองโดยประเทศยูเออีอีกครั้งหนึ่งหลังจากหยุดไปประมาณสองปีถือเป็นโอกาสสำคัญ โดยอาหารฮาลาลของไทยที่จะบุกไปตะวันออกกลางได้และเป็นที่ยอมรับมากขึ้น และสำนักงานทูตพาณิชย์จะประชาสัมพันธ์ให้ผู้นำเข้ารับทราบและจะรีบดำเนินการในการจับคู่ธุรกิจให้ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกได้พบกัน

ตลาดซาอุดิอาระเบียได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ประสานงานเพื่อหาลู่ทางในการที่จะกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศ จะนำภาคเอกชนเดินทางไปที่นั่นเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันต่อไปรวมทั้งบาห์เรน เป็นต้น

นายจุรินทร์ กล่าวว่า กลยุทธ์ที่จะนำมาใช้เพื่อทำมาตรการเชิงรุกในช่วงระยะเวลานี้คือใช้หลายรูปแบบผสมผสานกันทั้งในส่วนของการดำเนินการจัดงานแสดงสินค้าต่างๆเหมือนที่เคยทำเพิ่มความถี่ขึ้นหรือว่าปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากยิ่งขึ้นจากพบปะระหว่างผู้นำเข้าและผู้ส่งออกการจัดคณะไปเยี่ยมตลาดสำคัญ 18 ตลาดเบื้องต้นจะจัดลำดับความเหมาะสมใหม่ เน้นช่องทางการค้าออนไลน์มากขึ้นสำหรับบางประเทศ เช่นประเทศจีน เพื่อให้เป็นช่องทางระบายสินค้าที่สอดคล้องกับสถานการณ์เพราะคนไม่ค่อยออกจากบ้านยังสั่งสินค้าออนไลน์อยู่ และเน้นการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจของศักยภาพสินค้าไทยในตลาดอ่อนไหว เช่น ตลาดสหรัฐ ตลาดสหภาพยุโรป ในอังกฤษ เป็นต้น เพื่อให้ทราบว่าสินค้าไทยแม้ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังมีคุณภาพและไม่มีผลกระทบ

“ทูตพาณิชย์แต่ละประเทศต้องเน้นการประชาสัมพันธ์รวมทั้งเร่งเปิดห้องไทยในแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ระดับโลกเพิ่มเติมเช่น T-mall ในอาลีบาบา ห้องไทย Bigbasket.com ของอินเดียและตั้งเป้าว่าไม่กี่เดือนข้างหน้าจะเปิดห้องไทยใน Amazon.com และจะไปเปิดที่อเมซอนของญี่ปุ่นและ Presto ของมาเลเซียเป็นต้น ซึ่งจะเป็นช่องทางการจำหน่ายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด” นายจุรินทร์ กล่าว

Related Posts

Send this to a friend