ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ภาคเรียนที่ 1/2563 มีนักเรียนยากจนทั้งสิ้น 1.7 ล้านคน โดยเป็นนักเรียนยากจนพิเศษ 1 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าภาคเรียน 2/2562 กว่า 2.4 แสนคน โดยจำนวนที่เพิ่มขึ้นนี้ คาดว่าเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจ ผนวกกับสถานการณ์โควิด-19 ถึง 177,453 คน
นส.ณัฐชา ก๋องแก้ว นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) นำเสนอผลการวิเคราะห์เชิงลึกข้อมูลครัวเรือนนักเรียนยากจนพิเศษมากกว่า 600,000 ครัวเรือนพบว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ยังได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษกลุ่มใหม่ ทำให้รายได้เฉลี่ยลดลง จาก 1,205 บาท/คน/ครัวเรือน เหลือเพียง 1,077 บาท/คน/ครัวเรือน หรือเฉลี่ยเหลือเพียงวันละ 36 บาท ลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์ COVID-19 และจากการสำรวจข้อมูลครัวเรือนนักเรียนยากจน พบว่า สมาชิกในครัวเรือนอายุ 15 – 65 ปี ว่างงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 44 เป็นร้อยละ 73 ของนักเรียนยากจนพิเศษที่คัดกรองใหม่หลังสถานการณ์ COVID-19 และส่งผลให้สมาชิกครัวเรือนเฉลี่ยของครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มขึ้น จาก 4 เป็น 5 คน หรืออย่างน้อย 1 คน ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการกลับภูมิลำเนาเนื่องจากว่างงานในช่วง COVID-19